กลิ่นปากหรือภาวะปากเหม็นนั้นเป็นปัญหาด้านสุขอนามัยในช่องปากที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจให้กับใครหลายคนที่กำลังประสบกับปัญหานี้อยู่ การหาสาเหตุที่แท้จริงของกลิ่นปากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาปัญหานี้ได้อย่างตรงจุดช่องปากเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นปาก เพราะเศษอาหารมักจะติดอยู่ตามร่องเหงือกหรือซอกฟัน หากบริเวณในช่องปากไม่สะอาดหรือมีแบคทีเรียสะสมก็จะทำให้เกิดกลิ่นปาก อีกหนึ่งสาเหตุหลักอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น กระเทียม หอมใหญ่ หรือแม้กระทั่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารที่มีกลิ่นจำพวกนี้อาจทำให้คุณมีกลิ่นปาก โดยอาหารเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและผ่านไปยังปอด ก่อให้เกิดเป็นลมหายใจที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่ในบางกรณี กลิ่นปากที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากอาการเจ็บป่วย เช่น ปัญหาจากโรคเบาหวาน ภาวะตับล้มเหลว หรือ อาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับไตเรียนรู้ที่จะรับมือกับกลิ่นปากด้วยเคล็ดลับง่ายๆ ดังต่อไปนี้
แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คุณควรแปรงฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวันและใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละครั้ง เพื่อขจัดเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ตามซอกฟันและร่องเหงือกอย่างมีประสิทธิภาพ
ทำความสะอาดลิ้น
เพราะการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันอาจไม่สะอาดเพียงพอ และลิ้นเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย เซลล์ที่ตายแล้ว และเศษอาหาร คุณจึงควรใช้แปรงสีฟันหรืออุปกรณ์ทำความสะอาดลิ้น
ดื่มน้ำบ่อยๆ
ภาวะปากแห้งเกิดจากการที่มีปริมาณน้ำลายในปากน้อยจึงไม่สามารถให้ความชุ่มชื้นแก่ปากได้เพียงพอ ซึ่งอาจมาพร้อมกับ "กลิ่นปากตอนเช้า" โดยเฉพาะตอนที่คุณเพิ่งตื่นนอนแต่ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงเวลา น้ำลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำความสะอาดช่องปาก ขจัดคราบและเศษอาหาร คุณจึงควรดื่มน้ำเป็นประจำตลอดวันเพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำลายในช่องปาก
เลือกรับประทานอาหาร
การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่นฉุน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดกลิ่นปากอาจทำได้ง่าย ทว่าการเอาใจใส่ต่อโภชนาการก็เป็นสิ่งสำคัญ อาหารที่มีคุณค่าทางโปรตีนสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้คุณมีกลิ่นปากได้ และการที่ร่างกายได้รับปริมาณคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายเผาผลาญไขมันแทนน้ำตาล ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดกลิ่นปากได้เช่นกัน
ปรึกษาทันตแพทย์
หากคุณดูแลรักษาสุขอนามัยทางช่องปากเป็นกิจวัตรแล้ว แต่ยังคงประสบกับปัญหากลิ่นปาก หรือลมหายใจไม่สดชื่นอยู่ แนะนำให้คุณไปพบทันแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าอาการลมหายใจไม่พึงประสงค์นี้เกิดจากสาเหตุอื่นที่รุนแรงกว่าที่คาดคิดหรือไม่