ฟันน้ำนมหลุด
Badge field

สิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับการสูญเสียฟันน้ำนมของลูกน้อย

Published date field

ช่วงเวลาที่ฟันน้ำนมหลุดถือเป็นก้าวสำคัญหนึ่งของการเจริญเติบโต โชคดีที่ฟันน้ำนมหลุดไม่ได้สร้างความเจ็บปวดให้กับเด็กๆเท่าไหร่นัก แต่ภาพที่ไม่มีฟันทำให้เด็กไม่มั่นใจไปบ้าง เรารู้กันดีว่า เมื่อฟันน้ำนมหลุดไป ควรเตรียมตัวที่จะดูแลฟันแท้ซี่ใหม่ที่จะโผล่ขึ้นมาในไม่ช้า

ฟันน้ำนมหลุด

ตามการอ้างอิงของมาโยคลินิค ฟันน้ำนมซี่แรกจะหลุดเมื่อเด็กอายุครบ 6 ขวบ ช่วงเวลาอาจแตกต่างกันไปสำหรับเด็กแต่ละคน แต่หากกรณีที่ฟันหลุดจากอุบัติเหตุ หรือ เพราะฟันผุมาก ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์ เพราะเมื่อฟันน้ำนมหลุดก่อนเวลาอันควร ฟันแท้ของเด็กจะไม่มีที่ว่างเพียงพอที่จะขึ้นมาได้อย่างเหมาะสม

โดยปรกติ ฟันจะหลุดตามลำดับตามที่ สมาคมทันตแพทย์อเมริกันระบุไว้ว่า เช่น ฟันหน้าด้านล่างทั้งสองซี่จะหลุดก่อน ฟันน้ำนมซี่แรกจะหลุดเมื่อเด็กอายุครบ 6 หรือ 7 ขวบ ส่วนฟันน้ำนมซี่สุดท้ายที่จะหลุดเป็นฟันกรามซี่ที่สองเมื่ออายุ 12 หรือ 13 ปี ฟันอาจใช้เวลา 2-3 วัน หรือ 2-3 เดือนกว่าจะหลุด นับตั้งแต่ฟันโยก ระยะเวลาของฟันหลุดขึ้นอยู่กับว่ารากฟันสูญสลายได้เร็วแค่ไหน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับว่าลูกน้อยของคุณขยับหรือโยกฟันของเขาบ่อยแค่ไหน ยิ่งเขาโยกฟันไปมามากเท่าไหร่ฟันก็จะหลุดออกเร็วเท่านั้น และฟันซี่ใหม่จะเริ่มปรากฏขึ้นในไม่ช้า อาจใช้เวลานานหลายเดือนกว่าฟันจะขึ้นมาอย่างครบสมบูรณ์ แต่ถ้าฟันแท้ยังไม่ขึ้นมาภายในหกเดือนหลังจากฟันน้ำนมหลุด ให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการประเมินว่าต้องปรึกษาศัลยแพทย์ช่องปากหรือไม่

หลังจากฟันหลุด

ให้ลูกกลั้วคอด้วยน้ำอุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีเลือดออกหลังฟันหลุด สามารถใช้ยาสีฟันที่เหมาะสมกับช่องปากของเด็กต่อไปได้ แนะนำให้ลูกอย่าแปรงฟันแรงจนเกินไปในบริเวณที่ฟันหลุดออก เพื่อหลีกเลี่ยงการระคายเคืองบริเวณนั้น หลังจากนั้น ให้เสริมสร้างกิจวัตรสุขภาพช่องปากที่ดีให้แก่เด็ก เช่น การแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง และรักษานิสัยการกินที่ดีต่อสุขภาพ เน้นย้ำเรื่องการหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม อาหารและเครื่องดื่มรสหวานที่เป็นอันตรายต่อฟัน เพราะมีผลสำคัญต่อฟันแท้ที่กำลังจะขึ้น

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม