การอุดฟันเจ็บไหม ขั้นตอนการรักษา และวิธีการป้องกัน - คอลเกต

อุดฟันเจ็บไหม?

ความเข้าใจเป็นพลังที่ช่วยให้เราเผชิญหน้ากับสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น หากกังวลว่าจะเจ็บหรือรู้สึกไม่สบายขณะทันตแพทย์อุดฟันที่เป็นรู (หรือที่เรียกว่าฟันผุ) ก็ให้กำลังใจตนเองหรือลูกของคุณด้วยข้อมูลของสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

ขั้นตอนการอุดฟัน

เพื่อช่วยไม่ให้รู้สึกเจ็บ ทันตแพทย์จะใส่ ยาชาเฉพาะที่ เพื่อให้บริเวณที่รักษาไม่มีความรู้สึก แทนการดมยาสลบ ทำให้คุณยังรู้สึกตัวตลอดเวลาที่ได้รับการรักษาและสามารถตอบโต้กับทันตแพทย์ได้ ลิโดเคนเป็นยาชาเฉพาะที่ที่ทันตแพทย์ใช้เป็นประจำ

การใส่ยาชาเฉพาะที่มี 3 ขั้นตอน โดยทันตแพทย์จะปฏิบัติดังนี้:

  1. ใช้ก้อนสำลีเช็ดหรือเป่าลมบริเวณด้านในปากให้แห้ง
  2. ป้ายเจลยาชาบริเวณเหงือก
  3. ฉีดยาชาลิโดเคนบริเวณเหงือกที่ชาแล้ว

เมื่อบริเวณที่รักษาชาเต็มที่ คุณจะไม่มีความรู้สึกใดๆ ขณะทันตแพทย์กำจัดเนื้อฟันส่วนที่ผุและอุดปิดรู

คุณทราบหรือไม่? การทำให้เหงือกชาช่วยลดอาการเจ็บเวลาทันตแพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่ สิ่งที่น่าสนใจคือ อาการเจ็บไม่ได้เกิดจากเข็มที่จิ้มเข้าไป แต่เกิดจากยาชาที่เคลื่อนเข้าไปทำให้เหงือกและช่องปากชา

อุดฟัน: หลังการรักษา

เมื่อยาชาค่อยๆ หมดฤทธิ์หลังการรักษา คุณอาจมีอาการเจ็บแปล๊บในช่องปาก บางคนอาจมีอาการเสียวที่ฟันหลังอุด โดยส่วนใหญ่ อาการเสียวจะค่อยๆ ลดลงในช่วง 2-3 วันต่อมา

ทันตแพทย์อาจให้คุณรับประทานยาแก้ปวดเพื่อช่วยลดอาการเจ็บที่เกิดขึ้นหลังการอุดฟัน ในกรณีเช่นนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็งหรือเหนียวก่อน

อุดฟัน: ควรโทรหาทันตแพทย์เมื่อไร

การอุดฟันควรทำให้สุขภาพช่องปากดีขึ้น รู้สึกสบายขึ้น ไม่ใช่แย่ลง อุดฟันเจ็บไหม? แม้ว่าคุณอาจมีอาการเจ็บได้บ้างหลังอุดฟันช่วงแรก แต่หลังจาก 2-3 วันแล้วไม่ควรมีอาการใดๆ

หากยังมีอาการนานกว่า 1 สัปดาห์ ควรโทรหาทันตแพทย์ ทันตแพทย์สามารถปรับแต่งวัสดุอุดฟันให้พอดีมากขึ้น

หากไม่มีอาการใดๆ หลังการรักษาช่วงแรก แต่เริ่มมีอาการปวดหรือไม่สบายเมื่อเวลาผ่านมาหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปี ก็ควรปรึกษาทันตแพทย์เช่นกัน

วัสดุอุดไม่สามารถคงอยู่ตลอดกาล นอกจากนี้ วัสดุอุดแต่ละชนิดยังมีอายุใช้งานแตกต่างกัน ทันตแพทย์สามารถตรวจฟันและให้ความมั่นใจแก่คุณได้

คุณทราบหรือไม่? หากอุดฟันมากกว่าหนึ่งซี่ เช่น อุดฟันบนและฟันล่าง คุณอาจรู้สึกเจ็บแปล๊บคล้ายไฟฟ้าสถิต ซึ่งวาบขึ้นในปาก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวัสดุอุดมีโลหะที่แตกต่างกัน อย่างอะมัลกัมในฟันซี่หนึ่งและทองในฟันคู่สบ เพื่อป้องกันอาการดังกล่าว ให้ทันตแพทย์ใช้วัสดุประเภทเดียวกันในการอุดฟันแต่ละซี่

อุดฟัน: หลีกเลี่ยงการรักษา

เพื่อเลี่ยงการอุดฟันในอนาคต ปฏิบัติตามแนวทางของโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหินดังนี้:

  • ดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์และแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์วันละสองครั้ง
  • หลีกเลี่ยงหรือลดการทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
  • ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน
  • พบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจและกำจัดสาเหตุก่อนฟันผุ

การปฏิบัติตามนี้ช่วยลดการเกิดฟันผุได้ แต่หากจำเป็นต้องอุดฟัน ทันตแพทย์ก็มีวิธีการช่วยคุณลดความเจ็บและความเครียดเท่าที่จะทำได้

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม