ผู้ชายใส่ชุดสูท
Badge field

การรักษารากฟัน

Published date field

การรักษารากฟัน

ทันตแพทย์ทั่วไปสามารถรักษาฟันผุหรือการทำความสะอาดทั้งช่องปาก เช่นการขูดหินปูน แต่บางกรณีคุณควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเฉพาะทาง เช่น ทันตแพทย์จัดฟันสำหรับการจัดเรียงฟันให้ตรง ปริทันตทันตแพทย์จะดูแลเหงือกและกระดูกในช่องปาก ส่วนทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์จะตรวจวินิจฉัยและรักษาปัญหาของหรือปัญหาของเนื้อเยื่อปลายรากฟัน แม้ว่าทันตแพทย์ทั่วไปดูเหมือนจะสามารถให้การรักษาเช่นเดียวกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจะมีประสบการณ์ในสายงานของตนมากกว่าและได้ทำการศึกษาเฉพาะทางที่ลงลึกกว่าสำหรับการักษาบางอาการ

ต่อไปนี้เป็นความรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับวิทยาเอ็นโดดอนต์และเมื่อไหร่ที่คุณควรไปพบทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์

ทำความเข้าใจวิทยาเอ็นโดดอนต์

คำว่า "เอ็นโดดอนต์ (Endodont)" นั้นมาจากภาษากรีกคำว่า "เอ็นโด" แปลว่า "ภายใน" และ "โอดอนต์ (odont)" ที่แปลว่า ฟัน ดังนั้นงานของทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์จะเป็นการรักษาภายในฟันนั่นเอง

บ่อยครั้งที่เป้าหมายของทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์คือการช่วยรักษาฟันไม่ให้หลุดแทนการถอนฟันที่เป็นปัญหาหรือเสียหายทิ้ง ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์จะทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อและฟันที่ผุเพื่อปกป้องภายในฟันไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น การรักษาคลองรากฟันเป็นวิธีการรักษาที่ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์ส่วนใหญ่ใช้เพื่อรักษาฟันของผู้ป่วย

ในระหว่างการรักษาคลองรากฟัน ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าที่เนื้อเยื่อเหงือกรอบ ๆ ฟันที่มีปัญหา จากนั้นก็กำจัดเนื้อเยื่อและเนื้อในโพรงฟันที่ติดเชื้อออกจากภายในฟัน หลังจากนั้นทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์จะทำความสะอาดภายในโพรงของตัวฟันที่ยึดเนื้อในโพรงฟันและรากฟันไว้ กำจัดแบคทีเรียที่อยู่บริเวณดังกล่าวออก เมื่อส่วนที่ติดเชื้อถูกกำจัดออกไปหมดแล้วและภายในฟันแห้งสนิท ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์จะอุดโพรงดังกล่าวและรากฟันด้วยวัสดุที่เรียกว่า "กัตตาเปอร์ชา (gutta-percha)" ทั้งนี้ การอุดจะขึ้นอยู่กับว่าลักษณะภายนอกของฟันเป็นอย่างไร ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์จะทำงานร่วมกับทันตแพทย์ที่ต้องรักษาฟันของคุณให้เสร็จในขั้นต่อไปโดยการครอบฟันหรือการบูรณะฟันที่ช่วยปกป้องฟันของคุณ

นอกจากนี้ ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์ยังสามารถทำศัลยกรรมเพื่อจัดให้ฟันที่ฟื้นสภาพไม่เต็มที่หลังการรักษาคลองรากฟันให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม หรือสามารถตัดปลายรากฟัน (Apicoectomy) ได้ ซึ่งเป็นการศัลยกรรมเพื่อตัดเอาส่วนปลายของรากฟันออกไป แม้ว่างานส่วนใหญ่ที่ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์ทำมักจะเกี่ยวเนื่องกับการรักษาฟันที่ติดเชื้อและฟันผุขั้นรุนแรง แต่ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์ยังสามารถช่วยรักษาฟันที่เสียหายจากอุบัติเหตุได้ด้วย

เมื่อไหร่ที่คุณควรไปพบทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์?

หากคุณมีอาการปวดฟันหรือมีประวัติการบาดเจ็บที่ฟันที่อาจส่งผลกระทบต่อรากฟันหรือเนื้อในโพรงฟันได้ ทันตแพทย์ทั่วไปอาจส่งตัวคุณไปพบทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์ แล้วทำไมต้องพบทันตแพทย์เฉพาะทางอย่างทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์ ในเมื่อทันตแพทย์ทั่วไปก็สามารถรักษาคลองรากฟัน รวมถึงการรักษาอื่น ๆ ได้?

สิ่งหนึ่งที่ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์ได้รับการฝึกฝนความเชี่ยวชาญมาอย่างดีคือ การรักษาคลองรากฟันที่ทันตแพทย์ทั่วไปอาจไม่เชี่ยวชาญเท่า เนื่องจากทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์ไม่ได้เพียงศึกษาต่อเฉพาะทางถึง 2 ปีหลังจบการศึกษาสาขาทันตแพทยศาสตร์แล้ว แต่ยังได้ฝึกฝนมาอย่างเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้คุณรู้สึกสบายมากขึ้นในระหว่างการรักษา รวมถึงผลการรักษาที่ดีกว่าด้วย ทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์จะรักษาคลองรากฟันเฉลี่ยประมาณ 25 เคสต่อสัปดาห์ในขณะที่ทันตแพทย์ทั่วไปอาจรักษาเพียงสองหรือสามเคสต่อสัปดาห์

ดังนั้น ทันตแพทย์ทั่วไปมักจะแนะนำให้รักษารากฟันกับทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์หากพิจารณาแล้วว่าอาการของคุณจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทันตแพทย์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้ว่า ฟันที่ได้รับการรักษาและบูรณะตัวฟันแล้วจะอยู่ได้นานเท่ากับฟันปกติทั่วไป โดยขึ้นอยู่กับสุขอนามัยช่องปากของคุณว่าคุณดูแลช่องปากดีแค่ไหน คุณเองก็สามารถเลือกไปพบทันตแพทย์เอ็นโดดอนต์ได้โดยตรงหากคุณปวดฟันและสังเกตพบว่าฟันของคุณบิ่นหรือแตก หรือฟันของคุณหลุดจากเบ้าหรือบิดไปเนื่องจากโดนแรงกระแทก

ทันตแพทย์ทั่วไปจะสามารถช่วยรักษาให้ฟันและเหงือกของคุณสะอาดและมีสุขภาพดี รวมถึงสามารถให้ความรู้กับคุณได้ในกรณีที่คุณมีปัญหากับฟันของคุณ อย่างไรก็ตามคุณเองก็ควรหมั่นรักษาฟันให้สะอาดอยู่เสมอได้เองที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ที่ช่วยเสริมเคลือบฟันให้แข็งแรง รวมถึงยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยกำจัดแบคทีเรียเพื่อป้องกันการเกิดคราบพลักที่ผิวฟันและรากฟันอันนำไปสู่ปัญหาเหงือกได้ แต่หากคุณจำเป็นต้องได้รับการรักษาพิเศษอย่างการรักษาคลองรากฟันแล้วล่ะก็ คุณควรไปพบทันตแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษา

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม