ทันตแพทย์และผู้ป่วยในคลินิกทันตกรรม

การดูแลสุขภาพฟัน: มีอะไรบ้างและมีความสำคัญต่อคุณอย่างไร

ทำไมคุณถึงต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม บางทีคุณอาจต้องไปตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำ หรือมีอาการปวดฟันที่ต้องได้รับการดูแล เมื่อคุณลองมองให้กว้างขึ้นและพิจารณาสุขภาพช่องปากโดยรวม คุณจะตระหนักได้ว่าการดูแลสุขภาพฟันนั้นเป็นวงการที่กว้างมาก เกือบทุกคนมีช่องปากที่มีฟัน เหงือก และลิ้น ดังนั้นเราทุกคนจึงต้องการการดูแลช่องปาก แต่การดูแลสุขภาพฟันแท้จริงแล้วมีอะไรบ้าง และมีความสำคัญต่อคุณอย่างไร

การดูแลสุขภาพฟันมีอะไรบ้าง

สุขภาพฟันเกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยรวมในช่องปากของคุณ รวมถึงฟัน เหงือก และลิ้น และการดูแลสิ่งเหล่านี้ซึ่งล้วนมีรูปร่าง และขนาดที่แตกต่างกัน สุขภาพช่องปากของคุณอาจเป็นตัวบ่งชี้สุขภาพโดยรวมของคุณได้ดี ซึ่งการมีสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดีอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาในส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ดังนั้นคุณจึงไม่ควรละเลยสุขภาพฟันของคุณ! การดูแลสุขภาพฟันโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกอย่างชัดเจนได้ 3 ประเภท ได้แก่:

การดูแลฟันเชิงป้องกัน

การไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำคือรูปแบบการดูแลเชิงป้องกัน และส่วนสำคัญของกิจวัตรการดูแลช่องปากของคุณ ซึ่งในระหว่างการไปพบทันตแพทย์ คุณมักจะได้พบกับทั้งทันตแพทย์และทันตาภิบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณจะทำการตรวจต่างๆ เพื่อประเมินสุขภาพช่องปากของคุณ โดยมองหาปัญหาทางทันตกรรมทั่วไป เช่น สัญญาณของฟันผุ หรือปัญหาเหงือก หากไม่ได้รักษา ภาวะเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด สูญเสียฟัน เหงือกร่น หรือแม้กระทั่งสูญเสียกระดูก การไปพบทันตแพทย์เป็นประจำและสังเกตสัญญาณของปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ แสดงว่าคุณกำลังดำเนินการเชิงรุกเพื่อสุขภาพฟันของคุณ รวมถึงอาจหลีกเลี่ยงอาการเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายในอนาคตได้

ซึ่งการตรวจเป็นประจำนี้อาจรวมถึงการใช้เครื่องมือทันตกรรมสำหรับสุขอนามัยในช่องปากเพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนออกจากฟันและเหงือกของคุณด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณอาจทำการเอ็กซเรย์ เคลือบหลุมร่องฟัน ให้ฟลูออไรด์ในคลินิก มอบบทเรียนเกี่ยวกับสุขอนามัยส่วนบุคคลและโภชนาการ รวมถึงแนะนำผลิตภัณฑ์สำหรับคุณและครอบครัว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของคุณ ความถี่ในการตรวจช่องปากและการนัดหมายดูแลสุขอนามัยในช่องปากนั้นจะขึ้นอยู่กับสุขภาพฟันของคุณ แต่ตามคำแนะนำปกติคือควรทำปีละสองครั้ง

การดูแลรักษาฟันที่บูรณะ

แม้ว่าจะดูแลป้องกันอย่างถูกต้องทั้งหมดแล้ว แต่คุณก็ยังอาจต้องทำการบูรณะอยู่ดี การดูแลรักษาฟันที่บูรณะนั้นเกี่ยวข้องกับขั้นตอนใดๆ ที่ใช้แก้ไขปัญหาฟันหรือเหงือกของคุณ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรง ตั้งแต่ฟันผุขนาดเล็กไปจนถึงปริทันต์อักเสบ และการรักษาที่เกี่ยวข้องก็แตกต่างกันไปเช่นกัน โดยปัญหาทางทันตกรรมส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับฟันที่ผุ หายไป โยก หรือถูกกระแทก

คุณมักจะไปพบทันตแพทย์ก่อนเมื่อรู้สึกเจ็บปวดหรือสังเกตเห็นปัญหาในช่องปาก ซึ่งทันตแพทย์ของคุณอาจแก้ไขปัญหา หรือแนะนำให้คุณไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และนี่คือตัวอย่างของการบูรณะบางส่วน ได้แก่:

  • การอุดฟัน
  • ครอบฟันและการทำสะพานฟัน
  • รากฟัน
  • รากฟันเทียม
  • การแต่งรูปร่างของเหงือก
  • ฟันปลอมแบบเต็มปากและแบบบางส่วน

ทันตกรรมเพื่อความงาม

นอกเหนือจากสุขภาพช่องปากแล้ว การดูแลสุขภาพฟันยังช่วยให้รอยยิ้มของคุณดูดีขึ้นอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีฟันซ้อนเก ฟันบิดเอียง หรือฟันหายไป อาจมองหาความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขการเรียงตัวและการทำงานของฟัน ทันตแพทย์จัดฟันและทันตแพทย์ด้านทันตกรรมประดิษฐ์สามารถช่วยปรับปรุงรอยยิ้มของคุณผ่านตัวเลือกการรักษา เช่น เครื่องมือจัดฟัน

สำหรับผู้อื่นที่อาจตามหารอยยิ้มที่สดใส ในกรณีนี้ การดูแลสุขภาพฟันก็อาจเป็นวิธีปรับปรุงสีฟันผ่านการฟอกสีฟันซึ่งทำได้ที่คลินิกทันตกรรมของคุณหรือสำหรับใช้ที่บ้าน

การดูแลรักษาฟันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อมีอายุมากขึ้น

การดูแลสุขภาพฟันมีความสำคัญต่อคุณอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับอายุของคุณเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อร่างกายเปลี่ยน รอยยิ้มก็เปลี่ยนเช่นกัน ตั้งแต่การงอกของฟันซี่แรกไปจนถึงฮอร์โมนตามอายุ ความต้องการในการดูแลรักษาฟันของเรานั้นจะเปลี่ยนแปลงไปทุกช่วงชีวิต มาดูขั้นตอนการดูแลรักษาฟันเบื้องต้น เพื่อให้คุณมีความมั่นใจในการดูแลตัวเองหรือบุตรหลานมากขึ้น

ตั้งแต่เกิดจนถึงชั้นอนุบาล

คุณสามารถดูแลสุขภาพช่องปากของลูกน้อยได้ด้วยการเช็ดเหงือกหลังให้อาหารด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำหมาดๆ ก่อนที่จะเห็นฟันซี่แรก เมื่อมีอายุราว 6 เดือน ฟันซี่แรกก็จะปรากฏขึ้น แต่ฟันเหล่านั้นกลับผุได้ง่าย ดังนั้นการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ

แล้วคุณก็จะสามารถทำความสะอาดฟันน้ำนมของทารกได้ด้วยแปรงสีฟันขนาดสำหรับทารกและยาสีฟันที่ปราศจากฟลูออไรด์ หลังอายุ 2 ขวบ คุณจะสามารถเริ่มใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ขนาดเท่าเมล็ดถั่วร่วมได้บ้าง รวมถึงยังสามารถลองใช้ไหมขัดฟันบริเวณซอกฟันของบุตรหลานเมื่อคุณสังเกตเห็นฟันสองซี่หรือมากกว่านั้นสัมผัสกัน หากพวกเขายอมให้คุณทำแล้วล่ะก็!

กำหนดตารางนัดพบทันตแพทย์ครั้งแรกให้บุตรหลานของคุณหลังจากฟันซี่แรกปรากฏขึ้นหรือภายในวันเกิดปีแรก ซึ่งการนัดหมายนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการปรึกษาหารือเกี่ยวกับคำแนะนำเรื่องฟลูออไรด์ การงอกของฟัน การดูดนิ้ว และการดูแลที่บ้านกับผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณ

ช่วงระดับประถมศึกษา

เด็กๆ จะเริ่มสูญเสียฟันน้ำนมเมื่อฟันแท้เริ่มงอกตอนอายุ 5 หรือ 6 ขวบ และฟันแท้ของพวกเขามักจะขึ้นครบเมื่อมีอายุ 12 หรือ 13 ปี แม้ว่าเด็กทุกคนจะมีความแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการแปรงฟันด้วยตัวเองจนกว่าจะมีอายุ 8 ถึง 10 ขวบ คุณสามารถให้ความสำคัญกับการช่วยพวกเขาด้วยกิจวัตรการดูแลสุขภาพช่องปากในแต่ละวัน

บุตรหลานของคุณควรพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจสุขภาพฟันและดูแลสุขอนามัยในช่องปาก ในช่วงนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจะตรวจสอบการเรียงตัวของฟันบุตรหลานคุณ รวมถึงอาจแนะนำการเคลือบหลุมร่องฟันและการรักษาด้วยฟลูออไรด์ในคลินิกเพื่อป้องกันฟันผุตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากนี้ ยังอาจสอนเทคนิคพื้นฐานในการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอีกด้วย

ช่วงวิทยาลัยและหลังจากนั้น

หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย บุตรหลานของคุณจะได้ออกไปเผชิญโลกกว้างพร้อมกับฟันที่แข็งแรงและการดูแลสุขอนามัยช่องปากที่เหมาะสมจากการทำงานเป็นทีมกับคุณ ก่อนหน้านั้น ให้กำหนดตารางนัดหมายตรวจสุขภาพฟันและสุขอนามัยในช่องปากเป็นประจำเพื่อการประเมินอย่างละเอียด ในช่วงนี้ ฟันคุดจะเริ่มงอก และหากฟันเหล่านี้เริ่มปรากฏให้เห็น ทันตแพทย์ก็อาจแนะนำให้ถอนออกได้

วัยผู้ใหญ่

แม้ว่าช่วงอายุที่เป็นฟันผุได้ง่ายอาจจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่การไปพบทันตแพทย์และการดูแลเชิงป้องกันเป็นประจำก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญของสุขภาพช่องปากคุณ เมื่ออายุมากขึ้น คุณก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นปริทันต์และมะเร็งในช่องปากมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ หากคุณเคยทำงานบูรณะมาก่อน การตรวจเป็นประจำจะช่วยให้แน่ใจว่าการอุดฟัน ครอบฟัน รากฟันเทียม และงานอื่นๆ ของคุณยังคงทำงานได้ดี

ผู้สูงอายุ

ฟันและเหงือกที่ใช้งานมาหลายสิบปีของคุณจะเสื่อมสภาพและมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางทันตกรรมมากขึ้น ตั้งแต่ปากแห้งไปจนถึงการสึกกร่อนของฟัน ผู้สูงอายุนั้นมีความต้องการในการดูแลช่องปากที่พิเศษ แม้ว่าคุณจะต้องใส่ฟันปลอมแบบเต็มปากหรือบางส่วนอยู่แล้ว แต่คุณก็ควรให้ความสำคัญกับสุขภาพช่องปากของคุณโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมในการดูแลฟันปลอม และไปพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อหาสัญญาณของการสึกหรือความเสียหาย

ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่หรือมีความต้องการด้านสุขภาพช่องปากของคุณอย่างไร การรักษาเชิงป้องกันก็คือรากฐานของการดูแลช่องปากของคุณ นอกเหนือจากการรักษากิจวัตรการดูแลช่องปากที่บ้านอย่างจริงจังแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถทำได้คือกำหนดตารางนัดตรวจสุขภาพฟันและนัดดูแลสุขอนามัยในช่องปากเป็นประจำ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณสามารถตรวจสอบสุขภาพช่องปากของคุณอย่างใกล้ชิด และดูแลปัญหาต่างๆ ก่อนที่จะทวีความรุนแรงขึ้นได้ หากเลยการนัดหมายตรวจช่องปากแล้ว ก็ให้หาเรื่องที่ต้องการจะพบทันตแพทย์ทั่วไป และทำการนัดหมายเลยวันนี้

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม