น้ำยาบ้วนปากเด็ก - คอลเกต

น้ำยาบ้วนปากเด็กและความปลอดภัยของน้ำยาบ้วนปาก

ไม่เพียงผู้ใหญ่เท่านั้นที่ต้องกังวลเรื่องเหงือกอักเสบและฟันผุ จากข้อมูลของ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) พบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 73 ของเด็กอายุ 6 ถึง 11 ปี เป็นโรคเหงือก สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ยังระบุว่า ร้อยละ 42 ของเด็กอายุ 2 ถึง 11 ปี มีฟันผุ

การดูแลสุขภาพช่องปากรวมถึงการใช้น้ำยาบ้วนปากช่วยส่งเสริมให้ฟันและเหงือกแข็งแรง แต่สิ่งสำคัญคือต้องใช้น้ำยาบ้วนปากเด็กอย่างปลอดภัย

อย่าเริ่มต้นใช้เร็วเกินไป

สมาคมทันตแพทย์อเมริกัน (ADA) แนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์ เนื่องจากเด็กอายุน้อยอาจกลืนน้ำยาบ้วนปาก ทำให้ร่างกายได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป ปริมาณฟลูออไรด์เพียงเล็กน้อยช่วยให้ฟันแข็งแรงและไม่ผุ แต่ปริมาณมากจะทำให้เคลือบฟันเปลี่ยนสี เรียกว่า ฟันตกกระ

เลือกน้ำยาบ้วนปากที่ไม่มีแอลกอฮอล์

น้ำยาบ้วนปากผู้ใหญ่บางชนิดมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าแบคทีเรียที่ลุกลามจนเกิดหนองในช่องปากและตามขอบเหงือก น้ำยาบ้วนปากประเภทนี้ปลอดภัยสำหรับผู้ใหญ่ แต่ไม่ใช่สำหรับเด็ก เด็กไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เนื่องจากการกลืนแอลกอฮอล์แม้เพียงเล็กน้อยส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตได้ เช่นเดียวกับฟลูออไรด์ ดังนั้น ควรเลือกน้ำยาบ้วนปากชนิดที่ไม่มีแอลกอออล์ให้เด็ก

คอยดูแลเด็กขณะที่ใช้น้ำยาบ้วนปาก

ควรดูแลอย่างใกล้ชิดขณะที่เด็กอายุ 6 ถึง 12 ปีใช้น้ำยาบ้วนปาก ทั้งนี้มี 2 สาเหตุ: ข้อแรก เพื่อให้แน่ใจว่าลูกของคุณจะไม่กลืนน้ำยาบ้วนปาก ข้อสอง เพื่อให้มั่นใจว่าลูกแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันก่อน ไม่ได้ใช้แต่น้ำยาบ้วนปากเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไป การแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากจะกลายเป็นกิจวัตร เมื่อลูกโตขึ้น คุณก็ไม่จำเป็นต้องคอยดูแลอีกต่อไป

การเก็บน้ำยาบ้วนปาก

ควรเก็บน้ำยาบ้วนปากให้พ้นมือเด็กเล็กเสมอ เนื่องจากมีสีสดใสและกลิ่นหอมจนเด็กอาจคิดว่าเป็นเครื่องดื่มแสนอร่อย ดังนั้นให้เก็บน้ำยาบ้วนปากไว้บนชั้นวางสูงๆ หรือในตู้ที่ล็อกได้จนกว่าลูกโตพอจะเข้าใจการใช้น้ำยาบ้วนปากอย่างปลอดภัย

เด็กเองก็มีปัญหาสุขภาพช่องปากได้เหมือนผู้ใหญ่ เช่น โรคเหงือก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสอนลูกให้ดูแลสุขภาพช่องปากตนเองให้ดีอย่างสม่ำเสมอ แปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากสำหรับเด็กทุกวัน ช่วยให้ฟันและเหงือกของลูกคุณสุขภาพดีตลอดไป

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม