เพื่อน ๆ กำลังดูโทรศัพท์อยู่
Badge field

ฟันห่าง

Published date field

ฟันห่างคืออะไร?

ฟันห่างคือการมีช่องว่างระหว่างฟัน ส่วนใหญ่มักเกิดบริเวณฟันหน้าสองซี่ด้านบน แต่ฟันห่างก็สามารถเกิดขึ้นได้กับฟันซี่อื่นๆ เช่นกัน

สาเหตุของฟันห่างเกิดจากขนาดของกระดูกขากรรไกรและขนาดของฟันไม่พอดีกัน จึงทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันหรือเกิดฟันซ้อนกันขึ้นได้ ถ้าฟันของคุณมีขนาดเล็กกว่ากระดูกขากรรไกรก็จะทำให้คุณมีช่องระหว่างฟันมากกว่าปกติ แต่ถ้าฟันของคุณมีขนาดใหญ่กว่ากระดูกขากรรไกรก็จะเกิดฟันซ้อนกัน

ช่องว่างระหว่างฟันนี้อาจเพิ่มขึ้นได้ด้วยหลายสาเหตุ ดังนี้

* เกิดจากการที่ฟันหลุดหรือฟันมีขนาดเล็กกว่าปกติ กรณีนี้ส่วนใหญ่เกิดกับฟันตัดซี่ข้าง (ฟันบน 2 ซี่ที่อยู่ข้าง ๆ ฟันหน้า) ทำให้ฟันหน้าด้านบนที่อยู่ตรงกลางมีระยะห่างกัน กรณีเช่นนี้จะเรียกว่า ฟันหน้าห่าง

* นอกจากนี้ ฟันห่างยังเกิดจากการที่เรามีเอ็นยึดริมฝีปากที่มีขนาดใหญ่ เอ็นยึดริมฝีปากเป็นเนื้อเยื่อที่ปกติแล้วจะขยายออกมาจากด้านในของริมฝีปากด้านบนและไปทางเหงือก โดยจะอยู่เหนือฟันหน้าด้านบนทั้ง 2 ซี่ ในกรณีที่เอ็นยึดริมฝีปากขยายตัวเพิ่มขึ้นและงอกผ่านช่องระหว่างฟันหน้าทั้งสองซี่ เอ็นยึดริมฝีปากก็จะไปกีดขวางไม่ให้ฟันหน้าเรียงชิดกันได้เช่นกัน

* พฤติกรรมของเราทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันขึ้นได้เช่นกัน การดูดนิ้วมือมักดันให้ฟันหน้ายื่นออกมาและทำให้ฟันห่างมากขึ้นได้

* การกลืนที่ไม่ถูกต้อง ลิ้นของคนส่วนใหญ่จะดันติดกับเพดานปากเมื่อเรากลืนอาหาร แต่บางคนกลืนแตกต่างออกไปที่เรียกว่า "การกลืนแบบลิ้นดุนฟัน" ซึ่งเมื่อกลืนอาหารลิ้นจะดันไปที่ฟันหน้า นานเข้าพฤติกรรมนี้จะทำให้ฟันหน้ายื่นออกมาและทำให้ฟันห่างมากขึ้น

* โรคปริทันต์ (โรคเหงือก) ที่ทำให้เกิดการสูญเสียกระดูกที่ช่วยพยุงฟัน ผู้ป่วยที่สูญเสียกระดูกไปมากฟันจะโคลงจนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันได้

* เด็ก ๆ อาจมีฟันห่างชั่วคราวได้ขณะที่ฟันน้ำนมกำลังค่อย ๆ หลุดไป ช่องว่างเหล่านี้ส่วนใหญ่จะลดลงเมื่อฟันแท้งอกขึ้นมาและโตเต็มที่

อาการ

ฟันห่างที่เกิดจากฟันและกระดูกขากรรไกรที่ไม่สมดุลกันนั้นไม่มีอาการที่น่าเป็นห่วงใดแต่อย่างใด แต่ในกรณีที่มีปัญหาลิ้นดุนฟันขณะกลืนหรือมีปัญหาโรคเหงือกอาจทำให้ฟันมีระยะห่างยิ่งห่างมากขึ้น ฟันอาจหลุดง่ายขึ้น รวมถึงอาจมีความรู้สึกไม่สบายช่องปากหรือมีอาการปวดฟันเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะเมื่อกัดหรือเคี้ยวอาหาร

การวินิจฉัย

คุณอาจสังเกตเห็นช่องฟันที่ห่างนี้ได้เองเมื่อแปรงฟันหรือขัดฟัน ทันตแพทย์จะเป็นผู้ที่ระบุได้ชัดเจนว่าคุณมีปัญหาฟันห่างแค่ไหน และเกิดจากสาเหตุใด

ฟันจะห่างนานแค่ไหน?

หากฟันห่างเกิดจากขนาดของฟันแท้กับขนาดขากรรไกรไม่สมดุลกัน ฟันที่ห่างจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต

แต่ถ้าฟันห่างเกิดจากปัญหาลิ้นดุนฟันขณะกลืนอาหารหรือเกิดจากโรคเหงือก เมื่อเวลาผ่านไปฟันจะยิ่งห่างมากขึ้น

การป้องกัน

จริง ๆ แล้วเราไม่สามารถป้องกันฟันห่างได้ทุกประเภท เช่น ถ้าฟันคุณห่างเนื่องจากฟันหลุด ฟันไม่ขึ้น หรือขนาดของฟันและขนาดของขากรรไกรไม่สมดุลกัน สาเหตุนี้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่รักษาได้ด้วยการจัดฟัน

ส่วนฟันที่ห่างเนื่องจากเหงือกไม่แข็งแรง คุณสามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขภาพเหงือกของคุณให้ดีอยู่เสมอโดยการแปรงฟันอย่างถูกวิธีและขัดฟันด้วยไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อป้องกันการสูญเสียกระดูกที่อยู่ใต้เหงือกหรือโรคปริทันต์ได้

สำหรับผู้ที่มีปัญหาลิ้นดุนฟันเมื่อกลืนนั้น สามารถป้องกันหรือแก้ไขได้โดยการฝึกกลืนอาหารอย่างถูกต้องโดยการดันลิ้นขึ้นไปบนเพดานปากแทนการดันไปที่ฟันหน้า การหยุดพฤติกรรมดุนฟัน (ต้องอาศัยการฝึก) ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ฟันห่างได้

การรักษา

ฟันห่างอาจเป็นส่วนหนึ่งกับปัญหาในช่องปากอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันและต้องได้รับการรักษาไปพร้อม ๆ กัน การเข้าพบทันตแพทย์ก็จะทราบว่าคุณต้องดำเนินการรักษาส่วนไหนบ้างเพื่อให้ฟันของคุณสวยงามและแข็งแรงทั่วทั้งช่องปาก

คนส่วนใหญ่เลือกใช้วิธีการจัดฟันเพื่อให้ฟันเรียงตัวกันสวยงาม แต่บางครั้งการจัดฟันไม่ได้เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาฟันห่างเพราะการจัดฟันต้องจัดทั้งแถวทั้งฟันบนฟันล่างเพราะการเคลื่อนย้ายฟันซี่หนึ่งซี่จะมีผลต่อฟันซี่อื่น ๆ ด้วย

หากฟันตัดซี่หน้า (ฟันสองซี่ที่อยู่ข้างฟันหน้า) ของคุณมีขนาดเล็กเกินไป ทันตแพทย์อาจแนะนำให้คุณขยายพื้นที่ให้ฟันสองซี่นี้ด้วยการครอบฟัน การเคลือบฟันเทียมวีเนียร์ หรือการยึดฟัน

แต่ถ้าฟันห่างเกิดจากฟันหลุด คุณอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีที่เฉพาะทางมากกว่า เช่น อาจต้องใส่ฟันปลอม ทำสะพานฟัน หรือฝังรากฟันเทียม

แล้วถ้าเอ็นยึดริมฝีปากมีขนาดใหญ่จนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างซอกฟัน ทันตแพทย์จะช่วยลดระยะห่างนี้ได้ด้วยการศัลยกรรมที่เรียกว่า "การตัดแต่งเอ็นยึดริมฝีปาก (Frenectomy)" สำหรับการรักษาในเด็กเล็ก เพราะฟันอาจจะชิดกันได้เองเมื่อโตขึ้น แต่หากรักษาในเด็กโตหรือวัยผู้ใหญ่ ทันตแพทย์อาจต้องใช้การจัดฟันเข้าช่วยเพื่อให้ฟันหน้าชิดกัน

ส่วนฟันห่างที่เกิดจากโรคปริทันต์ คุณควรไปพบทันตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านปริทันต์เพื่อรักษาโรคเหงือก และเมื่อเหงือกกลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง ส่วนใหญ่แล้วจะรักษาฟันห่างต่อดโดยวิธีจัดฟัน นอกจากนี้ อาจใช้เฝือกสบฟันเพื่อยึดฟันให้มาติดกันและช่วยป้องกันไม่ให้ฟันเคลื่อนออกห่างจากกันอีก ในบางกรณีอาจต้องใช้วิธีการทำสะพานฟันเพื่อปิดช่องว่างระหว่างฟัน

เมื่อไหร่ควรไปพบทันตแพทย์?

เมื่อสังเกตุเห็นลูกของคุณมีฟันหน้าห่าง ให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาสาเหตุว่าฟันห่างนั้นเกิดจากอะไร บางครั้งเด็กอาจถูกส่งตัวไปให้ทันตแพทย์จัดฟันประเมินว่าควรรับการจัดฟันหรือไม่ การจัดฟันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนกับผู้ปกครองอย่างรอบคอบก่อน

ฟันห่างที่เกิดจาโรคปริทันต์หรือโรคเหงือก ทันตแพทย์ทั่วไปก็จะแนะนำให้คุณเข้าพบปริทันตทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการ

การรักษาฟันห่างโดยการจัดฟันหรือการซ่อมแซมฟัน ฟันจะติดแนบชิดกันหลังถอดเหล็กจัดฟันออกแล้ว แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาฟันห่างกลับมาอีก ควรใส่รีเทนเนอร์ตามที่ทันตแพทย์จัดฟันแนะนำ นอกจากนี้ทันตแพทย์อาจใช้วิธีการยึดด้านหลังของฟันเข้ากับฟันอีกซี่ด้วยคอมโพสิท (พลาสติก) และลวดเพื่อป้องหันไม่ให้ฟันเคลื่อนที่ห่างกันออกไปอีก

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม