ชาวอเมริกันนับล้านมีปัญหาเหงือกแต่ไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองมีการติดเชื้ออย่างรุนแรง โรคปริทันต์คือการติดเชื้อของเนื้อเยื่อเหงือกซึ่งเป็นสาเหตุให้กระดูกที่รองรับฟันถูกทำลาย สัญญาณหลักๆ ของโรคเหงือกคือ การอักเสบ ซึ่งเป็นกลไกของร่างกายที่ใช้ในการป้องกัน เฝ้าระวัง และปกป้องตนเองจากการติดเชื้อ สิ่งสำคัญคือ ต้องสังเกตอาการต่างๆ ของโรคเหงือก ทั้งนี้การรักษาโรคเหงือกก็สามารถทำได้หลายวิธี
ทางเลือกในการรักษาโรคเหงือก
ตรวจสอบทางการแพทย์โดย Colgate Global Scientific Communication
โรคเหงือกเกิดจากอะไร?
โรคปริทันต์เกิดจากคราบจุลินทรีย์ซึ่งเป็นฟิล์มเหนียวที่ก่อตัวขึ้นและสะสมอยู่รอบซี่ฟัน การสะสมของคราบจุลินทรีย์รอบฟันนี้เองที่ลุกลามลงไปสู่เนื้อเยื่อเหงือก เมื่อคราบจุลินทรีย์สะสมเป็นเวลานาน จะแข็งตัวกลายเป็นหินน้ำลาย ซึ่งมักเรียกกันว่าหินปูน ในช่องปากที่มีสุขภาพดี เหงือกและกระดูกจะโอบรอบฟันอย่างแนบสนิท แต่เมื่อเป็นโรคปริทันต์ กระดูกและเหงือกจะถูกทำลาย เกิดเป็นร่องปริทันต์รอบๆ ฟัน เมื่อเวลาผ่านไป ร่องปริทันต์นี้จะลึกลงอีก เป็นช่องทางให้คราบจุลินทรีย์เข้าไปสะสมและเจริญเติบโตมากขึ้น เราสามารถขจัดคราบจุลินทรีย์ได้ด้วยการแปรงฟันทุกวัน ใช้ไหมขัดฟัน และขูดหินปูนเป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงของโรคเหงือก
ใครเป็นโรคเหงือกได้บ้าง?
ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องทนทุกข์จากโรคเหงือก โรคทางปริทันต์นั้นพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การวิจัยโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นว่า ชาวอเมริกันประมาณ 64.7 ล้านคนเป็นโรคปริทันต์อักเสบ โดยส่วนใหญ่พบในผู้ชาย (ร้อยละ 56.4) รองลงมาเป็นผู้หญิง (ร้อยละ 38.4) โรคทางปริทันต์มีหลายรูปแบบ ซึ่งโดยรวมแล้วผู้ใหญ่อายุ 30 ปีขึ้นไปเป็นโรคปริทันต์ร้อยละ 47.2โรคทางปริทันต์รูปแบบที่พบได้บ่อยและมากที่สุดในเด็กและวัยรุ่น คือ โรคเหงือกอักเสบ ทั้งนี้การติดเชื้อของเหงือกจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไปเป็นโรคปริทันต์ถึงร้อยละ 70.1
อาการ
โรคปริทันต์อาจไม่เจ็บปวด ดังนั้นคุณจึงต้องสังเกตอาการต่อไปนี้:
- เลือดออก: เหงือกมีเลือดออกง่ายเมื่อแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน
- บวม: เหงือกบวม แดง หรือระบม
- เหงือกร่น: เหงือกร่นลงมาจากตัวฟัน
- กลิ่นปาก: มีกลิ่นปากไม่หายหรือมีรสชาติแย่ๆ ในปาก
- ฟันโยก: ฟันแท้โยก ขยับหน้า-หลัง หรือเคลื่อนที่ได้
- ฟันไม่อยู่ในแนวเดียวกัน: การเรียงตัวของแนวฟันเปลี่ยนไปจากเดิม
- ฟันปลอมที่ไม่แนบสนิท: ความแนบของฟันปลอมเปลี่ยนแปลงไป
- หนอง: มีหนองรอบฟันและเหงือก
- เจ็บเวลาเคี้ยว: เจ็บจี๊ดหรือเจ็บตื้อๆ เมื่อเคี้ยวอาหาร
- อาการเสียวฟัน: มีอาการเสียวฟันมากเมื่อสัมผัสกับความร้อนหรือเย็น
ปัจจัยร่วม
ปัจจัยบางอย่างส่งผลให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคปริทันต์เพิ่มสูงขึ้น เช่น ความเครียด พันธุกรรม และอายุ การสูบบุหรี่ การไม่รักษาความสะอาดในช่องปาก โภชนาการไม่ดี และโรคอ้วนล้วนส่งผลต่อเหงือก นอกจากนี้วัยรุ่น หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิด รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปริทันต์มากกว่าจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย คราบจุลินทรีย์ยังสามารถสะสมบริเวณรอบฟันคุด ใต้สะพานฟันที่ไม่แนบ และวัสดุอุดที่สึกหรอหรือแตกร้าว การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยาสเตียรอยด์ ยากลุ่มปิดกั้นแคลเซียม และยากันชักบางตัว ก็ส่งผลให้เกิดโรคปริทันต์ได้เช่นกัน
ความสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคทางระบบต่อช่องปาก
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่าโรคทางระบบบางโรคมีความสัมพันธ์กับโรคปริทันต์ การวิจัยพบว่า ผู้ที่เป็นโรคปริทันต์มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคระบบหายใจก็มีความสัมพันธ์กับโรคปริทันต์เช่นกัน เนื่องจากการสำลักอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากเข้าไปในปอดและเป็นสาเหตุให้เกิดปอดอักเสบ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยที่แสดงว่า ผู้ชายที่เป็นโรคเหงือกมีความเสี่ยงที่จะพบมะเร็งตับอ่อนร้อยละ 54 มะเร็งไตร้อยละ 49 และมะเร็งเม็ดเลือดร้อยละ 30 ผู้ป่วยเบาหวานก็มีแนวโน้มจะเป็นโรคปริทันต์มากขึ้น เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเองและระดับน้ำตาลในเลือด มีการศึกษามากมายที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างโรคปริทันต์กับโรคหลอดเลือดสมอง การวิจัยยังพบความสัมพันธ์ระหว่างกระดูกขากรรไกรที่ถูกทำลายกับโรคกระดูกพรุนด้วย
โรคเหงือกรูปแบบต่างๆ
โรคทางปริทันต์มีหลายแบบ แต่ต่อไปนี้เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด:
- โรคเหงือกอักเสบเรื้อรัง เป็นระยะแรกของโรคทางปริทันต์ที่ยังสามารถรักษาเหงือกให้กลับสู่สภาพปกติได้ เหงือกอักเสบ มีสีแดง และเลือดออกตามไรฟัน (กระดูกยังไม่ถูกทำลายกรณีที่เป็นโรคเหงือกอักเสบ)
- โรคปริทันต์อักเสบลุกลาม เหงือกไม่กระชับและกระดูกถูกทำลายอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ
- โรคปริทันต์อักเสบเรื้อรัง เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุดและเป็นระยะสุดท้ายของโรคปริทันต์ มีการทำลายอย่างช้าๆ
- โรคปริทันต์อักเสบเนื้อตาย: การอักเสบที่เกิดจากเนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกรอบฟันตาย (อาการที่มักพบคือมีกลิ่นปาก เจ็บเหงือก และเลือดออกตามไรฟัน)
การรักษาโรคเหงือก
ทันตแพทย์หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปริทันต์จะทำการวินิจฉัย นำไปสู่พยากรณ์โรคและแผนการรักษา วิธีหนึ่งของการรักษาโรคปริทันต์คือการขูดหินปูนและเกลารากฟันซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่มีการผ่าตัดเหงือกร่วม แต่เป็นการกำจัดคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายออกจากผิวรากฟันโดยการเกลารากฟันด้วยมือหรือใช้เครื่องขูดน้ำลายไฟฟ้า หลังจากขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันแล้วก็มักให้ผู้เข้ารับการรักษาทานยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วย
บางครั้งการรักษาด้วยเลเซอร์ก็นำมาใช้ร่วมกับการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ขณะรักษาโรคปริทันต์ ความยาวคลื่นและระดับความแรงของเลเซอร์แต่ละชนิดที่ใช้กำจัดหินน้ำลายจะแตกต่างกัน การรักษาอีกรูปแบบหนึ่งคือการใช้ยา ซึ่งเป็นยารับประทานและยาใช้เฉพาะที่ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดรับประทานสามารถลดหรือยับยั้งการลุกลามของโรคปริทันต์ อย่างไรก็ตาม อาจมีการใช้ยาเฉพาะที่เป็นสารเคมีเสริมเพื่อควบคุมโรคปริทันต์โดยใส่ในร่องปริทันต์ ส่วนการรักษาด้วยศัลยกรรมปริทันต์ เพื่อให้การกำจัดคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายทำได้ง่ายขึ้น ตกแต่งเหงือก และลดความลึกของร่องปริทันต์ ศัลยกรรมปริทันต์เพื่อคืนสภาพเป็นขั้นตอนที่ทำเพื่อเพิ่มกระดูกและเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายไปจากโรคปริทันต์ การทำลายบางรูปแบบสามารถฟื้นคืนได้ด้วยการสร้างเนื้อเยื่อและกระดูกขึ้นมาทดแทนส่วนที่ถูกทำลาย
การตรวจและติดตามอาการ
ควรตรวจประจำปีกับทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นควรได้รับการตรวจถี่ขึ้น สภาพปริทันต์ควรได้รับการประเมินจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปริทันตวิทยาหรือทันตาภิบาล หลังจากขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันหรือศัลยกรรมปริทันต์ จำเป็นต้องตรวจเพื่อติดตามอาการ เพื่อประเมินสภาวะปริทันต์และการรักษาต่อไป การประเมินซ้ำเกิดขึ้นหลังจากขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ จากนั้นควรตรวจอย่างต่อเนื่องทุก 3-4 เดือน