การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันคืออะไร
การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน คือการใช้วัสดุอุดฟันเรซิน (พลาสติก) ที่มีสีเหมือนฟัน ซ่อมแซมฟันที่ผุ บิ่น แตก หรือเปลี่ยนสี การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันแตกต่างจากเคลือบฟันเทียมตรงที่เคลือบฟันเทียมนั้น ต้องผลิตในห้องปฏิบัติการทดลองโดยใช้แบบพิมพ์ฟันของผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อให้ครอบไปบนฟันได้พอดี การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันสามารถทำเสร็จได้ภายในครั้งเดียว เราเรียกการรักษาแบบนี้ว่าการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันเพราะต้องใช้วัสดุยึดติดเข้ากับฟัน
มีประโยชน์อย่างไร
การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันเป็นการรักษาฟันเพื่อความสวยงามแบบหนึ่งที่ทำได้ง่ายและราคาย่อมเยาที่สุด สารประกอบเรซินที่ใช้ในการอุดฟันสามารถปรับรูปร่างและขัดเงาให้เหมือนกับฟันซี่ที่อยู่ใกล้กันได้ ส่วนใหญ่แล้ว การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันมักใช้เป็นการรักษาเพื่อความสวยงาม โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงรูปลักษณ์ของฟันที่เปลี่ยนสีหรือบิ่นได้ดูดีขึ้น นอกจากนี้ยังใช้อุดช่องว่างระหว่างฟัน ทำให้ฟันดูยาวขึ้นหรือจะใช้เปลี่ยนรูปร่างหรือสีของฟันก็ได้
ในบางครั้งการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันจะใช้แทน การอุดฟันด้วย อะมัลกัม หรือเพื่อปกป้องราก ฟันที่โผล่พ้นเหงือกเนื่องจากภาวะเหงือกร่น
การเตรียมตัว ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใด ๆ การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันมักจะไม่ต้องใช้ยาชา ยกเว้นกรณีอุดฟันผุ
ขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างไร
ทันตแพทย์จะเลือกสารประกอบเรซินที่มีสีใกล้เคียงกับสีฟันของคุณมากที่สุดโดยใช้ชุดเลือกสีเป็นแนวทาง
หลังจากเลือกสีได้แล้ว ทันตแพทย์จะกัดหรือขัดผิวของฟันออกเล็กน้อยเพื่อให้ผิวฟันหยาบขึ้น จากนั้นจึงเคลือบผิวฟันบาง ๆ ด้วยน้ำยาปรับสภาพฟันซึ่งจะช่วยให้วัสดุอุดฟันติดแน่นหนา
เมื่อเตรียมฟันเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะทาเรซินสีเหมือนฟันที่มีลักษณะเหมือนปูนลงไปบนผิวฟัน จากนั้นจึงปรับรูปร่างและปรับผิวเรซินให้เรียบเนียน จนกระทั่งได้รูปร่างที่ต้องการ แล้วฉายแสงอัลตราไวโอเล็ตหรือเลเซอร์เพื่อทำให้แข็ง
หลังจากวัสดุอุดฟันแข็งดีแล้ว ทันตแพทย์จะตกแต่งรูปร่างและขัดเงาต่อไป จนกระทั่งผิวของฟันเงาเท่ากับผิวฟันส่วนที่เหลือ
การอุดฟันแบบนี้ปกติแล้วจะใช้เวลา 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แต่หากคุณต้องอุดฟันมากกว่าหนึ่งซี่ คุณอาจจะต้องเผื่อเวลาไว้นานกว่านี้หรือต้องนัดพบทันตแพทย์อีกหลายครั้ง
ชา กาแฟ และการสูบบุหรี่ ตลอดจนสารอย่างอื่นอาจทำให้เกิดคราบบนเรซินได้ เพื่อป้องกันและลดการเกิดคราบให้น้อยที่่สุด คุณไม่ควรรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังอุดฟัน นอกจากนี้ ควรแปรงฟันบ่อย ๆ และไปพบนักทันตสุขอนามัยเพื่อทำความสะอาดฟันทุก ๆ เป็นประจำ
ความเสี่ยง
สารประกอบเรซินที่ใช้อุดฟันไม่แข็งแรงเหมือนฟันจริง ดังนั้น หากคุณกัดเล็บ เคี้ยวน้ำแข็งหรือปากกา ก็อาจทำให้วัสดุอุดฟันแตกหักได้ ตามปกติแล้ว วัสดุอุดฟันจะอยู่ได้นานหลายปี หลังจากนั้นคุณจะต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อบูรณะฟันใหม่ แต่วัสดุอุดฟันของคุณจะอยู่ได้นานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณวัสดุอุดฟันที่ทันตแพทย์ใช้และนิสัยในการดูแลช่องปากของคุณด้วย
ต้องไปพบทันตแพทย์เมื่อไหร่
หลังจากอุดฟันมาระยะหนึ่ง หากคุณสังเกตเห็นว่าฟันที่อุดมานั้นมีขอบแหลมคม รู้สึกว่าฟันแปลก ๆ หรือ "ไม่อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง" ตอนกัดฟัน ให้ติดต่อทันตแพทย์
ติดต่อทันตแพทย์ได้ทุกเวลาหากวัสดุอุดฟันแตกหรือหลุดออกมา
2/28/2004