ฟันน้ำนมและฟันแท้
Badge field

ฟันน้ำนมและฟันแท้แตกต่างกันอย่างไร

Published date field

หลังจากอายุหกขวบ ฟันน้ำนมหรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นฟันชุดแรกจะหลุดไปและถูกแทนที่ด้วยฟันแท้ ตามการอ้างอิงของสมาคมทันตแพทย์อเมริกัน (ADA) ฟันน้ำนมจะเริ่มปรากฏในปากของเด็กตั้งแต่อายุหกเดือนและทยอยขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเด็กอายุได้ประมาณหกขวบ ฟันน้ำนมมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้ที่จะเคี้ยวอาหารและการพูด อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นตัวระบุตำแหน่งของฟันแท้ที่จะงอกขึ้นมาภายหลัง ความแตกต่างระหว่างฟันน้ำนมและฟันแท้มีดังนี้

องค์ประกอบ

สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (AAP) ได้กล่าวไว้ว่าเคลือบฟันของฟันน้ำนมจะบางกว่าเคลือบฟันของฟันแท้ และสีของฟันน้ำนมก็ขาวกว่าฟันแท้ หากเด็กเริ่มมีฟันน้ำนมและฟันแท้ขึ้นในปากปนกัน สังเกตได้ง่ายว่าฟันแท้จะมีสีเหลืองกว่าฟันน้ำนม เนื่องจากฟันน้ำนมมีเคลือบฟันที่บางกว่า ทำให้การบริโภคน้ำตาลหรือการได้รับฟลูออไรด์ที่ไม่เพียงพอส่งผลให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่าฟันแท้ สิ่งที่พบบ่อยที่สุดในระยะนี้เรียกว่าฟันผุจากขวดนม ดังนั้นจึงควรหมั่นพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อสร้างนิสัยการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีตั้งแต่เล็ก ๆ

โครงสร้าง

รูปร่างของฟันน้ำนมและฟันแท้ก็มีความแตกต่างกัน เมื่อฟันแท้ด้านหน้าของเด็กเริ่มขึ้น สังเกตเห็นได้ว่ามีรอยหยักเล็กๆ 3 หยัก ที่ด้านบนของซี่ฟัน รอยหยัก 3 รอยนี้ เป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้และจะค่อยๆหายไปในที่สุด หรือจะขอให้ทันตแพทย์ช่วยตะไบรอยหยักให้เรียบเสมอกันก็ได้

KidsHealth กล่าวว่า เนื่องจากฟันน้ำนมจะหลุดไปเองตามธรรมชาติ เพราะรากของฟันน้ำนมแตกต่างจากฟันแท้ โดยปกติแล้ว รากของฟันน้ำนมจะบางและสั้นกว่ารากของฟันแท้ ตามรายงานของ Triangle Pediatric Dentistry ความยาวสั้นของรากฟันทำให้ฟันหลุดได้ง่ายเพื่อเว้นเว้นช่องว่างที่เพียงพอให้กับฟันแท้ที่กำลังงอกขึ้นมาได้

จำนวนซี่ฟัน

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่งระหว่างฟันน้ำนมและฟันแท้คือจำนวนซี่ฟัน ตามที่สมาคมทันตกรรมอเมริกันได้ระบุไว้ คนทั่วไปมักมีฟันน้ำนมขึ้น 20 ซี่และฟันแท้มี 32 ซี่ที่รวมฟันคุดด้วยแล้ว 4 ซี่ สาเหตุของจำนวนฟันที่แตกต่างกันคือขนาดช่องปากของเด็กเล็กกว่าของผู้ใหญ่มาก เด็กๆ ยังไม่มีพื้นที่ช่องปากที่กว้างพอสำหรับฟันกราม 8 ถึง 12 ซี่ที่อยู่บริเวณด้านหลังของปาก แต่เมื่ออายุมากขึ้น ขากรรไกรก็จะยาวขึ้นและมีช่องว่างรองรับจำนวนฟันที่เพิ่มขึ้นได้

การดูแลฟัน

เนื่องจากฟันน้ำนมจะหลุดไปเองตามธรรมชาติ จึงมักมีความเข้าใจผิดๆ ว่าไม่จำเป็นต้องดูแลหรือป้องกันฟันน้ำนม อย่างไรก็ตาม การดูแลฟันน้ำนมอย่างทะนุถนอมนั้นมีความสำคัญพอๆ กับการดูแลฟันแท้ จากการอ้างอิงของ ADA หากฟันน้ำนมหลุดหรือถูกดึงออกก่อนเวลา หมายถึงจะขาดตัวช่วยเว้นพื้นที่และอาจทำให้ไม่เหลือที่ว่างเพียงพอสำหรับฟันแท้ที่จะขึ้นตามมา เด็กอาจต้องประสบกับปัญหาฟันเรียงตัวที่ไม่สวยงาม

การดูแลฟันน้ำนม คือการฝึกให้เด็กมีกิจวัตรการทำความสะอาดช่องปากที่ดีตั้งแต่เนิ่นๆ ใช้ยาสีฟันป้องกันฟันผุสำหรับเด็ก นอกจากนี้ ควรพาเด็กๆ เข้าพบทันตแพทย์เป็นประจำ เพราะทันตแพทย์จะช่วยสังเกตและวินิจฉัยพัฒนาการของฟันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับฟันน้ำนมได้เมื่อจำเป็น การสอนให้เด็กๆ รู้จักดูแลฟันอย่างดีตั้งแต่ยังเล็กไม่เพียงแต่จะช่วยปกป้องฟันเท่านั้น ยังเป็นการปลูกฝังความมั่นใจให้กับพวกเขาเกี่ยวกับการมีสุขภาพฟันที่ดีพร้อมโชว์รอยยิ้มที่สดใสอีกด้วย

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม