กลิ่นปากบอกโรคอะไร
Badge field
Published date field

ความเชื่อมโยงระหว่าง
ปริทันต์อักเสบและกลิ่นปาก

คุณเคยได้กลิ่นปากของเพื่อนขณะสนทนากับพวกเขาหรือไม่? กลิ่นปากที่ว่านี้อาจไม่ได้มาจากการกินกระเทียมที่มากเกินไปในมื้อกลางวัน แต่อาจเป็นผลมาจากสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น เพราะเหงือกที่มีปัญหาเป็นสาเหตุของกลิ่นปากได้ และนี่คือความเกี่ยวเนื่องของปัญหาเหงือกอักเสบและกลิ่นปาก รวมถึงวิธีป้องกันของทั้งสองปัญหา

อาการเหงือกอักเสบ

จากข้อมูลของคลีฟแลนด์คลินิค พบว่าปัญหาเหงือกอักเสบมักเกิดจากสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดี

พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปและพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรนัดหมายกับทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเหงือกของคุณ:

  • เหงือกมีเลือดออก บวม หรือระบม
  • มีอาการเสียวฟันหรือมีช่องว่างระหว่างฟัน
  • เหงือกร่นหรือเห็นตัวฟันยาวกว่าปรกติ
  • รู้สึกปวดเมื่อเคี้ยวอาหารมีฟันไม่ตรงแนว
  • มีกลิ่นปาก

ในระยะแรกของอาการเหงือกอักเสบ สามารถฟื้นสภาพให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่หากปล่อยให้เหงือกอักเสบรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถึงขั้นเป็นปริทันต์อักเสบที่ทำลายเนื้อเยื่อบริเวณเหงือกแล้ว จะไม่สามารถฟื้นสภาพให้กลับมาเป็นปกติได้

ความเชื่อมโยงระหว่างปริทันต์อักเสบและกลิ่นปาก

กลิ่นปากหรือที่เรียกกันทางการแพทย์ว่า ภาวะปากเหม็น เกิดจากแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก ตามที่รัฐบาลรัฐวิกตอเรียได้อธิบายไว้ แบคทีเรียเหล่านี้จะทำการสลายโปรตีนและปล่อยสารระเหยกำมะถัน (VSCs) ซึ่งมีกลิ่นเหม็น ปัญหาทางทันตกรรมต่างๆ เช่น เหงือกอักเสบหรือการติดเชื้อ ก่อให้เกิดกลิ่นปากหรือภาวะที่รุนแรงอื่นๆ ได้

จากกรณีศึกษาในวารสาร Journal of International Society of Preventive & Community Dentistry พบว่าคนส่วนใหญ่ที่มีกลิ่นปากมักมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับเหงือกอักเสบ ปริทันต์อักเสบหรือแบคทีเรียที่เคลือบอยู่บริเวณลิ้น

ในกรณีศึกษา พบว่า 80% ของผู้ป่วยที่มีอาการเหงือกอักเสบในระดับหนึ่งจะมีปัญหากลิ่นปากด้วย

จากบทวิเคราะห์ในวารสารวิทยาศาสตร์ธรรมชาติชีววิทยาและการแพทย์ (JNSBM) อธิบายว่า เนื้อเยื่อที่อักเสบในผู้ป่วยที่มีอาการเหงือกอักเสบคือต้นกำเนิดของสารระเหยกำมะถันที่เป็นสาเหตุของกลิ่นเหม็นในช่องปาก หากผู้ป่วยมีอาการปริทันต์อักเสบเนื่องจากมีคราบจุลินทรีย์สะสมมาก ก็ยิ่งส่งผลต่อกลิ่นปากที่รุนแรงมากขึ้น

เมื่อสุขภาพของเหงือกมีผลต่อกลิ่นลมหายใจของแต่ละบุคคล ในทางกลับกัน กลิ่นปากก็มีผลต่อความเสี่ยงที่จะมีภาวะปริทันต์อักเสบได้เช่นกัน โดยบทวิเคราะห์ JNSBM ระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าแบคทีเรียที่ผลิตสารระเหยกำมะถันสามารถแพร่กระจายไปสู่เนื้อเยื่อของเหงือกได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านทันตกรรมถึงความเชื่อมโยงนี้อย่างแน่ชัด

การรักษาอาการเหงือกอักเสบและกลิ่นปาก

ปริทันต์อักเสบเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม ตามที่คลีฟแลนด์คลินิกระบุไว้ การรักษาที่จำเป็นคือการทำความสะอาดทางทันตกรรม หรือที่เรียกว่าการขูดหินปูน และการเกลารากฟัน ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจะกำจัดแบคทีเรียทั้งหมดที่อยู่ด้านบนและด้านล่างของเหงือก ทันตแพทย์อาจสั่งจ่ายยากำจัดเชื้อจุลินทรีย์ไปใช้ต่อที่บ้านเพื่อควบคุมปริมาณแบคทีเรียในช่องปาก ในกรณีที่อาการปริทันต์อักเสบนั้นรุนแรงมากขึ้น อาจต้องทำการผ่าตัดเหงือกหรือปลูกถ่ายกระดูกหรือเนื้อเยื่อเพื่อทดแทนโครงสร้างช่องปากที่สูญเสียไปจากภาวะปริทันต์อักเสบ

รัฐบาลรัฐวิกตอเรียได้อธิบายว่าการรักษากลิ่นปากนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยถึงสาเหตุที่แท้จริง ดังนั้นควรปรึกษาทันตแพทย์เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

ใส่ใจเรื่องการดูแลช่องปากเป็นประจำ อาจรวมถึงการใช้ที่ขูดลิ้นหรือน้ำยาบ้วนปากร่วมด้วย

จะดีแค่ไหน หากเพียงแค่การดูแลช่องปากให้ดีอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงของอาการเหงือกอักเสบและการมีกลิ่นปากได้

ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณได้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้เพื่อการดูแลช่องปากที่ดีและเหมาะสมที่สุดของคุณ:

  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้งด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์
  • หมั่นใช้ไหมขัดฟันวันละครั้ง
  • หมั่นเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำและสอบถามเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมที่จะช่วยควบคุมแบคทีเรียที่สะสมในช่องปาก เช่น น้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น

การมีสุขอนามัยในช่องปากที่ดี นอกจากจะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในเรื่องของลมหายใจแล้วส่งผลถึงสุขภาพช่องปากโดยรวมอีกด้วย

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม