ฟันฟลอมชั่วคราวคืออะไร? - คอลเกต

ฟันปลอมชั่วคราวคืออะไร

บางทีคุณอาจจำเป็นต้องถอนฟันเนื่องจากปัญหาเหงือกขั้นร้ายแรงหรือได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้า แต่ยังต้องการรอยยิ้มที่ดูสวยงามยิ่งขึ้น ซึ่งมีหลายเหตุผลที่ฟันปลอมอาจเหมาะสำหรับคุณ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อช่วยรักษาฟันธรรมชาติของคุณให้อยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่บางครั้งการแทนที่พวกมันก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด รู้หรือไม่ว่าหลังถอนฟันแล้ว ปากของคุณยังไม่พร้อมรับการสวมใส่ฟันปลอมในทันที และนั่นก็เป็นที่มาของฟันปลอมชั่วคราว มาดูวิธีการติดฟันปลอม การทำความสะอาด รวมถึงข้อดีและข้อเสียกัน

คุณทราบไหมว่าตามการอ้างอิงจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร้อยละ 8.7 และ 31 ของประชากรในกลุ่มอายุ 60-74 ปี และ 80-85 ปี ในประเทศไทยไม่มีฟันทั้งปาก และ 90% ของคนกลุ่มนี้ใช้ฟันปลอม! นั่นเป็นสถิติที่น่าจะช่วยให้คุณคลายกังวลได้บ้าง การไม่มีฟัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ภาวะไร้ฟัน (edentulism)ถือเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปกว่าที่คนส่วนใหญ่จะนึกถึง

บางทีคุณอาจจะคุ้นเคยกับฟันปลอมไปแล้ว แต่คุณเพิ่งทราบจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณว่า ช่องปากต้องการระยะเวลาในการปรับตัวก่อนที่จะติดฟันปลอมถาวร นี่อาจเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด และคุณอาจสงสัยว่า "อะไรคือฟันปลอมชั่วคราว" ฟันปลอมชั่วคราว หรือเรียกอีกอย่างว่า ฟันปลอมแบบทันที เป็นชุดฟันปลอมชั่วคราวที่ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจะติดเข้าไปในปากของคุณทันทีหลังจากถอนฟันธรรมชาติออก

การติดฟันปลอมชั่วคราว

ในการนัดหมายก่อนการถอนฟัน ทันตแพทย์จะทำการเตรียมการที่จำเป็นสำหรับฟันปลอมชั่วคราวของคุณ ซึ่งรวมถึงการบันทึกการสบฟัน สังเกตสี ขนาดและรูปร่างของฟันของคุณ ตลอดจนการวัดขนาดขากรรไกรบนและขากรรไกรล่าง ฟันปลอมชั่วคราวจะถูกทำให้เสร็จก่อนการนัดหมายถอนฟัน ดังนั้นจึงสามารถนำมาติดเข้าไปในช่องปากของคุณได้ทันทีหลังถอนฟัน

รู้ไว้ว่า เนื่องจากช่องปากและเหงือกของคุณยังไม่มีโอกาสสมานตัวเอง ขั้นตอนนี้ จึงอาจไม่ใช่ขั้นตอนที่นัดหมายเพียงครั้งเดียว รวมถึงฟันปลอมชั่วคราวมักจะต้องทำการปรับใหม่ในช่วงสัปดาห์และเดือนถัดไป

ทำฟันปลอมชั่วคราวอย่างไร

รู้หรือไม่ ฟันปลอมทั้งแบบทันทีและแบบถาวรนั้นต่างก็ถูกสั่งทำพิเศษในห้องปฏิบัติการทันตกรรมจากการพิมพ์ปากของคุณ แต่การวัดขนาดฟันปลอมชั่วคราวจะต้องคำนึงถึงรูปร่างฟันธรรมชาติที่คุณมีอยู่ด้วย นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมยังจะประเมินรูปทรงริมฝีปาก เหงือก และใบหน้าของคุณเพื่อทำออกมาให้พอดี ฟันปลอมชั่วคราวนั้นทำมาจากวัสดุหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นเรซิน

การทำความสะอาดและการดูแล

ฟันปลอมชั่วคราวนั้นสามารถถอดได้ ทำให้อาจมีเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์สะสมและทิ้งคราบไว้ได้ ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางทันตกรรมและการดูแลรักษาประจำวัน โดยแนะนำให้แปรงฟันปลอมวันละครั้งและแช่ทิ้งไว้ค้างคืน มาดูวิธีการทำความสะอาดฟันปลอมชั่วคราวกัน:

  1. ถือไว้เหนือผ้าเช็ดตัวหรืออ่างที่เติมน้ำไว้ครึ่งหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการแตกหักในกรณีที่ทำหล่น
  2. ใช้แปรงสีฟันขนอ่อน น้ำยาทำความสะอาดฟันปลอมแบบไร้สารกัดกร่อน และน้ำ
  3. โปรดจำไว้ว่ายาสีฟันอาจทำให้ฟันปลอมเป็นรอยได้ ดังนั้นอย่านำไปใช้ทำความสะอาด หลีกเลี่ยงน้ำร้อนและน้ำยาที่มีสารฟอกสี เนื่องจากอาจทำให้ฟันปลอมเสียหายได้

ขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมถึงวิธีการแช่ฟันปลอมค้างคืน แล้วอย่าลืมล้างฟันปลอมให้สะอาดก่อนใส่กลับเข้าปากด้วย รวมถึงควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีด้วยการทำความสะอาดปาก ลิ้น และเหงือกในตอนเช้าก่อนใส่ฟันปลอม เพื่อรอยยิ้มที่สดใสต้อนรับวันใหม่!

ขั้นตอนสุดท้ายของฟันปลอมชั่วคราว

ฟันปลอมชั่วคราวสามารถช่วยคุณให้พ้นจากความกังวลด้านความงามและความไม่สะดวกในการใช้ชีวิตโดยปราศจากฟัน แต่ก็ยังต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยสักระยะ หลังการถอนฟัน กระดูกภายในปากของคุณจะเปลี่ยนรูปร่างตามธรรมชาติเมื่อช่องปากของคุณปรับเปลี่ยน ซึ่งหมายความว่าฟันปลอมชั่วคราวอาจจะหลวมและทำให้รู้สึกอึดอัดได้

หากฟันปลอมหลวม ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมอาจแนะนำให้ใช้กาวติดฟันเป็นวิธีการแก้ปัญหาชั่วคราว ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คุณอาจต้องพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมหลายครั้งก่อนที่จะได้รับฟันปลอมถาวรที่เข้ารูปปากพอดี

การสูญเสียฟันธรรมชาติถือเป็นประสบการณ์ที่ละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องปกติที่จะสงสัยเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของฟันใหม่และกระบวนการที่จะได้มานั้นเป็นอย่างไร! หลังการถอนฟัน การใส่ฟันปลอมชั่วคราวจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและช่วยให้ปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตด้วยฟันปลอมได้ง่ายขึ้น ด้วยการเติมเต็มช่องว่างจนกว่าฟันปลอมถาวรของคุณจะพร้อม ฟันปลอมแบบทันทีนี้จะช่วยทำให้มั่นใจว่าคุณไม่มีทางออกไปข้างนอกโดยปราศจากฟัน ไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฟันปลอมและตัวเลือกต่างๆ ที่คุณมี

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม