ฟันเป็นรูและฟันผุมักเกิดขึ้นกับเด็กๆ อย่างเดียวใช่ไหม คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรายงานว่าในกลุ่มเด็ก 12 ปีหรือวัยเรียน ร้อยละฟันผุที่ยังไม่ได้รักษา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงที่สุดคือร้อยละ 36.3 ในขณะที่ฟันผุที่ยังไม่ได้รักษาของประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 31.5 และแม้ว่าคุณจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ความเสี่ยงในการเกิดฟันผุก็ยังไม่หมดไป ในความเป็นจริง กลุ่มวัยทำงาน (35-44 ปี) พบว่าในเขตชนบทของประเทศไทยมีผู้ที่มีฟันผุแต่ยังไม่ได้รักษา มากที่สุดร้อยละ 46.6 รองลงมาคือเขตเมืองและกรุงเทพมหานครร้อยละ 40.9 และ 38.1 ตามลำดับ ซึ่งมากกว่ากลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงวัยอาจเป็นรากฟันผุ ซึ่งเป็นฟันผุประเภทที่เกิดบนรากฟัน
เกิดรากฟันผุได้อย่างไร
ไม่ว่าจะเกิดฟันผุขึ้นบนรากฟันหรือบนส่วนของฟันที่โผล่ออกมา ต่างก็มีกระบวนการเกิดฟันผุที่เหมือนกัน ฟันผุเกิดจากผลของกรด ซึ่งสร้างโดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในปากตามธรรมชาติและเจริญเติบโตด้วยน้ำตาล โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า การเกิดฟันผุ "โดยปกติแล้ว" กรดเหล่านั้นจะกัดกินส่วนที่เป็นเคลือบฟัน
แต่ทว่า ในกรณีของรากฟันผุ กรดจะกัดกินบริเวณเคลือบรากฟัน ซึ่งเป็นส่วนที่หุ้มรากฟันเอาไว้ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังระบุว่าเคลือบรากฟันนั้นแข็งแรงน้อยกว่าเคลือบฟัน และยังเสี่ยงที่เกิดฟันผุได้ง่ายอีกด้วย ในความเป็นจริง รากฟันผุเกิดเร็วกว่าฟันผุประเภทอื่นถึงสองเท่า
ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สามารถนำไปสู่การเกิดรากฟันผุคือภาวะเหงือกร่น เมื่อเหงือกร่นหรือหลุดออกจากฟัน รากฟันก็จะโผล่ออกมา เหงือกร่นเป็น "เงื่อนไขเบื้องต้น" ที่ทำให้เกิดรากฟันผุในเกือบทุกกรณี แต่ก็ยังมีการระบุว่า 10% ถึง 20% ของฟันผุบริเวณรากฟันจะเกิดอยู่ใต้ขอบเหงือก
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นรากฟันผุ
เป็นเรื่องปกติสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปในการเป็นรากฟันผุ นอกจากนี้ ผู้คนอายุ 70 ปีถือเป็น "อายุที่เสี่ยงที่สุด" ในการเป็นรากฟันผุ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการเป็นรากฟันผุสูงขึ้นในบรรดาผู้สูงอายุก็คือ ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเป็นเหงือกร่นมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า อีกทั้งการรักษาฟันตลอดชีวิตของผู้สูงอายุก็กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นในทุกวันนี้
และเช่นเดียวกับฟันผุประเภทอื่นๆ การดูแลฟันอย่างดีจะส่งผลโดยตรงต่อความเสี่ยงที่จะเป็นฟันผุของพวกเขา หากผู้สูงอายุสูญเสียความคล่องแคล่ว การแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันอาจกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นการหาวิธีรักษาสุขอนามัยของฟันธรรมชาติในช่องปากอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา นอกจากนี้ หากพวกเขาสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ หรือบริโภคน้ำตาลในปริมาณมาก ก็อาจเสี่ยงที่จะเป็นรากฟันผุมากขึ้น
วิธีการรักษารากฟันผุ
การรักษารากฟันผุนั้นคล้ายกับการรักษาฟันผุประเภทอื่นๆ หากทันตแพทย์ตรวจพบฟันผุตั้งแต่เนิ่นๆ พวกเขาอาจสามารถหยุดกระบวนการของฟันผุและป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมที่จะเกิดกับฟันได้ ซึ่งวิธีที่จะหยุดกระบวนของฟันผุ ได้แก่ การรักษาด้วยฟลูออไรด์ การทำความสะอาดฟันบ่อยๆ เพื่อขจัดคราบจุลินทรีย์ และลดปริมาณน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตอื่นๆ ในอาหารของคุณ ตามข้อมูลจากบทความของคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อรากฟันผุรุนแรงพอที่จะทำให้รู้สึกปวด หรือขัดขวางการทำงานของฟัน ก็มักจำเป็นต้องทำการรักษาฟันผุด้วยการบูรณะฟัน การบูรณะเกี่ยวกับการที่ทันตแพทย์ขจัดบริเวณส่วนที่ผุออก แล้วอุดด้วยวัสดุอุดฟัน เช่น เรซินคอมโพสิต หรืออะมัลกัม
สิ่งที่คุณสามารถทำได้เพื่อป้องกันรากฟันผุ
เราสามารถป้องกันการเกิดรากฟันผุและฟันผุประเภทอื่นได้ จากที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปไว้ ขั้นตอนเหล่านี้สามารถช่วยให้คุณหลีกเลี่ยงการเกิดฟันผุได้ทุกส่วนของฟัน:
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้งโดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์
- ทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟัน
- จำกัดปริมาณน้ำตาลในอาหารของคุณ
- ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟัน และทำความสะอาดช่องปากเป็นประจำ
- สอบถามทันตแพทย์เกี่ยวกับการรักษาด้วยฟลูออไรด์ในคลินิก
นอกจากนี้ หากคุณมีอาการเหงือกร่น ให้สอบถามทันตแพทย์ถึงสิ่งเพิ่มเติมที่คุณสามารถทำได้เพื่อฟื้นฟูสุขภาพเหงือก รวมถึงลดความเสี่ยงของการเกิดรากฟันผุ ด้วยการทำงานเป็นทีม คุณและทันตแพทย์จะสามารถดำเนินตามขั้นตอนเพื่อรักษาและป้องกันฟันผุเหล่านี้ได้