เหงือกบวม เจ็บเหงือก

เหงือกบวม เจ็บเหงือก สัญญาณที่เตือนอันตรายของโรคเหงือกอักเสบ

อาการเหงือกบวม เจ็บเหงือก เป็นอาการที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ ที่พบมากที่สุดมักจะเกิดจากการดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากที่ไม่ดีพอ ซึ่งอาจเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย และอาการต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นสัญญาณเตือนที่อันตรายของโรคเหงือกอักเสบ และอาจนำไปสู่โรคปริทันต์ที่มีอาการรุนแรงจนอาจจะต้องสูญเสียฟันซี่นั้นไปเลย

โรคเหงือกอักเสบ มีกี่ระยะ? 

โรคเหงือกอักเสบ มีอยู่ด้วยกัน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเหงือกอักเสบ ระยะปริทันต์อักเสบ และระยะปริทันต์อักเสบรุนแรง โดยระยะแรกอาจจะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมา หรือมีเพียงอาการเจ็บเหงือก เหงือกบวม ซึ่งสามารถรับรู้ได้ผ่านการหมั่นสังเกตความผิดปกติของเหงือกนั่นเอง

  • ระยะที่ 1 เหงือกอักเสบ จะมีอาการอักเสบแค่บริเวณเหงือก มักจะมีอาการเหงือกบวม แดง เจ็บเหงือก มีกลิ่นปาก บางรายพบว่ามีเลือดออกรอบคอฟันในขณะแปรงฟัน แต่ยังไม่มีการทำลายกระดูกรองรับฟัน 

  • ระยะที่ 2 ปริทันต์อักเสบ จะเริ่มมีการทำลายกระดูกรองรับรากฟัน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ซี่ฟันไปจนถึงรากฟัน ทำให้เหงือกบวม มีสีแดงจัด เกิดหนองบริเวณขอบเหงือก เหงือกร่น มีอาการเจ็บเหงือก อาการปวดฟัน และมีกลิ่นปากร่วมด้วย 

  • ระยะที่ 3 ปริทันต์อักเสบรุนแรง ระยะนี้เกิดการทำลายกระดูกรองรับรากฟัน ทำให้ฟันโยกและฟันหลุดในที่สุด อาการอื่นๆ ที่พบ คือมีกลิ่นปากเรื้อรัง เหงือกบวมและเหงือกร่นขั้นรุนแรง มีเลือดออกบริเวณไรฟัน ซึ่งทันตแพทย์อาจต้องถอนฟัน เพื่อไม่ให้ฟันซี่อื่นๆ ติดเชื้อเพิ่มเติม 

ปัญหาโรคเหงือกอักเสบในระยะแรกๆ ที่มีอาการเหงือกบวมไม่รุนแรงมากนัก จะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บเหงือก คุณสามารถดูแลรักษาได้ด้วยตัวเองง่ายๆ ได้ที่บ้าน ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเหงือกบวมได้ ดังนี้

การดูแลรักษาอาการโรคเหงือกอักเสบ เบื้องต้นด้วยตัวเอง

  • ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อย 8 แก้ว/วัน เพื่อกระตุ้นการทำงานของต่อมน้ำลาย

  • ใช้น้ำยาบ้วนปาก เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และจุลินทรีย์ ที่อาจตกค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือร่องเหงือก

  • ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ เพื่อกำจัดเศษอาหารตามซอกฟัน

  • เลือกแปรงสีฟันสำหรับเหงือกโดยเฉพาะ เช่น แปรงสีฟัน Colgate Gentle Gum Expert นวัตกรรมแปรงสีฟันนวดเหงือก ลดปัญหาสุขภาพเหงือกได้มากถึง 3 เท่า ด้วยขนแปรงปลายเรียวแหลม 0.01 มม. มากถึง 6,700 เส้น ช่วยซอกซอนร่องเหงือกและฟัน โอบกระชับพอดีต่อการนวดเหงือก

พฤติกรรมที่ “ควรหลีกเลี่ยง” เมื่อเป็นโรคเหงือกอักเสบ

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ 

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เสี่ยงทำให้เกิดฟันผุ เช่น น้ำตาล ผลไม้เปรี้ยวจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น

อาการเหงือกอักเสบแบบใด ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษา

สำหรับบางคนที่มีอาการของโรคเหงือกอักเสบที่รุนแรง เหงือกบวมเรื้อรัง เจ็บเหงือก ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เหงือกบวมแดงมาก มีหนอง เหงือกร่นรุนแรง มีกลิ่นปาก หรือปวดฟันมาก ควรรีบไปปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป 

โรคเหงือกอักเสบ อาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ไม่ควรมองข้าม เพราะปัญหาเล็กๆ นี้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาช่องปากที่รุนแรงตามมา ดังนั้น การรักษาความสะอาดภายในช่องปากอย่างถูกวิธี เริ่มจากการเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากให้เหมาะสม อย่างแปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม ถนอมเหงือก ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของเหงือกและฟัน และพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการเหงือกบวมมาเยือน และช่วยให้คุณเผยรอยยิ้มมีความสุขได้อย่างมั่นใจ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม