ผู้หญิงในเสื้อสีแดงที่กำลังเอามือขวาจับแก้มข้างหนึ่งจากอาการฟันโยก
Badge field

ฟันโยก เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร? สามารถรักษาและเก็บฟันไว้ได้หรือไม่

Published date field
Published date field อัพเดทล่าสุด
Published date field

ตรวจสอบทางการแพทย์โดย Colgate Global Scientific Communication

 

เรื่องใกล้ตัวที่หลายคนกำลังเผชิญและกังวลใจอย่าง "ฟันโยก" แม้คุณอาจจะเคยมีประสบการณ์ฟันโยกตอนเด็กๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการผลัดเปลี่ยนฟันน้ำนมสู่ฟันแท้ แต่สำหรับผู้ใหญ่ฟันโยกอาจเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพช่องปากที่ไม่ควรมองข้าม เราชวนคุณมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับปัญหาฟันโยกตั้งแต่สาเหตุ วิธีการรักษา ไปจนถึงคำถามที่พบบ่อย มาดูกันว่าเราจะสามารถ รักษาและเก็บฟันที่โยกเอาไว้ได้หรือไม่?

ฟันโยก เกิดจากอะไร? ไขข้อข้องใจ สาเหตุของอาการฟันโยก

หลายคนอาจจะสงสัยว่า "ฟันโยก เกิดจากอะไร?" จริงๆ แล้ว สาเหตุของอาการฟันโยกนั้นเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน เบื้องต้นเราขอแบ่งสาเหตุออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1. ฟันโยกแบบปกติ:

  • ฟันโยกในเด็ก: ฟันโยกในเด็กเกิดจากพัฒนาการตามวัย โดยฟันน้ำนมจะเริ่มโยกและหลุดออกเพื่อให้ฟันแท้งอกขึ้นมาแทนที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ไม่ต้องกังวลใจ

  • ฟันโยกจากการกดทับ: บางครั้งการกัดฟัน การนอนกัดฟัน หรือการรับประทานอาหารแข็งๆ เป็นประจำ ก็อาจทำให้เกิดแรงกดทับที่ส่งผลให้ฟันโยกได้เช่นกัน

2. ฟันโยกจากปัญหาสุขภาพช่องปาก

  • โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์

ปัญหาสุขภาพเหงือกเป็นสาเหตุหลักของอาการฟันโยกในผู้ใหญ่ ปัญหาเหงือกอักเสบหรือปริทันต์นั้นเกิดจากการคราบพลักของแบคทีเรียสะสมตัวขึ้นที่ฟัน บริเวณขอบเหงือกและกลายเป็นคราบแข็งที่เรียกว่า "หินปูน" คราบพลักสะสมจากการแปรงฟันที่ไม่สะอาดพอ หรือไม่ได้แปรงฟันและขัดฟันอย่างสม่ำเสมอ อาการเหงือกอักเสบมักจะมีเลือดออกง่ายและเหงือกร่นออกจากฟัน เหงือกที่ไม่แข็งแรงจะมีร่องลึกปริทันต์ (Periodontal Pocket) ขึ้นรอบ ๆ ฟัน เปิดทางให้เชื้อแบคทีเรียรวมถึงสารพิษที่เชื้อแบคทีเรียผลิตขึ้นมาเข้าสู่ร่องลึกปริทันต์ได้ จนเข้าทำลายกระดูกและเอ็นยึดปริทันต์ในที่สุด จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกาด้านทันตกรรม พบว่าปัญหาปริทันต์หรือรำมะนาดนั้นไม่ได้ทำร้ายเหงือกของคุณเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลเสียต่อเอ็นยึดปริทันต์และกระดูกที่อยู่รอบ ๆ ฟันอีกด้วย

** Note: พยายามดูแลสุขภาพเหงือกแล่ะฟันให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันภาวะเหงือกร่นและเกิดร่องลึกปริทันต์ หมั่นแปรงฟันให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันทุกวัน รวมถึงไปพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน 

  • ฮอร์โมนเนื่องจากการตั้งครรภ์

ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนที่สูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลทำให้เอ็นยึดปริทันต์และกระดูกรอบฟันอ่อนแอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ฟันโยกได้เช่นกัน แต่กรณีนี้จะเป็นเพียงชั่วคราวและไม่ถึงกับทำให้ฟันหลุด เว้นแต่คุณมีปัญหาแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ปัญหาเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ ดังนั้น หากคุณกำลังตั้งครรภ์ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูสุขภาพช่องปาก พร้อมรับคำแนะนำเพื่อดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้องเหมาะสมในช่วงเวลาพิเศษนี้ด้วย

  • ปัญหากระดูกพรุน

ปัญหากระดูกพรุน หมายถึงความหนาของมวลกระดูกน้อยลงส่งผลให้กระดูกเปราะบาง เช่นเดียวกับฟันเมื่อความหนาของมวลกระดูกรอบ ๆ ฟันน้อยลงแล้ว ฟันก็จะโยกคลอนได้ง่าย ข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ผู้หญิงที่มีภาวะกระดูกพรุนมีแนวโน้มฟันหลุดได้มากกว่าผู้หญิงที่ไม่เป็นปัญหานี้ถึง 3 เท่า นอกจากนี้ สมาคมทันตกรรมแห่งอเมริกา ยังแนะนำด้วยว่า ทุกครั้งที่พบทันตแพทย์ควรแจ้งให้ทราบว่า คุณกำลังรับประทานยารักษาปัญหากระดูกพรุนตัวใดอยู่บ้าง? แม้ว่าความเสี่ยงจะมีน้อย แต่ในบางกรณีอาจมีการต้านการออกฤทธิ์ของยาได้ และยารักษาปัญหากระดูกพรุนบางตัวอาจจะขัดขวางการรักษาอาการฟันโยกได้ หรือยาบางตัวอาจส่งผลถึงขั้น "ภาวะกระดูกตาย" ทำให้ฟันของคุณโยกเพิ่มขึ้น

  • การบาดเจ็บจากแรงกระแทก

 อุบัติเหตุต่างๆ อย่างการกระแทก หรือการหกล้ม ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันโยกหรือฟันหักได้เช่นกัน โดยเอ็นยึดปริทันต์ (เหงือก) และเนื้อเยื่อรอบ ๆ ฟันอาจยืดขยายได้เมื่อถูกแรงกระแทกอย่างแรงที่ฟัน เมื่อเอ็นยึดนี้เกิดการยืดขยายมากเกินไป ฟันของคุณก็จะโยกคลอนได้ หากคุณได้รับอุบัติเหตุและมีอาการฟันโยกแนะนำให้ไปพบทันตแพทย์ทันที เพื่อทำการรักษาก่อนที่ฟันจะหลุดออกมา

  • การสบฟันผิดปกติ หรือขาดวิตามินบางชนิด

ปัญหาการเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติ เช่น ฟันเก ฟันซ้อน อาจทำให้เกิดแรงกดทับที่ไม่เหมาะสมต่อฟันซี่อื่น ๆ จนทำให้ฟันโยกได้เช่นกัน รวมถึงการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น แคลเซียม วิตามินดี อาจส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ทำให้ฟันโยกได้ง่ายขึ้น

ฟันโยก อันตรายไหม? ผลเสียที่อาจเกิดขึ้นหากปล่อยไว้ไม่รักษา

หลายคนอาจจะกังวลว่า "ฟันโยกอันตรายไหม?" จริง ๆ แล้ว ฟันโยกจะอันตรายหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุและระดับความรุนแรงของปัญหา หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น

  • การสูญเสียฟัน: ถ้าฟันโยกมาก ๆ อาจหลุดออกได้ในที่สุด ทำให้สูญเสียฟันก่อนวัยอันควร

  • การติดเชื้อ: ร่องระหว่างเหงือกกับฟันที่โยกอาจกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และนำไปสู่การติดเชื้อที่เหงือกรวมถึงขากรรไกรได้

  • ปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร: ฟันโยกจะทำให้ประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารลดลง ส่งผลต่อระบบย่อยอาหารในระยะยาว

  • ปัญหาในการพูด: ฟันมีส่วนสำคัญในการออกเสียงเช่นกัน โดยฟันโยกอาจส่งผลต่อการออกเสียงบางคำได้

  • สูญเสียความมั่นใจ: ฟันโยกอาจทำให้เสียบุคลิกภาพและสูญเสียความมั่นใจในการยิ้ม การพูดคุย หรือแม้แต่การเข้าสังคม

ฟันโยกเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณควรใส่ใจเพื่อป้องกันการสูญเสียฟัน แนะนำให้นัดพบทันตแพทย์ทันทีเพื่อทราบระดับความรุนแรงของฟันโยกและตรวจให้แน่ใจว่ามีปัญหาอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่? เพื่อเข้ารับการรักษาฟันโยกได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะสูญเสียฟันของคุณไป

ฟันโยกจำเป็นต้องถอนหรือไม่? ทางเลือกในการรักษาฟันโยก

คำถามยอดฮิตที่หลายคนอยากรู้คือ "ฟันโยกจำเป็นต้องถอนหรือไม่?" จริง ๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องถอนเสมอไป การรักษาฟันโยกขึ้นอยู่กับสาเหตุและระดับความรุนแรงเป็นหลัก โดยมีเลือกในการรักษาฟันโยกเบื้องต้น ดังนี้

1. การรักษาโรคเหงือก: หากสาเหตุของฟันโยกเกิดจากโรคเหงือกอักเสบหรือโรคปริทันต์ ควรทำการรักษาโดยการขูดหินปูน กรณีที่โรคมีความรุนแรงทันตแพทย์อาจจะพิจารณาให้ผ่าตัด เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบของเหงือก

2. การจัดฟัน: กรณีที่ฟันโยกเกิดจากการสบฟันที่ผิดปกติ ทันตแพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการจัดฟัน เพื่อปรับการเรียงตัวของฟันและลดแรงกดทับที่ส่งผลให้ฟันโยก

3. การใส่เฝือกสบฟัน: สำหรับคนที่มีพฤติกรรมนอนกัดฟันที่อาจส่งผลให้ฟันสึก ปวดกล้ามเนื้อขากรรไกร หรือมีอาการปวดหัวเรื้อรังจากนอนกัดฟัน ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใส่ “เฝือกสบฟัน” (Occlusal Splint) เป็นอุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ทำมาจากวัสดุพิเศษ สวมใส่ในช่องปากเพื่อป้องกันการเสียดสีของฟันขณะนอนหลับ มีหลายแบบให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล การใส่เฝือกสบฟันจะช่วยป้องกันไม่ให้ฟันกระทบกันขณะนอนหลับ ลดแรงกดทับที่เป็นสาเหตุของฟันโยก และช่วยให้กล้ามเนื้อได้พักผ่อน

4. การถอนฟัน: กรณีที่ฟันโยกมาก ๆ ควบคู่กับมีอาการติดเชื้อรุนแรง หรือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้ถอนฟันซี่นั้นออก แล้วใส่ฟันปลอม สะพานฟัน หรือรากฟันเทียมทดแทนในภายหลัง 

เคล็ดลับการดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อป้องกันฟันโยกอย่างถูกวิธี

การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกวิธี ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันปัญหาฟันโยกได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเคล็ดลับง่าย ๆ ในการดูแลและป้องกันฟันโยก ดังนี้

  • แปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง: ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม แปรงเบา ๆ ให้ทั่วถึงฟันทุกซี่ อย่าลืมแปรงลิ้นเพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์

  • ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง: ไหมขัดฟันจะช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่แปรงสีฟันเข้าไม่ถึง ลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้อย่างดี

  • ใช้น้ำยาบ้วนปาก: น้ำยาบ้วนปากจะช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก เสริมสร้างสุขภาพเหงือกให้แข็งแรง

  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำร้ายฟัน: อย่างการกัดเล็บ การใช้ฟันกัด หรือใช้ฟันแกะสิ่งของ รวมไปถึงการรับประทานอาหารแข็ง ๆ หรือเหนียวจนเกินไป

  • พบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน: การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุก 6 เดือน จะช่วยให้คุณสามารถตรวจพบปัญหาสุขภาพช่องปากได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้การรักษาง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับใครที่กลัวว่าฟันจะโยก แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาหรือป้องกันได้อย่างรวดเร็ว ด้วยนวัตกรรมปัจจุบันคุณก็สามารถรักษาฟันโยกได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การทำความสะอาดช่องปากแบบล้ำลึก การผ่าตัดศัลยกรรมปริทันต์ หรือการรักษาด้วยวิธีบำรุงรักษาเหงือก เป็นต้น ที่สำคัญอย่าลืมดูแลสุขภาพช่องปากเป็นประจำ เพื่อเป็นกุญแจสำคัญสู่รอยยิ้มที่สดใสและฟันที่แข็งแรง