ทันตแพทย์ตรวจอาการเหงือกบวม

เหงือกบวม แต่ไม่เจ็บ ต้องไปหาหมอไหม?

สุขภาพเหงือกที่ดี ย่อมจะส่งผลให้สุขภาพฟันแข็งแรงด้วย เพราะเหงือกมีหน้าที่ปกป้องกระดูกที่รองรับฟัน และยึดฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร เมื่อเหงือกบวมอักเสบ จะมีอาการต่างๆ ที่ทั้งสร้างความรำคาญ ความเจ็บปวด และอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพฟันและช่องปากด้วย เช่น เหงือกบวมแดง เลือดออก กดเจ็บ มีกลิ่นปาก หรือเสียวฟัน เป็นต้น

เหงือกบวม เกิดจากอะไร?

โดยปกติสุขภาพเหงือกที่ดี ควรจะมีสีชมพูอ่อน เนื้อแน่น แนบพอดีกับซี่ฟัน กดไม่เจ็บ ไม่มีเลือดออก แต่บางครั้งการใช้ชีวิตประจำวันของเราอาจส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาเหงือกบวมได้ สาเหตุของการเกิดปัญหาเหงือกบวม มีดังนี้

  1. การสะสมของคราบพลัค ถือเป็นสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เหงือกบวม และเหงือกอักเสบ เพราะเมื่อขาดการทำความสะอาดฟันและช่องปากอย่างถูกวิธี ทำให้คราบพลัคสะสมตามร่องฟัน คอฟัน จนอาจหลุดเข้าไปยังร่องเหงือก ส่งผลให้เหงือกบวมและเหงือกอักเสบได้

  2. ฟันคุด เกิดจากฟันกรามขึ้นได้ไม่เต็มซี่ เพราะมีพื้นที่ไม่เพียงพอ ทำให้ฟันที่กำลังจะขึ้นมีเหงือกคลุมอยู่บางส่วน จึงมักจะมีเศษอาหารเข้าไปติดใต้เหงือกเวลาที่เคี้ยวอาหาร และเป็นส่วนที่ทำความสะอาดได้ยาก

  3. ฟันผุ เมื่อเกิดฟันผุที่ลุกลามจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน จะทำให้เหงือกบวมเป็นตุ่มเล็กๆ มีหนอง และอาจส่งผลให้ต้องถอนฟันซี่นั้นออก

  4. เครื่องมือจัดฟัน เช่น การใส่เหล็กจัดฟัน การใส่รีเทนเนอร์ ฟันปลอม ทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องปาก รวมทั้งการทำความสะอาดที่ไม่ดีพอ อาจส่งผลให้เกิดคราบพลัคและแบคทีเรียสะสม นำไปสู่การติดเชื้อในเหงือกได้

  5. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยากันชักบางชนิด ยาคุมกำเนิดบางชนิด ซึ่งอาการเหงือกบวมและอักเสบจากสาเหตุนี้มักจะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยาชนิดนั้นๆ 

  6. ขาดวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินซีและวิตามินบี ที่มีส่วนช่วยซ่อมแซมและบำรุงส่วนที่สึกหรอของฟันและเหงือก หากเรารับประทานอาหารที่มีวิตามินซีและวิตามินบีไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้เกิดเลือดออกตามไรฟันและปัญหาเหงือกบวมได้

วิธีป้องกันและรักษาเหงือกบวมด้วยตัวเอง

อาการเหงือกบวมในระยะแรกนั้นยังไม่รุนแรง คุณสามารถดูแลด้วยตัวเองได้ที่บ้าน หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมอาการเหงือกบวมจะบรรเทาลงภายใน 1 - 2 สัปดาห์ การป้องกันและรักษาเหงือกบวมด้วยตัวเองเมื่ออาการยังไม่รุนแรง มีวิธีง่ายๆ ดังนี้ 

  • แปรงฟันด้วยแปรงสีฟันสำหรับเหงือกโดยเฉพาะ ขนแปรงนุ่ม ปลายเรียวแหลม โอบกระชับ เพื่อให้ซอกซอกร่องฟันและเหงือกได้ทั่วถึง อย่าง แปรงสีฟัน Colgate Gentle Gum Expert นวัตกรรมแปรงสีฟันนวดเหงือก ด้วยขนแปรงปลายเรียวแหลม 0.01 มม. และมีขนแปรงหนานุ่มมากถึง 6,700 เส้น ที่ช่วยซอกซอนร่องเหงือก โอบกระชับ และนวดเหงือกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อขจัดเศษอาหารที่ติดตามซอกฟัน 

  • ใช้น้ำยาบ้วนปากสูตรอ่อนโยน ที่มีส่วนผสมช่วยกำจัดแบคทีเรีย 

  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 8 แก้ว/วัน เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำลาย 

  • หลีกเลี่ยง หรือหยุดสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเหงือก และอาการเหงือกบวม

  • พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูน

เหงือกบวมแบบไหน? ควรไปพบทันตแพทย์

อาการเหงือกบวมที่ไม่รุนแรงสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน แต่หากเกิดอาการเหงือกบวม พร้อมกับความเจ็บปวดยาวนาน และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่นๆ เช่น

  1. เหงือกบวมเป็นตุ่มเล็กๆ มักมีอาการปวดนำมาก่อน พบอยู่ใกล้ฟันผุ เกิดจากฟันผุ ที่ลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟัน 

  2. เหงือกบวมมีก้อนฟูคล้ายดอกกะหล่ำ มีอาการบวม ชา และลุกลามรวดเร็ว อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งในช่องปาก ต้องรีบเข้าพบทันตแพทย์ทันที

  3. เหงือกบวมมีเลือดออก โดยเฉพาะขณะแปรงฟัน เกิดจากการมีหินปูนสะสมมาก มักจะมีกลิ่นปาก และเสียวฟันร่วมด้วย

  4. เหงือกบวมมีหนอง หากสังเกตว่ามีหนองไหลบริเวณขอบเหงือก เป็นสัญญาณของโรคเหงือกระยะลุกลาม 

เหงือกบวมเป็นหนึ่งในสัญญาณของปัญหาสุขภาพช่องปาก ดังนั้น การหมั่นสังเกตและดูแลสุขภาพเหงือกให้แข็งแรง จะช่วยให้คุณห่างไกลอาการเหงือกบวม และเผยรอยยิ้มที่มั่นใจได้ตามที่ต้องการ

อ้างอิง : https://bit.ly/44VE2mA

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม