การปลูกถ่ายกระดูกเพื่อฝังรากฟันเทียม
Badge field

การปลูกถ่ายกระดูกเพื่อฝังรากฟันเทียม: ทำความเข้าใจความเป็นไปได้

Published date field

หากคุณสูญเสียฟันหนึ่งซี่ขึ้นไป ในแง่ของความสวยงามแล้ว ไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าการฝังรากเทียม เพราะรากเทียมจะมีลักษณะและการใช้งานเหมือนฟันจริง หากฝังรากเทียมสำเร็จ ผลลัพธ์ที่ได้ก็แทบจะแยกไม่ออกจากฟันจริงเลย แต่สิ่งสำคัญก็คือ คุณจะต้องเข้าใจแง่มุมต่าง ๆ เกี่่ยวกับการศัลยกรรมช่องปากอย่างครบถ้วน เพราะการฝังรากเทียมก็ต้องอาศัยการผ่าตัดเช่นกัน สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ คุณอาจจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายกระดูกเพื่อฝังรากเทียม

ตามปกติแล้ว รากฟันเทียมจะประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่ ส่วนกระบอกโลหะที่ต้องฝังเข้าไปในกระดูกขากรรไกรและทำหน้าที่เสมือนเป็นรากฟัน และส่วนหลักยึดที่ต้องขันเข้ากับส่วนกระบอกโลหะ จากนั้น ทันตแพทย์จะติดตั้งตัวฟันกับหลักยึด เพื่อให้ดูเหมือนฟันจริง

จากข้อมูลของสมาคมศัลยแพทย์ช่องปากและใบหน้าขากรรไกรแห่งสหรัฐอเมริกา (AAOMS) ศัลยแพทย์ช่องปากอาจจะพูดถึงการปลูกถ่ายกระดูกเพื่อฝังรากเทียมหากเห็นว่ากระดูกขากรรไกรของคุณบางหรือนิ่มเกินไปจนไม่สามารถพยุงรากเทียมไว้ได้ เพราะหากกระดูกขากรรไกรไม่สามารถรองรับรากเทียม การผ่าตัดฝังรากเทียมก็จะไม่ประสบความสำเร็จ

ในขั้นตอนการปลูกกระดูก ศัลยแพทย์จะตัดกระดูกส่วนหนึ่งออกจากส่วนอื่นของร่างกาย หรือใช้วัสดุปลูกถ่ายกระดูกแบบพิเศษ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน จากนั้นจึงปลูกถ่ายเข้าไปในกระดูกขากรรไกร หลังจากขั้นตอนนี้ ตามปกติแล้วคุณจะต้องรอเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อให้กระดูกที่ปลูกถ่ายเข้าไปสร้างกระดูกใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิมและสามารถพยุงรากเทียมให้อยู่กับที่ได้ หรือบางทีคุณอาจจะได้ปลูกถ่ายกระดูกชิ้นเล็ก ๆ พร้อมกับการผ่าตัดฝังรากเทียมเลย ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นคนตัดสินใจในขั้นสุดท้าย หากปลูกถ่ายกระดูกสำเร็จ กระดูกขากรรไกรของคุณจะแข็งแรงขึ้นจนสามารถพยุงรากเทียมได้

หลังจากปลูกถ่ายกระดูกเสร็จแล้ว คุณจะสามารถผ่าตัดฝังรากเทียมต่อได้ เช่นเดียวกับการผ่าตัดแบบอื่น ๆ คุณจะต้องพูดคุยเกี่ยวกับประวัติการรักษาพยาบาล ความเสี่ยง และประโยชน์ของการผ่าตัดกับผู้เชี่ยวชาญทางทันตกรรมด้วย หลังจากแพทย์เห็นว่าคุณเหมาะกับการรักษาแบบนี้ รอยยิ้มสดใสก็อยู่อีกไม่ไกลแล้ว

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม