การป้องกันโรคปริทันต์ - คอลเกต
Badge field

สาเหตุของโรคปริทันต์และวิธีป้องกัน

คุณเคยรู้สึกว่าเหงือกระบมหรือมีเลือดออกตามไรฟันหรือไม่? โรคปริทันต์คือการติดเชื้อและอักเสบของเหงือก เอ็นยึดปริทันต์ รวมถึงกระดูกรอบฟัน หากคุณรู้สาเหตุ วิธีรักษา และขั้นตอนป้องกันปัญหาเหงือก คุณก็สามารถรักษาสุขภาพช่องปากและร่างกายของตนเองได้

หากคุณเคยรู้สึกว่าเหงือกระบมหรือมีเลือดออกตามไรฟัน คุณก็ไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว ความจริงแล้ว ประมาณ ร้อยละ 42 ของชาวอเมริกันอายุ 30 ปีขึ้นไปเป็นโรคปริทันต์ หรือที่เรียกกันว่าโรคเหงือก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเลือดออกตามไรฟันเป็นเรื่องปกติหรือละเลยได้ หากไม่ได้รับการรักษา โรคปริทันต์สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากที่ร้ายแรงได้

การเรียนรู้สาเหตุของโรคปริทันต์ อาการหรือพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรค และวิธีการป้องกันเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้เหงือกสุขภาพดี

โรคปริทันต์คืออะไร?

ปริทันต์ มีความหมายตามตัวอักษรว่า "โดยรอบฟัน" ดังนั้นโรคปริทันต์จึงหมายถึงการติดเชื้อและอักเสบของเหงือก เอ็นยึดปริทันต์ หรือกระดูกที่อยู่รอบฟัน โดยมีความรุนแรงของโรคหลายระดับ ระยะแรกคือ เหงือกอักเสบ การติดเชื้อจำกัดอยู่ที่เหงือกเท่านั้น เมื่อเหงือกอักเสบจะมีสีแดงและเลือดออก เหงือกอักเสบรักษาได้และสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้หากเป็นระยะเริ่มแรก

ิอย่างไรก็ตาม เมื่อการติดเชื้อลุกลามออกไป สามารถส่งผลถึงเนื้อเยื่อและกระดูกโดยรอบซี่ฟัน เรียกว่า ปริทันต์อักเสบ ทำให้เหงือกไม่ยึดกับฟัน สูญเสียกระดูก และในที่สุดอาจต้องสูญเสียฟันหรือถอนฟัน ปริทันต์อักเสบส่งผลรุนแรงกว่ามากและอาจไม่สามารถกลับสู่สภาพปกติ การรักษาส่วนใหญ่มักต้องทำศัลย์ปริทันต์

โรคปริทันต์มีสาเหตุจากอะไร?

สุขภาพช่องปากที่ไม่ดีหรือคราบจุลินทรีย์ที่เต็มไปด้วยแบคทีเรียและพิษจากแบคทีเรียเป็นสาเหตุให้เกิดโรคปริทันต์ สมาคมปริทันตวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (AAP) กล่าวไว้ว่า คราบจุลินทรีย์ที่ไม่ถูกกำจัดสามารถสะสมอยู่ใต้ขอบเหงือก พิษจากแบคทีเรียทำให้เหงือกอักเสบ ส่งผลให้ร่างกายติดเชื้อ เนื้อเยื่อและกระดูกรอบฟันถูกทำลาย เมื่อการอักเสบลุกลามต่อไป เหงือกจะไม่ยึดกับฟัน เกิดเป็นร่องปริทันต์ หรือช่องว่างระหว่างฟันกับเหงือก หากร่องปริทันต์ติดเชื้อและลึกมากขึ้้น เนื้อเยื่อเหงือกและกระดูกจะถูกทำลายมากขึ้น ในที่สุดการทำลายจะส่งผลให้ฟันโยกและอาจต้องถอนฟัน อาการที่พบแตกต่างกันไปตามความรุนแรง ตั้งแต่ไม่มีอาการเลยจนถึงอาการเจ็บปวดมากจนทนไม่ไหว

อาการของโรคปริทันต์

คุณสามารถดูแลสุขภาพช่องปากได้ด้วยการสังเกตสัญญาณเตือนถึงโรคปริทันต์:

  • เหงือกแดง บวม ระบม หรือมีเลือดออก
  • เหงือกร่นหรือไม่ยึดกับฟัน
  • เสียวฟันผิดปกติโดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือก
  • ฟันโยกหรือเจ็บเวลาเคี้ยว
  • มีกลิ่นปากหรือรสชาติแปลกๆ ในปาก

หากคุณคิดว่ามีอาการเหล่านี้ ให้พบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปาก ทันตแพทย์จะประเมิน เหงือกของคุณด้วยเครื่องมือตรวจวัดความลึกของร่องลึกปริทันต์เพื่อหาบริเวณที่ติดเชื้อ ทันตแพทย์อาจถ่ายภาพรังสีใหม่เปรียบเทียบกับภาพรังสีก่อนหน้านี้เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของฟันหรือกระดูกของคุณ นอกจากนี้ทันตแพทย์อาจส่งต่อคุณให้แก่ปริทันตทันตแพทย์ถ้าจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

การรักษาโรคปริทันต์

หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปริทันต์ การรักษามีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ตัวอย่างการรักษาเช่น:

  • การขูดหินปูนและเกลารากฟัน  สำหรับการรักษาเหงือกอักเสบหรือโรคเหงือกระยะเริ่มต้น ยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูสภาพเนื้อเยื่อปริทันต์ การขูดหินปูนเป็นวิธีทำความสะอาดฟัน กำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนออกจากฟันทั้งที่สะสมอยู่บนเหงือกและใต้เหงือก ส่วนการเกลารากฟันเป็นวิธีกำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูนออกจากผิวรากฟันและ บริเวณที่ขรุขระซึ่งเป็นที่สะสมของแบคทีเรีย เมื่อเหงือกสะอาด เนื้อเยื่อเหงือกจะเริ่มฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติ
  • ศัลย์ปริทันต์ หากร่องลึกปริทันต์ลึกมากจนไม่อาจทำความสะอาดด้วยตนเองหรือการขูดหินปูนได้ การลดความลึกร่องปริทันต์จะเป็นทางเลือกในการรักษา โดยทันตแพทย์จะกรีดเหงือกเพื่อเปิดเนื้อเยื่อให้สามารถเข้าไปใต้เหงือกเพื่อขูดหินปูนและเกลารากฟัน กำจัดส่วนที่ติดเชื้อจากแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำเช่นนี้ช่วยให้เหงือกสามารถกลับมายึดติดกับกระดูกได้ดังเดิม
  • การผ่าดัดปลูกถ่ายเหงือก  หากโรคปริทันต์ลุกลามต่อไปและเหงือกเริ่มร่น ปริทันตทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดเพื่อปรับเปลี่ยนรูปร่างเหงือกหรือปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ ปกติแล้วในการผ่าตัด ปริทันตทันตแพทย์จะนำเนื้อเยื่อเหงือกจากเพดานปากของคุณมาปิดรากฟันเพื่อป้องกันฟันผุ การสูญเสียกระดูก หรือป้องกันเหงือกร่นมากไปกว่านี้
  • ขั้นตอนการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อใหม่  เมื่อปริทันต์อักเสบทำลายกระดูกรอบฟันไป ขั้นตอนการปลูกถ่ายให้เกิดเนื้อเยื่อใหม่อาจช่วยให้บางส่วนกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ หลังจากปริทันตทันตแพทย์เปิดให้เห็นรากฟันและกำจัดแบคทีเรียแล้ว  อาจปลูกถ่ายกระดูกบริเวณรอบฟัน เพื่อเหนี่ยวนำให้ร่างกายสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อทดแทนที่ถูกทำลายไป ในที่สุด หากมีกระดูกมากพอ คุณอาจได้รับคำแนะนำให้ใส่รากเทียม
  • การถอนฟัน  กรณีที่ปริทันต์อักเสบรุนแรงมาก กระดูกถูกทำลายไปจนไม่สามารถเก็บฟันไว้ได้ จะต้องถอนฟันออก

วิธีป้องกันโรคเหงือก

  • เนื่องจากไม่สามารถรักษาปริทันต์อักเสบและโรคปริทันต์ชนิดรุนแรงให้กลับคืนสู่สภาพปกติดังเดิมได้ทั้งหมด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสังเกตและบอกอาการโรคเหงือกระยะเริ่มแรกให้ทราบโดยเร็วที่สุดและดูแลสุขภาพช่องปากเป็นประจำก่อนโรคจะลุกลาม 
  • ฝึกดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีด้วยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำทุกวัน การปฏิบัติอย่างถูกต้องจะช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์จากฟันและป้องกันไม่ให้เกิดการสะสม นอกจากนี้ ควรพบทันตแพทย์ทุกหกเดือนเพื่อทำความสะอาดช่องปาก กำจัดคราบจุลินทรีย์และหินปูน ในบริเวณที่ทำความสะอาดไม่ทั่วถึง หากคุณเป็นโรคปริทันต์ ทันตแพทย์หรือปริทันตทันตแพทย์อาจแนะนำให้มาพบบ่อยครั้งขึ้นและรักษาด้วยวิธีการที่ซับซ้อนขึ้น
  • สมาคมปริทันตวิทยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้กล่าวถึง ปัจจัยอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคเหงือก ได้แก่:
  • พันธุกรรม  บางคนมีพันธุกรรมที่ทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคปริทันต์มากกว่าคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหลีกเลี่ยงโรคนี้ไม่ได้เลย การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างเหมาะสมสามารถป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดโรคปริทันต์ได้
  • ฟันเก ฟันซ้อน เครื่องมือจัดฟัน และสะพานฟัน  ทั้งหมดนี้ทำให้การแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันยากขึ้น ส่งผลให้คราบจุลินทรีย์สะสมง่ายขึ้น ทันตแพทย์หรือทันตาภิบาลของคุณสามารถแนะนำวิธีการทำความสะอาดฟันที่ดีที่สุดและอาจให้เครื่องมือพิเศษที่ช่วยให้ใช้ไหมขัดฟันรอบๆ เครื่องมือจัดฟันและสะพานฟันได้ กรณีที่ฟันเกหรือฟันซ้อน อาจแนะนำให้คุณจัดฟัน
  • การนอนกัดฟัน บดหรือขบฟัน  นิสัยเหล่านี้ทำให้อาการโรคปริทันต์รุนแรงขึ้นจากแรงที่กระทำกับฟันมากเกินไป ส่งผลให้เนื้อเยื่อเหงือก และกระดูกถูกทำลายเร็วขึ้น ทันตแพทย์สามารถทำเฝือกสบฟันให้คุณเพื่อลดแรงที่ทำกับฟัน เนื้อเยื่อปริทันต์ และข้อต่อขากรรไกร
  • การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของคุณต่อสู้กับการติดเชื้อยากขึ้น ส่งผลให้การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหงือกและยังรักษาได้ยากกว่าด้วย ผู้สูบบุหรี่มีหินปูนสะสมที่ฟันมากกว่า เกิดร่องลึกปริทันต์ลึกกว่า ง่ายต่อการสะสมแบคทีเรีย และสูญเสียกระดูกมากกว่าเมื่อโรครุนแรงขึ้น การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันและรักษาโรคปริทันต์
  • ยา ยาหลายชนิดทำให้ปากแห้งและน้ำลายน้อย ทำให้มีแนวโน้มจะเกิดคราบจุลินทรีย์สะสมที่ฟันมากขึ้น ยาบางชนิดทำให้เหงือกโต เป็นที่สะสมแบคทีเรียได้ง่ายยิ่งขึ้น ตรวจดูผลข้างเคียงของยาที่ใช้และหมั่นดูแลความสะอาดช่องปากเป็นประจำเพื่อป้องกันการสะสมของคราบจุลินทรีย์
  • โรคทางระบบ โรคทางระบบบางโรคทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเป็นโรคปริทันต์มากขึ้น โรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองน้อยลง เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคที่มีภาวะอักเสบ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเหล่านี้ทำให้การป้องกันและรักษาโรคเหงือกยากกว่าปกติ ทันตแพทย์ของคุณสามารถแนะนำวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการดูแลสุขภาพช่องปากของคุณ
  • ภาวะทุพโภชนาการ การได้รับสารอาหารที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและสุขภาพช่องปากที่ดี หากคุณขาดวิตามินซีหรือเป็นโรคลักปิดลักเปิด จะทำให้มีเลือดออกตามไรฟัน
  • ความเครียด  ความเครียดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานไม่เต็มที่ ทำให้ต่อสู้การติดเชื้อซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคเหงือกได้ยากขึ้นและการรักษาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
  • ฮอร์โมน  ระดับฮอร์โมนที่ผันผวนทำให้สภาพช่องปากเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงวัยเจริญพันธ์ุ ช่วงตั้งครรภ์ และช่วงวัยทอง ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคปริทันต์มากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคปริทันต์

โชคร้ายที่โรคปริทันต์ส่งผลกระทบมากกว่าช่องปากของคุณ นักวิจัยพบหลักฐานมากขึ้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโรคเหงือกกับสุขภาพโดยรวม ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น:

  • โรคหัวใจ การติดเชื้อบริเวณเหงือกอาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเส้นเลือดแดงอุดตันมากขึ้นหรืออาการโรคหัวใจแย่ลง
  • โรคหลอดเลือดสมอง เช่นเดียวกัน โรคปริทันต์อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ 
  • โรคระบบทางเดินหายใจ แบคทีเรียในช่องปากอาจลุกลามไปยังปอด ทำให้ปอดติดเชื้อหรือสภาพปอดแย่ลง ผู้ป่วยระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องที่มีปัญหาโรคเหงือกอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงกว่า
  • ภาวะคลอดก่อนกำหนด ผู้ป่วยระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เป็นโรคเหงือกขณะตั้งครรภ์ อาจเพิ่มโอกาสของการคลอดก่อนกำหนดและทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย
  • โรคเบาหวาน โรคปริทันต์อาจทำให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลของตนเองได้ยากกว่าผู้ป่วยที่มีสภาพเหงือกปกติ

อย่าละเลยอาการเหงือกระบมหรือเลือดออกตามไรฟัน เพราะยิ่งวินิจฉัยและรักษาโรคปริทันต์ได้เร็วเท่าไร ยิ่งช่วยลดการทำลายเหงือกและฟันของคุณได้มากเท่านั้น

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม