ฟันเป็นหนองคืออะไร - คอลเกต
Badge field

ฝีในฟัน

ฝีในฟันคืออะไร

ฝีในฟันคือการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบที่ด้านในของฟันที่มีหนองสะสม และอาจทำให้ผู้ที่เป็นสภาวะนี้ มีอาการปวดระดับปานกลางจนถึงระดับรุนแรงได้ ฝีในฟันอาจเกิดเมื่อไม่ได้รักษาฟันผุเป็นเวลานาน หรือเมื่อรอยแตกหรือบิ่น ทำให้แบคทีเรียเข้าไปยังเนื้อฟัน (ส่วนด้านในที่อ่อนนุ่มของฟัน) บริเวณฟันและติดเชื้อได้

จากนั้นแบคทีเรียที่เข้าไปด้านในจะแพร่กระจายไปที่รากฟัน ส่งผลให้เกิดการอักเสบและบวม เมื่อเกิดการอักเสบ หนองก็จะถูกดันเข้าไปยังพื้นที่แคบ (หรือที่เรียกว่าฝี) ที่ปลายรากฟัน ซึ่งมีอาการบวม

อาการ

สัญญาณและอาการของฝีในฟัน มีดังนี้:

  • รู้สึกปวดฟันตุบๆ หรือรุนแรงตลอดเวลา
  • ไวต่ออุณหภูมิอย่างมาก
  • รู้สึกปวดเมื่อเคี้ยวหรือกัดตามปกติ
  • มีไข้
  • มีอาการบวมบนใบหน้าหรือแก้ม
  • ต่อมน้ำเหลืองใต้กรามหรือคอจะมีอาการระบมหรือบวม
  • มีของเหลวกลิ่นเหม็นไหลออกมาในปาก ตามมาด้วยหายจากอาการปวด ซึ่งหมายความว่าฝีแตก

ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นฝีในฟัน:

  • พฤติกรรมการดูแลช่องปากที่ไม่ดี หากคุณไม่แปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันทุกวัน (ควรทำวันละสองครั้งหรือมากกว่า) ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางทันตกรรมและในช่องปาก เช่น ปัญหาเหงือก ฝีในฟัน และฟันผุ
  • อาหารที่มีน้ำตาลสูง การรับประทานน้ำตาลมากเกินไปนั้นไม่ดีต่อร่างกายของคุณ โดยเฉพาะกับฟัน น้ำอัดลม ขนมหวาน และอาหารอื่นๆ ที่มีน้ำตาลสูงอาจทำให้เกิดฟันผุ ซึ่งสามารถกลายเป็นการติดเชื้อหรือฝีในฟันได้อย่างรวดเร็ว
  • ปัญหาสุขภาพอื่นๆ — คุณเป็นเบาหวานหรือมีภาวะแพ้ภูมิตัวเองประเภทใดหรือไม่ หากใช่ ปัญหาเหล่านี้อาจเพิ่มโอกาสที่คุณจะเป็นฝีในฟันได้ ดังนั้นการดูแลสุขภาพช่องปากที่เหมาะสมและการตรวจฟันเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ควรปรึกษาทันตแพทย์เมื่อใด

หากพบสัญญาณหรืออาการใดๆ ข้างต้น คุณควรไปพบทันตแพทย์ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเริ่มมีอาการบวมบนใบหน้าหรือเริ่มรู้สึกมีไข้ และหากทันตแพทย์ไม่สามารถพบคุณได้ในทันที คุณก็ควรไปห้องฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นไปได้ว่าอาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าการติดเชื้ออาจแพร่กระจายไปยังขากรรไกรและเนื้อเยื่อรอบข้างได้

วิธีเดียวที่จะกำจัดความเจ็บปวดและอาการป่วยได้ก็คือการรักษาทางทันตกรรมที่เหมาะสม คุณอาจรู้สึกปวดน้อยลงถ้าฝีแตกออก แต่คุณยังคงต้องรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ การติดเชื้ออาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของขากรรไกรหรือไปยังส่วนของศีรษะและคอ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด อาจนำไปสู่ภาวะติดเชื้อ ซึ่งเป็นการติดเชื้อทั่วทั้งร่างกายที่อาจทำให้ชีวิตคุณตกอยู่ในความเสี่ยง

การทดสอบและการวินิจฉัย

นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพฟันตามปกติ ทันตแพทย์ของคุณอาจทำการทดสอบพิเศษสองสามอย่างเพื่อยืนยันว่าคุณมีฟันเป็นฝี ได้แก่:

  • การแตะฟัน ฟันที่เป็นฝี มักจะไวต่อการสัมผัสหรือกด ดังนั้นทันตแพทย์อาจใช้ทั้งสองอย่างกับฟันที่มีปัญหาเพื่อวัดระดับความเจ็บปวดของคุณ
  • การเอ็กซเรย์ การเอ็กซเรย์ หรือการทดสอบภาพวินิจฉัยอื่นๆ (อย่างซีที สแกน) สามารถช่วยวินิจฉัยฝีได้ ดังนั้นทันตแพทย์ของคุณอาจจำเป็นต้องทำการเอ็กซเรย์บางอย่างเพื่อยืนยัน
  • การทดสอบในห้องปฏิบัติการ หากยาปฏิชีวนะกลุ่มแรกไม่ช่วยต้านการติดเชื้อ ทันตแพทย์ของคุณอาจเก็บตัวอย่างการติดเชื้อไปค้นหาว่าแบคทีเรียชนิดใดเป็นต้นเหตุ ซึ่งจะช่วยระบุแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคตได้

การรักษาฝีในฟัน

การรักษาฝีในฟันเกี่ยวข้องกับการระบายฝีและการกำจัดบริเวณที่ติดเชื้อ ฟันอาจถูกช่วยด้วยการรักษาคลองรากฟัน แต่ในบางกรณี ก็อาจจำเป็นต้องถอนออก และการไม่รักษาฝีในฟันอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงถึงชีวิตได้ ทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์ช่องปากของคุณจึงอาจแนะนำให้ทำสิ่งต่อไปนี้:

  • ขั้นตอนการรักษาคลองรากฟัน หากเป็นไปได้ ทันตแพทย์จะพยายามช่วยฟันของคุณด้วยการรักษาคลองรากฟัน ฟันจะได้รับการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่ด้านนอก แล้วเจาะและทำความสะอาดภายใน จากนั้นจึงเติมด้วยกาวซีเมนต์ที่ปลอดภัยเพื่อบูรณะโครงสร้างให้กลับมาสมบูรณ์ (และปกป้องฟันจากการติดเชื้อในอนาคต) และหากได้รับการดูแล ฟันที่ได้รับการบูรณะนี้จะคงอยู่ตลอดชีวิตของคุณ
  • ถอนหรือดึงฟันที่ได้รับผลกระทบ การถอนฟันคือทางออกสุดท้าย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาฟันได้ ทันตแพทย์จะเลือกตัวเลือกนี้เพื่อรักษาสุขภาพช่องปากส่วนที่เหลือของคุณ เมื่อถอน ฝีจะถูกระบายออกจนหมดและได้รับการทำความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม
  • ยาปฏิชีวนะ หากมีการติดเชื้อในบริเวณที่เป็นฝี คุณอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ แต่หากการติดเชื้อแพร่กระจาย ทันตแพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยชะลอหรือลดการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ

ขณะที่บริเวณนั้นกำลังหายดี ทันตแพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ เป็นประจำ และใช้ยาบรรเทาอาการปวดที่หาซื้อได้ทั่วไปตามความจำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่สบายที่คุณอาจเจอ

การป้องกันฝีในฟัน

คุณสามารถป้องกันไม่ให้เกิดฝีในฟันได้ด้วยการดูแลฟันอย่างเหมาะสม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ ต่อไปนี้คือแนวทางการปฏิบัติทั่วไปบางประการเพื่อทำให้แน่ใจว่าคุณมีช่องปากที่สะอาดแข็งแรง

  • ดื่มน้ำผสมฟลูออไรด์
  • ใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง (หรือหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ)
  • หากขนแปรงหลุดลุ่ย ให้เปลี่ยนแปรงสีฟัน หรือแค่เปลี่ยนทุกๆ สามถึงสี่เดือนตามหลักการทั่วไป
  • ใช้ไหมขัดฟันหรืออุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์กำจัดเชื้อจุลินทรีย์หรือผสมฟลูออไรด์เพื่อช่วยกำจัดเศษอาหารที่เหลืออยู่หลังรับประทานอาหาร
  • รับประทานอาหารที่สมดุลและปราศจากน้ำตาลมากขึ้น
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพฟันและทำความสะอาดจากทันตแพทย์เป็นประจำ

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับกิจวัตรการดูแลช่องปากของคุณหรือรู้สึกว่าอาจมีฝีในฟันในระยะเริ่มต้น โปรดติดต่อทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบ ทันตแพทย์จะตอบคำถามของคุณและพิจารณาว่าคุณจำเป็นต้องรักษาฝีในฟันหรือไม่

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม