กลุ่มเพื่อน
Badge field

เหงือกไม่แข็งแรง? 3 สาเหตุที่จะทำให้คุณประหลาดใจ

Published date field

เมื่อพูดถึงเรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากตามปกตินั้น เรามักจะละเลยการดูแลเหงือกของเราให้แข็งแรงไปพร้อม ๆ กับฟันของเราด้วย แม้ว่าคุณจะแปรงฟันและไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอยู่เป็นประจำ แต่ส่วนมากแล้วฟันของเราก็จะได้เป็นดาวเด่นอยู่เสมอ ถึงแม้คุณสังเกตตัวเองและพบว่ารู้สึกปวดเหงือก หรือมีอาการเหงือกบวมขึ้นมา คุณอาจเข้าใจผิดว่านั่นเป็นอาการปวดจากโพรงในฟันของตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าสุขภาพเหงือกนั้นสำคัญมาก ๆ และควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเมื่อคุณดูแลสุขภาพช่องปากเนื่องจากเหงือกเป็นบริเวณของเนื้อเยื่อที่ติดกับฟันและทำหน้าที่ยึดและปกป้องฟันของคุณ เหงือกที่ไม่แข็งแรงและไวต่อความรู้สึกนั้นก็เป็นอีกหนึ่งอาการระคายเคืองภายในช่องปากด้วย

อาการของเหงือกที่ไวต่อความรู้สึก

อาการเหงือกบวมและอาการกดเจ็บที่เหงือกมักเป็นอาการของปัญหาเหงือกอักเสบ เมื่อพูดถึงเหงือกที่อ่อนแอแล้ว คนส่วนใหญ่คิดว่าสาเหตุมาจากปัญหาเหงือกอักเสบเพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วยังมีสาเหตุอื่นอีก เช่น เหงือกของคุณไวต่อความรู้สึกขณะทานของร้อนหรือเย็น หรือมีอาการอักเสบหรือเกิดแผลหลังออกแรงกดเช่น จากการแปรงฟัน เป็นต้น ลองพิจารณา 3 สาเหตุต่อไปนี้

1. แปรงฟันแรงเกินไป

เหงือกของบางคนอาจบอบบางต่อแรงกด โดยเฉพาะในคนที่เป็นปัญหาเหงือกอยู่แล้ว ดังนั้น การแปรงฟันแรงเกินไปหรือใช้ยาสีฟันที่มีสารขัดฟันมากเกินไปนั้น ก็อาจทำให้รู้สึกระคายเคืองที่เหงือกได้เช่นกัน จริง ๆ แล้วคุณไม่จำเป็นต้องใช้แปรงสีฟันที่แข็งทื่อเพื่อทำให้ฟันสะอาดหมดจด เพราะการทำความสะอาดฟันนั้นอยู่ที่เทคนิคการแปรงฟันต่างหาก ดังนั้น ผู้ที่มีเหงือกบอบบางก็ควรเลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม นอกจากนี้ ขณะที่แปรงฟัน แทนที่จะแปรงแบบหนัก ๆ เพื่อกำจัดแบคทีเรียและคราบหินปูนในปาก (ซึ่งกรณีที่มีคราบหินปูนนี้ต้องไปพบทันตแพทย์) อย่างเดียว ก็ให้หันมาใช้แปรงค่อย ๆ นวดเหงือกของคุณไปมาด้วย และหากคุณพบว่ายาสีฟันที่ใช้อยู่สร้างความระคายเคืองต่อเหงือก ให้ลองเปลี่ยนไปใช้ยาสีฟันที่ช่วยดูแลเหงือกโดยเฉพาะก็ได้

2. ฮอร์โมนเปลี่ยน

เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อฮอร์โมนในร่างกายของคุณเปลี่ยนแปลงก็ทำให้เหงือกของคุณอ่อนแอลงได้ อย่างเช่นหญิงที่ตั้งครรภ์กว่าร้อยละ 30 จะตรวจพบว่าเป็นปัญหาเหงือกอักเสบด้วย การที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงนั้นสามารถเปลี่ยนวิธีการที่ร่างกายของเราต่อสู้กับแบคทีเรียที่เข้ามาทางช่องปากของเรานั่นเอง จึงอาจส่งผลทำให้เหงือกอ่อนแอและฟันของคุณผุได้ง่ายด้วยเช่นกัน ดังนั้นในระหว่างตั้งครรภ์ คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าสุขภาพปากและฟันของคุณเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ

3. การระคายเคืองจากอาหารหรืออุปกรณ์ในช่องปาก

อาหารชนิดที่มีปริมาณกรดมาก รวมไปถึงอุปกรณ์ที่ใส่ในช่องปากอาจทำให้เหงือกของคุณไวต่อความรู้สึกและเกิดอาการเหงือกบวมไปจนถึงเป็นแผลที่เหงือกได้ โดยเฉพาะอาหารที่มีปริมาณกรดมากสามารถทำให้เหงือกเป็นแผลจนสามารถมองเห็นได้บนเนื้อเหงือกที่บอบบางในบริเวณขอบเหงือก แผลร้อนในมักเป็นอาการข้างเคียงที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกรดผลไม้ปริมาณสูง การดื่มเครื่องดื่มจำพวกโซดา หรือโยเกิร์ตที่หวานมากเกินไป เมื่อรู้ต้นตอแล้วและเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว คุณควรพยายามลดปริมาณอาหารที่เป็นกรดลง แล้วคอยสังเกตว่าอาการเหงือกไวต่อความรู้สึกนั้นหายไปภายใน 2-3 วันหรือไม่ คราวนี้เรามาดูอุปกรณ์ที่ใส่ในช่องปากอย่าง ลวดดัดฟัน รีเทนเนอร์ ฟันปลอม และอุปกรณ์กันฟันกระแทกกันบ้าง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ล้วนยึดโยงกับขอบเหงือกของคุณ ในบางกรณี อาการเหงือกไวต่อความรู้สึกจะหายไปเมื่อปากของคุณปรับตัวเข้ากับอุปกรณ์เหล่านี้ แต่ถ้าคุณยังรู้สึกเจ็บที่เหงือกอยู่ก็ควรไปพบทันตแพทย์ประจำตัวหรือทันตแพทย์จัดฟันเพื่อให้แก้ไขอุปกรณ์ให้พอดีกับช่องปากเพื่อลดอาการเหงือกไวต่อความรู้สึกได้

ปัญหาเหงือกมักเป็นสาเหตุของอาการเจ็บที่เนื้อเยื่อปริทันต์ แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ปัญหาเหงือกไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เหงือกของคุณไวต่อความรู้สึก ให้คุณลองพิจารณาสาเหตุอื่น ๆ ดูก่อน คุณอาจพบว่าจริง ๆ อาจเกิดจากพฤติกรรมทั่ว ๆ ไปของคุณเองที่ทำให้เจ็บเหงือก เหงือกบวม หรือกระทั่งเป็นแผลได้

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม