ปวดฟันในขณะท้องหรือตั้งครรภ์ - คอลเกต

สุขภาพช่องปากในระหว่างตั้งครรภ์

หากคุณกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะมีบุตร สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือนัดหมายกับทันตแพทย์ของคุณ แม้ว่าคำแนะนำนี้อาจดูน่าประหลาดใจ แต่นั่นก็เพราะเมื่อตั้งครรภ์ คุณจะเสี่ยงต่อการมีปัญหาทางทันตกรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งมักเกิดจากความผันผวนของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกิน การสัมผัสกับกรดที่มากขึ้น และกิจวัตรการดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่สมบูรณ์แบบ

นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพช่องปากของสตรีมีครรภ์ยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งแม่และลูกน้อยอีกด้วย ดังนั้น เพื่อป้องกันอาการปวดฟัน ปัญหาเหงือก หรือความผิดปกติอื่นๆ ในช่องปากระหว่างตั้งครรภ์ กลยุทธ์ที่ดีที่สุดของคุณคือการเริ่มด้วยการเข้าพบทันตแพทย์ ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อป้องกันปัญหาในช่องปากตลอดการตั้งครรภ์ของคุณ

การเข้าพบทันตแพทย์ในระหว่างตั้งครรภ์ปลอดภัยหรือไม่

ทั้งทันตแพทย์และสูตินรีแพทย์ต่างก็ต้องการให้เหล่าคุณผู้หญิงเข้าพบทันตแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ ด้วยวิธีนี้ ทันตแพทย์จะสามารถตรวจสอบและทำความสะอาดช่องปากอย่างละเอียด รวมทั้งรักษาปัญหาทางทันตกรรมที่มีอยู่ได้ ซึ่งช่วยให้คุณคลายความกังวลในระหว่างตั้งครรภ์ไปได้อีกเรื่อง

แต่หากคุณตั้งครรภ์แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเลื่อนการนัดหมายตามปกติของคุณ โรงพยาบาลเปาโลยืนยันว่าการเข้าพบทันตแพทย์ในระหว่างตั้งครรภ์นั้นปลอดภัย ซึ่งรวมถึงการรักษาทางทันตกรรมส่วนใหญ่ การเอ็กซเรย์ (ทำตามข้อควรระวัง) และการใช้ยาชาเฉพาะที่ แต่หากคุณต้องการการรักษาทางทันตกรรม ก็ขอแนะนำให้รอถึงช่วงไตรมาสที่ 2 ถ้าเป็นไปได้

เพียงจำไว้ว่า คุณจำเป็นต้องแจ้งผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณ:

  • ทันทีที่คุณทราบ หรือแม้แต่สงสัยว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
  • คุณตั้งครรภ์มานานแค่ไหนแล้ว
  • หากคุณกำลังใช้ยาตามใบสั่งแพทย์ หรือยาที่ซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
  • หากการตั้งครรภ์ของคุณถือว่ามีความเสี่ยงสูง

แน่นอนว่าทุกครั้งที่คุณรู้สึกปวดฟันในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาเหงือก ก็อย่าได้รอจนหลังคลอดบุตร ให้ติดต่อทันตแพทย์ของคุณทันทีที่พบสัญญาณแรกของปัญหาทางทันตกรรม

วิธีบรรเทาอาการปวดฟัน

เรารู้ดีว่าคุณพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดขณะตั้งครรภ์ แต่อาจมีบางครั้งที่คุณอาจประสบกับอาการปวดฟันมากจนทนไม่ไหวในระหว่างตั้งครรภ์ ก่อนที่คุณจะสามารถไปพบทันตแพทย์ของคุณได้

หากคุณต้องการบรรเทาอาการปวด ก็ให้ปรึกษาวิธีการเยียวยาเหล่านี้กับสูตินรีแพทย์ของคุณ:

  • อะเซตามิโนเฟน (แต่ให้หลีกเลี่ยงไอบูโพรเฟน แอสไพริน และยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์)
  • เบนโซเคน (ยาชาเจล)
  • ประคบเย็น (บริเวณแก้มที่ใกล้ฟันที่สุด)
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ (น้ำอุ่นหนึ่งแก้วต่อเกลือหนึ่งช้อนชา)

วิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดฟันผุ

เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุที่คุณเสี่ยงต่อการมีฟันผุในระหว่างตั้งครรภ์มากเป็นพิเศษ คุณก็ควรทราบเกี่ยวกับกลไกการเกิดฟันผุ:

  1. แบคทีเรียในช่องปากของคุณจะใช้น้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตที่คุณรับประทานเข้าไปในการผลิตกรด
  2. เมื่อเวลาผ่านไป กรดเหล่านี้จะทำลายเคลือบฟันของคุณให้ผุกร่อนจนเกิดเป็นฟันผุได้ เฉกเช่นเดียวกับอาหารรสเปรี้ยว ของเหลว และกรดไหลย้อน

ขณะตั้งครรภ์ คุณเสี่ยงต่อการมีฟันผุมากขึ้นด้วยเหตุผลต่อไปนี้:

  • กรดไหลย้อนอาจทำให้ฟันของคุณสัมผัสกับกรดมากขึ้น และอาจทำให้เคลือบฟันสึกกร่อนได้ในที่สุด
  • ความอยากอาหาร ตั้งแต่ไอศกรีมไปจนถึงผักดอง อาหารเหล่านี้อาจทำให้ฟันของคุณเสี่ยงต่อ"การทำลายของกรด"ได้
  • การอาเจียนเนื่องจากการแพ้ท้องอาจเพิ่มการสัมผัสของกรดกับฟันของคุณจนทำให้เคลือบฟันสึกกร่อนในที่สุด
  • ความเหนื่อยล้าหรือความเกียจคร้านที่มากเกินไปอาจทำให้คุณแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันลดลง ได้ด้วยหลายสาเหตุ เช่น คุณไม่รู้สึกกระตือรือร้นเหมือนเคย กลิ่นของผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากอาจทำให้คุณเบื่อ หรืออาจมีอาการเจ็บเหงือก

แต่แทนที่จะปล่อยปะละเลยการดูแลสุขภาพช่องปากของคุณ คุณกลับต้องเพิ่มขั้นตอนการดูแลสุขภาพช่องปากประจำวันของคุณในระหว่างตั้งครรภ์เพื่อป้องกันฟันผุ โดยคุณจะต้อง:

  • บ้วนปากด้วยน้ำผสมเบกกิ้งโซดาหนึ่งช้อนชาหลังอาเจียนเพื่อเจือจางและปรับสมดุลปริมาณกรดในช่องปากของคุณ
  • แปรงฟันบ่อยครั้งตลอดทั้งวันโดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มและยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ " บ่อยครั้ง" นั้นรวมถึงหลังรับประทานอาหารทุกมื้อ ของว่าง หรือหลังมีอาการแพ้ท้อง (หลังจากบ้วนปากเจือจางด้วยน้ำผสมเบกกิ้งโซดา)
  • ทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน (ตามปกติ) โดยใช้ไหมขัดฟัน ไหมขัดฟันพลังน้ำ หรือแปรงซอกฟัน
  • รับประทานขนมที่มีน้ำตาลให้น้อยที่สุด หากคุณมีของหวาน ก็ให้รับประทานหลังอาหารจานหลัก
  • บ้วนปากด้วยน้ำเมื่อไม่สามารถแปรงฟัน
  • บ้วนปากก่อนนอนด้วย น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือน้ำยาบ้วนปากธรรมดา
  • ดื่มน้ำเยอะๆ

ระวังปัญหาเหงือกและปัญหาอื่นๆ

นอกจากฟันผุและอาการปวดฟันแล้ว คุณแม่ก็อาจมีปัญหาในช่องปากอื่นได้เช่นกัน ปัญหาเหล่านี้อาจเกิดจากการที่ไม่ได้เพิ่มขั้นตอนการดูแลสุขภาพช่องปากประจำวันของคุณ หรือจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ให้ระวังปัญหาเหล่านั้นเอาไว้เพื่อที่คุณจะได้ปรึกษาทันตแพทย์ของคุณโดยเร็วที่สุด

ปัญหาเหงือกและเหงือกอักเสบจากการตั้งครรภ์: ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สตรีมีครรภ์จะมีเลือดออกตามไรฟันเมื่อแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่มาพร้อมกับการตั้งครรภ์นั้นอาจทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า ปัญหาเหงือกอักเสบจากการตั้งครรภ์

และเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานี้พัฒนาไปเป็นปัญหาเหงือกที่รุนแรงยิ่งขึ้น คุณควรปฏิบัติตามกิจวัตรการดูแลสุขภาพช่องปากเสริมที่บ้าน ซึ่งเราได้นำเสนอ นอกจากนี้ ทันตแพทย์ของคุณยังอาจแนะนำให้ทำความสะอาดช่องปากบ่อยขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เหงือกที่บอบบางของคุณระคายเคืองไปมากกว่าเดิม

"เนื้องอก" บนเหงือกจากการตั้งครรภ์: ในบางกรณี เนื้อเยื่อเหงือกบริเวณซอกฟันจะบวมแดงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ซึ่งปัญหาที่เรียกว่า "เนื้องอก" จากการตั้งครรภ์ที่ไม่ร้ายแรงเหล่านี้มีอาการเลือดออกได้ง่าย และอาจเกิดจากการมีคราบจุลินทรีย์สะสมมากเกินไป

หากคุณคิดว่าคุณเป็นหนึ่งใน "เนื้องอก" เหล่านี้ ก็ให้ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณ แต่ไม่ต้องกลัว: ปัญหานี้มักจะหายไปหลังจากมีสุขอนามัยช่องปากที่ดีขึ้นหรือคลอดบุตรแล้ว

ฟันโยก: นี่เป็นอีกหนึ่งภาวะแทรกซ้อนพิเศษจากการตั้งครรภ์ ฟันโยกอาจเกิดขึ้นได้แม้จะไม่มีปัญหาเหงือกเนื่องจากฮอร์โมนส่งผลต่อเอ็นที่ยึดฟันของคุณไว้ในกระดูก หากคุณสังเกตเห็นการโยกของฟันที่เพิ่งเกิดขึ้น ให้ไปพบทันตแพทย์ทันที

เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างปลอดภัยสุขภาพดี และลูกน้อยของคุณมีสุขภาพที่แข็งแรง คุณควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพช่องปากของคุณ ด้วยการพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมทันทีก่อนหรือหลังตั้งครรภ์ หรือหากคุณมีปัญหาในช่องปากระหว่างตั้งครรภ์ หลีกเลี่ยงไม่ให้มีอาการปวดฟันและปัญหาในช่องปากอื่นๆ ด้วยการเดินเกมการดูแลสุขภาพช่องปากของคุณ พูดคุยกับสูตินรีแพทย์เกี่ยวกับวิธีบรรเทาอาการปวดที่ปลอดภัย และในไม่ช้า คุณจะได้อาบน้ำให้ทารกแรกเกิดพร้อมกับรอยยิ้มสดใสสุขภาพดี

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม