สมุนไพรเพื่อสุขภาพช่องปาก
Badge field

สมุนไพรเพื่อสุขภาพช่องปาก

Published date field

สมุนไพรเพื่อสุขภาพช่องปาก

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพืชสมุนไพรนานาชนิด ส่วนประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นราก ดอก ใบ เปลือก ผล เมล็ด ก็ล้วนแล้วแต่นำมาใช้ประโยชน์ทางยาได้ทั้งสิ้น นับว่าเป็นความชาญฉลาดของคนไทยในอดีตที่นำพืชแต่ละชนิดมาใช้ประโยชน์เป็นยาในการรักษาโรค จากภูมิปัญญาชาวบ้านจึงก่อให้เกิดการวิจัยและรวบรวมข้อมูลสมุนไพรไทยไว้มากมายในปัจจุบัน และพบว่ามีสมุนไพรไทยหลายชนิดที่มีสรรพคุณช่วยดูแลสุขภาพช่องปากได้เป็นอย่างดี

ด้วยเหตุนี้ ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพช่องปากที่ทำจากสมุนไพรจึงถูกผลิตออกมาให้เลือกซื้อเลือกใช้กันมากมายในรูปแบบของยาสีฟัน น้ำยาบ้วน ไหมขัดฟัน ไม้ขัดฟัน ฯลฯ โดยเฉพาะกับยาสีฟันสูตรสมุนไพรที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะช่วยให้ช่องปากสะอาดได้เหมือนยาสีฟันสูตรปกติแล้ว ยาสีฟันสมุนไพรยังช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

โดยสมุนไพรที่ช่วยดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพช่องปากได้ดีก็มีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด แต่ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้จะมีอยู่ด้วยกัน 5 ชนิดครับ คือ กานพลู, สะเดา, น้ำผึ้ง, มะขามป้อม และโหระพา ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีสรรพคุณที่โดดเด่นแตกต่างกันไปในเรื่องของสุขภาพช่องปาก ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้

กานพลู

กานพลู (Clove) เป็นสมุนไพรที่ได้จากดอกตูม (ดอกที่โตเต็มที่ แต่ยังไม่บาน) ของต้นกานพลู (Syzygium aromaticum (L.) Merr. & L.M.Perry) กานพลูจัดเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นเฉพาะ หอมแรง เป็นยาที่มีรสเผ็ดร้อนและฝาด โดยดอกกานพลูจะมีสรรพคุณและประโยชน์ที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก ดังนี้ครับ

  • สรรพคุณกระจายเสมหะ ช่วยแก้เสมหะเหนียวข้น เนื่องจากมีรสเผ็ดร้อน[1]

  • ช่วยแก้อาการปวดฟัน เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ระหว่างอมจึงอาจรู้สึกชาปากได้เล็กน้อย (ตามตำรายาสมุนไพรจะใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรงบริเวณฟันที่มีอาการปวด)[1],[2]

  • ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน (ใช้สำลีพันปลายไม้จุ่มน้ำมันที่กลั่นได้จากดอกประมาณ 4-5 หยด ทาบริเวณที่เป็น)[1]

  • ช่วยดับกลิ่นปาก (ในสมัยโบราณจะใช้ดอกกานพลูตามประมาณ 2-3 ดอก นำมาอมไว้ในปากเพื่อระงับกลิ่นปากให้น้อยลง)[1]

  • ใช้แต่งกลิ่นยาสีฟัน รวมไปถึงใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องปากทั้งยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก[1]

สะเดา

สะเดา (Neem) มีชื่อวิทธิยาศาสตร์ว่า Azadirachta indica A. Juss. ในทางสมุนไพรจะนิยมใช้ส่วนของยอดและดอกมาใช้เป็นยา (แต่ส่วนอื่น ๆ ก็มีสรรพคุณทางยาเช่นกัน) โดยจะมีสรรพคุณและประโยชน์ที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก ดังนี้

  • ช่วยบำรุงสุขภาพช่องปาก บำรุงเหงือกและฟัน และมีประโยชน์ในด้านการป้องกันโรคทางปริทันต์ต่าง ๆ จึงนิยมนำมาสกัดเป็นส่วนผสมของยาสีฟันสูตรสมุนไพร[5],[6]

  • ช่วยลดการอักเสบของเหงือก (สารสกัดที่ได้จากใบสะเดาจะมีฤทธิ์ต่านการอักเสบและยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในช่องปากได้หลายชนิด เช่น Porphyromonas gingivalis, Fusobacterium nucleatum, Streptococcus mutans, S. salivarious) จึงมีการนำสมุนไพรชนิดนี้มาสกัดทำเป็นน้ำยาบ้วนปากเพื่อลดการอักเสบของเหงือก[3],[6]

  • ช่วยลดอาการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก[5] และลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก (ทดลองโดยการใช้สะเดาในรูปของเจลทาภายในช่องปาก โดยทาวันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและก่อนเข้านอน ติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า นอกจากจะสามารถช่วยยับยั้งการเกิดคราบจุลินทร์ในช่องปากได้ดีกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอกแล้ว ยังสามารถยับยั้งปริมาณของเชื้อแบคทีเรียในช่องปากอย่าง S. mutans และ Lactobacillus sp. ได้ด้วย)[3]
  • น้ำยาล้างรากฟันอย่างโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium Hypochlorite) ที่ใช้ป้องกันการติดเชื้อในระหว่างการรักษารากฟันนั้นสามารถส่งผลข้างเคียงให้เนื้อฟันบางและอ่อนแอลงได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการศึกษาใช้สมุนไพรทางเลือกธรรมชาติอย่างสะเดา โดยผลลัพธ์พบว่าสะเดามีคุณสมบัติในการต้านจุลินทรีย์อย่างมีนัยสำคัญและเทียบเคียงกันได้กับโซเดียมไฮโปคลอไรท์[6]

  • ช่วยป้องกันฟันผุ เนื่องจากสะเดามีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ[6]

  • ช่วยป้องกันและลดการเกิดคราบจุลินทรีย์หรือคราบหินปูนสะสมในช่องปากได้ (ผลจากการใช้น้ำยาบ้วนปากที่สกัดจากใบสะเดา นอกจากจะช่วยลดระดับความรุนแรงของโรคเหงือกอักเสบได้แล้ว ยังพบว่าการกลั้วปากติดต่อกัน 7 วันก็ช่วยลดคราบจุลินทรีย์ได้ด้วย)[3],[6]

  • สำหรับผู้ที่จัดฟันซึ่งมักเผชิญปัญหาในการดูแลความสะอาดช่องปาก ยาสีฟันสูตรสมุนไพรที่มีส่วนผสมของสะเดาจะช่วยป้องกันแบคทีเรียหลาย ๆ ชนิดในช่องปากที่สามารถผลิตกรดและก่อให้เกิดคราบหินปูนบริเวณซอกฟันที่ติดเครื่องมือทันตกรรมจัดฟันชนิดติดแน่นได้[6]

  • ช่วยลดอาการเลือดออกตามไรฟัน (เมื่อนำสารสกัดสะเดามาใช้กลุ่มอาสาสมัครทดลอง พบว่าระดับการมีเลือดออกตามไรฟันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ)[3],[5],[6]

  • ช่วยแก้ริมฝีปากเป็นแผล เจ็บแผลเมื่อกินรสจัด กินอาหารไม่ค่อยได้ มีอาการเจ็บคอ ด้วยการกินยอดอ่อนสะเดาลวก 3 วัน[4]

  • ช่วยแก้อาการร้อนใน ปากเป็นแผล และปากมีกลิ่นเหม็น ด้วยการใช้ยอดสะเดาลวกน้ำ 2-3 น้ำ แล้วนำมากินกับข้าว[4]

  • ช่วยแก้อาการเจ็บคอ หรือใช้เสียงมากเกินไป โดยใช้กิ่งสะเดานำมาเคี้ยว ๆ อม ๆ แล้วค่อย ๆ กลืน อาการจะเริ่มทุเลา[4]

  • ช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบ เลือดออกตามไรฟัน โดยใช้เปลือกสะเดานำมาต้มกับเกลือ 10-15 นาที ใช้อมวันละ 2-3 ครั้ง[4]

  • ช่วยลดอาการเสียวฟัน ซึ่งตามข้อมูลระบุว่าใช้ไม้สะเดานำมาสีฟัน (เข้าใจว่าน่าจะเป็นส่วนของกิ่งสะเดานำมาทุบให้เป็นแปรง)[4]

  • ช่วยลดอาการฟันโยกคลอน โดยใช้เปลือกสะเดายาว 2-3 นิ้ว นำมาขูดเอาเปลือกนอกดำ ๆ ออก ทุบปลายให้แตกพอให้ส่วนปลายอ่อน ๆ แล้วนำมาถูกฟัน (ถูเสร็จให้ตัดออก จะใช้ครั้งต่อไปก็ให้ทุบใหม่)[4]

น้ำผึ้ง

น้ำผึ้ง (Honey) ยาอายุวัฒนะที่มีสรรพคุณหลากหลาย แต่สำหรับสรรพคุณที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพช่องปากที่พบมีดังนี้

  • ช่วยทำให้ชุ่มคอ ลดความแห้ง แก้อาการไอ เหมาะสำหรับอาการไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ไอเรื้อรัง[8]

  • การรับประทานน้ำผึ้งจำนวนเล็กน้อยก่อนนอนอาจช่วยลดอาการไอในเด็กได้ (เป็นผลการทดลองในเด็กอายุ 2-18 ที่พบว่า สามารถช่วยลดอาการไอตอนกลางคืนและอาการนอนไม่หลับที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้)[7]

  • น้ำผึ้งอาจมีประโยชน์ต่อการรักษาแผลหลายชนิดรวมถึงแผลในช่องปากให้หายเร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากน้ำผึ้งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ลดการติดเชื้อ ต้านการอักเสบและเชื้อแบคทีเรีย[7]

  • น้ำผึ้งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลเยื่อบุช่องปากอักเสบซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการฉายรังสีได้ (มีงานวิจัยระบุว่า การบริโภคน้ำผึ้ง 20 มิลลิลิตร หรือใช้ผ้าก๊อซชุบน้ำผึ้งแปะบริเวณแผล สามารถช่วยลดอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ อาการกลืนลำบาก และน้ำหนักตัวที่ลดลงเนื่องจากการรักษาด้วยการฉายรังสีในผู้ป่วยโรคมะเร็งศีรษะและลำคอได้ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่าการทาน้ำผึ้ง 15 มิลลิลิตรหลังจากการรับการรักษาด้วยรังสีบำบัดทุก 5 ครั้ง ให้ผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอที่มีอาการเยื่อบุช่องปากอักเสบ)[7]

  • การรับประทานน้ำผึ้งมานูก้าชนิดเคี้ยวได้หลังมื้ออาหาร ครั้งละ 10 นาที วันละ 3 ครั้ง นาน 21 วัน สามารถช่วยลดคราบหินปูนและการมีเลือดออกที่เหงือกได้ (แต่คุณสมบัติด้านนี้ของน้ำผึ้งยังคงไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป)[7]

มะขามป้อม

มะขามป้อม (Amla) สมุนไพรที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus emblica L. ส่วนของผลที่มีรสเปรี้ยวอมฝาดนิยมนำมาใช้เป็นยา โดยสรรพคุณและประโยชน์ที่เกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก มีดังนี้

  • ช่วยละลายเสมหะ ขับเสมหะ กระตุ้นน้ำลาย แก้กระหายน้ำ แก้ปากคอแห้ง ช่วยทำให้สดชื่น (ใช้เนื้อผลแก่สดครั้งละประมาณ 2-3 ผล โขลกพอแหลก ใส่เกลือเล็กน้อย แล้วนำมาอมหรือเคี้ยวกินวันละ 3-4 ครั้ง หรือใช้ผลสด 15-30 ผล นำมาคั้นเอาน้ำ หรือต้มทั้งผลแล้วดื่มแทนน้ำเป็นครั้งคราว)[9],[10]

  • เมื่อรู้สึกคอแห้ง กระหายน้ำจัด การดื่มน้ำมากกะทันหันอาจทำให้จุกเสียดไม่สบายได้ ถ้าได้อมมะขามป้อมก่อน ออาการกระหายน้ำและคอแห้งจะรู้สึกดีขึ้น ไม่ทำให้ดื่มมาก จึงเหมาะสำหรับผู้ต้องเดินทางไกลหรือการวิ่งมาราธอน[10]

  • ช่วยบรรเทาอาการไอ (จากการทดลองพบว่า จำนวนครั้งของการไอ ความถี่ของการไอ และความรุนแรงของอาการไอขณะหายใจเข้าและออกลดลง) รวมถึงอาการเจ็บคอ เป็นหวัด ส่วนวิธีใช้ก็เช่นเดียวกับการใช้ขับเสมหะในข้อแรก[9],[10]

  • ช่วยบำรุงเสียง เพราะมีคุณสมบัติทำให้ชุ่มคอ คอไม่แห้ง เสียงจะสดใส นักร้องสมัยก่อนจึงมักจะเฉือนลูกมะขามป้อมชิ้นหนึ่งมาอมไว้จนร้องเสร็จเพื่อป้องกันไม่ให้เสียงแห้ง[10]

  • ช่วยแก้อาการเลือดออกตามไรฟัน เนื่องจากสมุนไพรชนิดนี้มีวิตามินซีสูงมากและดูดซึมได้เร็วกว่าวิตามินซีแบบเม็ด (มะขามป้อมที่นำมาผ่านการต้มหรือตากแห้ง แม้จะทำให้วิตาซีลดลง แต่ก็ยังเพียงพอที่ใช้รักษาอาการนี้ได้)[9],[10]

  • สารสกัดจากมะขามป้อมมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, S. epidermidis, Streptococcus pyogenes และ Propionibacterium acnes นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นปากและโรคภายในช่องปากอย่าง S. aureus, S. mutant และ Escherichia coli[9]

  • ช่วยรักษาสุขภาพช่องปาก โดยป้องกันแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุและกลิ่นปาก[11]

โหระพา

โหระพา (Sweet Basil) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum basilicum L. ในทางสมุนไพรส่วนของใบและลำต้นจะมีน้ำมันหอมระเหยที่มีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคได้หลายชนิด มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แต่สรรพคุณและประโยชน์ในแง่ของสุขภาพช่องปากนั้นจะมีดังนี้

  • ใบนำมาตากแห้งชงกับน้ำร้อน ใช้อมกลั้วคอแก้กลิ่นปากหรือลมหายใจมีกลิ่นเหม็น[12]

  • น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบและลำต้นสามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นยาสีฟันและยาที่ใช้กับปากและคอได้[12]

ยาสีฟันสูตรสมุนไพร

สำหรับยาสีฟันสูตรสมุนไพร ในปัจจุบันก็อยู่ด้วยกันหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีส่วนผสมของสมุนไพรที่แตกต่างกันออกไป โดยยี่ห้อที่มีส่วนผสมของสมุนไพรทั้ง 5 ชนิดดังกล่าว (กานพลู, สะเดา, น้ำผึ้ง, มะขามป้อม และโหระพา) ก็คือ “ยาสีฟันคอลเกตปัญจเวท” ครับ ซึ่งหากเราพิจารณาดูจากสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิดกันดี ๆ แล้วก็ไม่สงสัยเลยว่าทำไมคอลเกตจึงเลือกใช้สมุนไพร 5 ชนิดนี้ผสมกันทำเป็นผลิตภัณฑ์ยาสีฟันสูตรสมุนไพรในชื่อ “คอลเกต เนเชอรัลส์ ปัญจเวท” เพราะเรียกได้ว่าจัดครบทุกปัญหาช่องปากที่พบได้บ่อยเลยก็ว่าได้ครับ ตั้งแต่การช่วยบำรุงสุขภาพช่องปาก บำรุงเหงือกและฟัน และช่วยป้องกันโรคทางปริทันต์ต่าง ๆ

ยาสีฟันสมุนไพรคอลเกตปัญจเวท

หากท่านใดสนใจก็หาซื้อมาใช้กันได้ครับ ที่สำคัญคือราคาไม่แพงเลยเริ่มต้นเพียง 47 บาท ! (หลอด 40 กรัม) โดยหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปเลยครับ

เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “กานพลู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [23 ส.ค. 2019].

  2. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “กานพลู”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [23 ส.ค. 2019].

  3. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สะเดา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [23 ส.ค. 2019].

  4. KU eMagazine มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. "สะเดามากคุณค่า เกินคาดเดา". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.ku.ac.th/e-magazine. [23 ส.ค. 2019].

  5. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รามาธิบดีเพื่อผู้ป่วยและสุขภาพ. “สะเดา หวานเป็นลมขมเป็นยา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th/patient_care/. [23 ส.ค. 2019].

  6. พบแพทย์ดอทคอม. “สะเดา หวานเป็นลม ขมเป็นยา จริงหรือไม่”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [23 ส.ค. 2019].

  7. พบแพทย์ดอทคอม. “น้ำผึ้งกับประโยชน์ทางการแพทย์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pobpad.com. [23 ส.ค. 2019].

  8. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 360 คอลัมน์ : แพทย์แผนจีน. “น้ำผึ้ง ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน”. (นพ.วิทวัส วัณนาวิบูล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [24 ส.ค. 2019].

  9. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “สะเดา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [23 ส.ค. 2019].

  10. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 309 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก. “มะขามป้อม สมุนไพรที่ไม่ควรมองข้าม”. (ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [24 ส.ค. 2019].

  11. เทคโนโลยีชาวบ้าน. “มะขามป้อม ผลไม้เพื่อสุขภาพและสมุนไพรพื้นบ้าน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.technologychaoban.com. [23 ส.ค. 2019].

  12. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 216 คอลัมน์ : เรื่องเด่นจากปก. “โหระพา ผักใบที่มีกลิ่นหอมหวานและหลากสายพันธุ์”. (เดชา ศิริภัทร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [24 ส.ค. 2019].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม