หญิงสาวยิ้มในร้านกาแฟ
Badge field

การจัดฟัน มีกี่แบบ? แบบไหนเหมาะกับคุณที่สุด?

Published date field

มีผู้คนจำนวนน้อยที่โชคดีเกิดมาแล้วมีฟันเรียงตัวสวยงาม แต่ถึงแม้ว่าคุณไม่ได้โชคดีมาแต่เกิด ทันตแพทย์จัดฟันก็สามารถช่วยจัดฟันของคุณหรือลูกคุณให้เรียงตัวสวยงามอย่างที่ต้องการได้ ทันตแพทย์จัดฟันอาจแนะนำการใส่เหล็กจัดฟันหรืออุปกรณ์จัดฟันดังต่อไปนี้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหา


เหล็กจัดฟันแบบทั่วไป
การใส่เหล็กจัดฟันเป็นวิธีที่ทันตแพทย์ใช้มานานแล้วและมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จะพบว่าเหล็กจัดฟันปัจจบันมีน้ำหนักเบาและมีโครงสร้างน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก เหล็กจัดฟันในปัจจุบันทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมคุณภาพสูง และมีแบร็คเก็ตโลหะติดอยู่กับฟันแต่ละซี่โดยใช้ซีเมนต์ประเภทหนึ่งช่วยยึดติด แบร็คเก็ตเหล่านี้จะเชื่อมกันด้วยลวดจัดฟันบาง ๆ ซึ่งจะเป็นตัวออกแรงไปที่ฟันเพื่อให้ฟันเคลื่อนที่ช้า ๆ ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ
ลวดจัดฟันจะเชื่อมต่อเข้ากับแบร็คเก็ตโดยใช้ยางเส้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "ลิเกเจอร์" หรือ "โอริง" ทันตแพทย์จัดฟันจะเปลี่ยนยางนี้ทุกครั้งที่ดึงเหล็กจัดฟันให้แน่นขึ้น เหล็กจัดฟันบางประเภทไม่จำเป็นต้องใช้ลิเกเจอร์หรือโอริงนี้ยึดติดกับแบร็คเก็ต ซึ่งเราเรียกเหล็กจัดฟันประเภทนี้ว่า เหล็กจัดฟันแบบไม่มียางมัด (Self-ligating brace)

เหล็กจัดฟันเซรามิก

เหล็กจัดฟันเซรามิกนี้จะทำงานในลักษณะคล้ายกันกับเหล็กจัดฟันแบบทั่วไป แต่แบร็คเก็ตทำมาจากวัสดุที่เป็นเซรามิกโปร่งใสจึงทำให้เหล็กจัดฟันแบบนี้มองเห็นไม่ชัด ผู้ใหญ่ที่ต้องการจัดฟันนิยมเลือกเหล็กจัดฟันประเภทนี้ ทันตแพทย์ในสหรัฐอเมริกาอย่าง Drs. William และ Lewis Chapman อธิบายว่าข้อเสียของเหล็กจัดฟันประเภทนี้คือบางครั้งเส้นยางรัดเปลี่ยนสีและทำให้เกิดรอยที่ฟัน ดังนั้นอาจจำเป็นต้องใช้ยาสีฟันที่ช่วยกำจัดคราบติดที่ฟันดังกล่าวเพื่อให้ผิวฟันมีสีสม่ำเสมอกันทั้งปาก

จัดฟันแบบดาม่อน
การจัดฟันด้วยวิธีนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากทำให้ผู้ที่จัดฟันมีอาการเจ็บน้อยกว่าและนัดพบทันตแพทย์น้อยครั้งกว่า การจัดฟันแบบดาม่อนเป็นการจัดฟันแบบไม่ต้องใช้ยางยึด แต่ใช้กลไกการเลื่อนฟันแทนยางยึดเชื่อมต่อลวดจัดฟัน
เหล็กจัดฟันแบบนี้ให้ผลการจัดฟันที่รวดเร็วกว่าเนื่องจากฟันเคลื่อนตัวด้วยตัวเอง ทำให้เกิดแรงเสียดทานและแรงดันไปที่ฟันน้อยกว่า จึงทำให้เจ็บน้อยกว่าวิธีจัดฟันแบบทั่วไป นอกจากนี้ เหล็กจัดฟันแบบดาม่อนดูแลรักษาและทำความสะอาดง่าย การเข้าพบทันตแพทย์จัดฟันน้อยครั้งกว่ามีผลให้ค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องใช้ในการจัดฟันด้วยวิธีนี้น้อยกว่าด้วย

จัดฟันใสถอดได้
Invisalign เป็นอุปกรณ์จัดฟันใสถอดได้ประเภทหนึ่งที่คุณสามารถเลือกใช้แทนการใส่เหล็กจัดฟันแบบทั่วไปหรือเหล็กจัดฟันดาม่อน ทันตแพทย์จัดฟันจะให้คุณใส่อุปกรณ์ครอบฟันใสลักษณะคล้ายฟันยางที่จัดทำมาสำหรับผู้จัดฟันแต่ละรายโดยเฉพาะ คุณต้องถอดอุปกรณ์จัดฟันใสแบบถอดได้นี้ออกเมื่อรับประทานอาหารหรือแปรงฟัน และจะต้องเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ 2 สัปดาห์เพื่อจัดให้ฟันของคุณอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ และแต่ละครั้งที่คุณเปลี่ยนอุปกรณ์จัดฟันใสแบบถอดได้นี้ ฟันของคุณก็จะปรับตัวกับตำแหน่งใหม่เรื่อย ๆ
ทันตแพทย์แนะนำให้ใช้อุปกรณ์จัดฟันใสแบบถอดได้นี้หลังการจัดฟันด้วยเหล็กจัดฟันเสร็จสิ้น อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้ฟันของคุณยังอยู่ในตำแหน่งที่คุณต้องการจนกว่าฟันของคุณจะอยู่ตัวและไม่เคลื่อนตัวอีกต่อไป

การจัดฟันด้วยอุปกรณ์ฟอร์ซัส
สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งอเมริกาแนะนำว่าช่วงอายุที่ดีที่สุดที่ควรไปพบทันตแพทย์จัดฟันเพื่อตรวจสภาพฟัน คือ 7 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการแก้ไขปัญหาสภาพฟัน เด็กบางคนต้องใช้อุปกรณ์จัดฟันฟอร์ซัสเพื่อช่วยให้รอยกัดที่ไม่สมดุลมีความสมดุลขึ้น และการแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่ยังเล็กสามารถช่วยลดปัญหาการที่ต้องจัดฟันเมื่อเด็กโตขึ้นได้ อุปกรณ์จัดฟันฟอร์ซัสมีลักษณะเป็นสปริงที่เด็ก ๆ ต้องใส่ไว้ที่ข้างแก้ม โดยที่สปริงนี้จะติดกับเหล็กจัดฟันเพื่อปรับขากรรไกรบนและล่างให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

อุปกรณ์ขยายขากรรไกรบน
สำหรับผู้ที่มีฟันซ้อน ทันตแพทย์มีสองทางเลือกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นั่นคือ การถอนฟันและการขยายขากรรไกรบน ในอดีตทันตแพทย์มักใช้วิธีการถอนฟัน แต่ปัจจุบัน ทันตแพทย์จัดฟันมีวิธีการรักษาด้วยการใส่อุปกรณ์ขยายขากรรไกรบนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอุปกรณ์ขยายขากรรไกรบนนี้จะเป็นอุปกรณ์ที่พอดีกับเพดานปากของคุณและจะออกแรงไปที่ด้านหลังของฟันกรามบนเพื่อให้ฟันของคุณเคลื่อนที่ออกจากกันช้า ๆ วิธีนี้จะช่วยขยายเพดานปากและทำให้สามารถใช้วิธีการจัดฟันวิธีอื่นช่วยเคลื่อนฟันของคุณไปยังตำแหน่งที่คุณต้องการได้

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม