ตามการอ้างอิงของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่าผู้ใหญ่ (อายุ 35-44 ปี) และผู้สูงอายุ (60-74 ปี) เป็นโรคปริทันต์อักเสบ ร้อยละ 37.60 และ 84.20 ตามลำดับ การตัดเหงือกอาจทำเพื่อรักษาผลข้างเคียงของปริทันต์ หรือเพื่อแก้ไขสภาพเหงือกที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างรอบฟัน ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่หัตถการที่ช่วยแก้ปัญหาปริทันต์ได้ อ่านต่อไปเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำหัตถการ และตัวเลือกในการรักษาที่มีอยู่เพื่อคืนรอยยิ้ม และฟื้นฟูเหงือกของคุณให้กลับมางดงามตามเดิม
การผ่าตัดเหงือก: สิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้
สิ่งนี้คืออะไร
หัตถการนี้คือการกำจัดเหงือกบางส่วนรอบฟันซี่เดียวหรือหลายซี่เพื่อรักษาปัญหาเหงือก หรือเพื่อขยายความสูงหรือความกว้างของฟันหรือส่วนหนึ่งของฟัน ซึ่งอาจดำเนินการโดยทันตแพทย์ทั่วไปที่ได้รับการฝึกอบรมการผ่าตัดปริทันต์ และมีแนวโน้มที่จะทำโดยปริทันตทันตแพทย์ โดยปริทันตทันตแพทย์ถูกนิยามว่าเป็นทันตแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านการรักษาเหงือกและสภาพเหงือก
การผ่าตัดปริทันต์อีกประเภทหนึ่งเรียกว่าการตัดแต่งเหงือก (gingivoplasty) ซึ่งจะแตกต่างจากการตัดเหงือกเนื่องจากการตัดเหงือกจะกำจัดเหงือกเพียงบางส่วน (ผ่าตัด) ส่วนการตัดแต่งเหงือกจะกำจัดส่วนของเหงือกทั้งหมด
การตัดเหงือกดำเนินการอย่างไร
การผ่าตัดจะใช้มีดผ่าตัดในการดำเนินการ แต่ในบางครั้งอาจใช้เลเซอร์ความถี่ต่ำแทน โดยตัดแต่งและกำจัดเนื้อเยื่อที่มีปัญหาออก จากนั้นเย็บเหงือกที่เหลือปิดกลับเข้าไปรอบฟันด้วยไหมเย็บแผล (เย็บแผล) แล้วทำความสะอาดบริเวณดังกล่าวด้วยน้ำเกลือและน้ำยาบ้วนปากชนิดพิเศษ รวมถึงใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายในขณะทำหัตถการ
หลังทำหัตถการเสร็จสิ้น จะทำการติดแผ่นปิดแผลหรือแพ็กรอบๆ ฟันและเหงือก แล้วทิ้งไว้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ นอกจากนี้ การกลั้วปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรียยังสามารถช่วยในกระบวนการรักษาได้อีกด้วย
ต้องดูแลอะไรบ้างหลังการตัดเหงือก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถกลับไปใช้วิธีการดูแลช่องปากตามปกติได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังทำหัตถการ การตรวจช่องปากกับทันตแพทย์หรือปริทันตทันตแพทย์เป็นประจำจะช่วยให้การผ่าตัดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมที่ทำการผ่าตัดอาจต้องการนัดพบติดตามอาการทุกๆ สามเดือน แล้วจึงค่อยเปลี่ยนเป็นนัดตรวจสุขภาพเชิงป้องกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อทำความสะอาดภายในและรอบๆ บริเวณที่ผ่าตัด
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม