ยาแก้อักเสบเพื่อใช้บรรเทาอาการปวดฟัน - คอลเกต
Badge field

เมื่อใดที่คุณต้องใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อมีอาการปวดฟัน

เมื่อคุณมีอาการปวดฟันหรือเกิดการติดเชื้อที่ฟัน แล้วรู้สึกปวดฟันจนถึงขีดสุด คุณจะบรรเทาได้อย่างไร ในบางกรณี ทันตแพทย์ของคุณอาจจ่ายยาปฏิชีวนะให้ การทานยาแบบเดียวกับที่คุณเคยทานเมื่อติดเชื้อที่ทางเดินหายใจหรือที่หู เพื่อรักษาอาการปวดฟันอาจดูแปลก ถึงอย่างนั้น การติดเชื้อทุกจุด แม้แต่ภายในปาก ก็มีบางอย่างที่เหมือนกันคือ การที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ การติดเชื้อที่ฟันบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ดังนั้นทันตแพทย์คือผู้ตัดสินใจว่าเมื่อใดจึงเหมาะสมที่จะจ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับอาการปวดฟันให้กับคุณ

แบคทีเรียและฟันผุ

เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ทันตแพทย์ของคุณอาจจ่ายยาปฏิชีวนะสำหรับอาการปวดฟัน ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจว่าแบคทีเรียมีส่วนทำให้ฟันผุและปวดฟันได้อย่างไร หากไม่ได้แปรงฟันวันละสองครั้งด้วยเทคนิคที่เหมาะสม แบคทีเรียในปากอาจเติบโต และเปลี่ยนอาหารที่คุณรับประทานเข้าไปเป็นกรดสะสมอยู่บนฟันของคุณได้ จนทำให้เกิดฟันเป็นโพรงและเกิดฟันผุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลได้ระบุว่าปริมาณน้ำตาลที่รับประทานเป็นประจำสามารถเป็นตัวกระตุ้นแบคทีเรียที่ทำลายโครงสร้างฟันได้โดยเฉพาะ และจากการศึกษาใน วิทยาสารทันตสาธารณสุข ประเภทของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุเป็นหลักคือ สเตร็ปโตค็อกคัสมิวแทนส์ (Streptococcus mutans)

สาเหตุและการรักษาอาการปวดฟันทั่วไป

เมื่อแบคทีเรียทำลายผิวฟันจนเกิดเป็นรู โพรงฟันด้านในก็จะอ่อนแอลง โพรงฟันด้านในจะประกอบด้วยเส้นประสาทที่ส่งผ่านความรู้สึกให้ฟันของคุณ ถ้าแบคทีเรียมาถึงโพรงนี้ ก็อาจทำให้รู้สึกปวดและนำไปสู่ปัญหาทางทันตกรรมที่รุนแรงขึ้นจนอาจต้องใช้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

ตามการอ้างอิงของ โรงพยาบาลศิครินทร์ อาการปวดฟัน รวมถึงฟันผุ เนื้อเยื่อในอักเสบ และฝีในฟันนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่การเกิดฟันผุก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเสมอไป ตามที่โรงพยาบาลเปาโลระบุไว้ ฟันผุมักจะได้รับการรักษาด้วยการอุดฟัน หรืออาจจะเป็นการครอบฟัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อที่ฟัน หรืออาจต้องใช้การรักษารากฟันและครอบป้องกันเพื่อกันฟันจากแบคทีเรีย เมื่อการติดเชื้อที่ฟันลุกลามไปจนถึงเส้นประสาทของฟัน นอกจากนี้ หากฟันผุจนไม่สามารถรักษาได้ ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการถอนฟัน

เมื่อใดที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการปวดฟัน

เมื่อการติดเชื้อที่ฟันรุนแรงขึ้น หรือส่งผลกระทบต่อเหงือกรอบฟันที่งอก ทันตแพทย์ก็อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะ ตัวอย่างเช่น ฝาคลุมเหงือกอักเสบ (pericoronitis)ซึ่งเป็นการติดเชื้อในเนื้อเยื่อเหงือกที่สามารถเกิดขึ้นได้รอบๆ ฟันคุด ตามที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลระบุไว้ โดยผู้ป่วยที่มีอาการนี้อาจได้รับยาปฏิชีวนะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา

นอกจากนี้ หากทันตแพทย์ของคุณสังเกตเห็นสัญญาณของฝีในฟัน การติดเชื้อที่ฟัน ซึ่งอาจเกิดจากฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษา พวกเขาก็อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเช่นกัน

การใช้ยาปฏิชีวนะสำหรับการติดเชื้อในช่องปาก

ทันตแพทย์มักจะสั่งจ่ายยาเพนนิซิลิน หรือยาอะม็อกซีซิลลินสำหรับการติดเชื้อที่ฟัน และสำหรับผู้ที่แพ้ยาเพนนิซิลิน ก็มียาคลินดามัยซินเป็นอีกหนึ่งทางเลือก โดยทันตแพทย์จะต้องมั่นใจว่าได้ระบุปริมาณยาและระยะเวลาการใช้ยาที่ถูกต้อง สำหรับสถานการณ์เฉพาะของคุณ เนื่องจากบางครั้งการจ่ายยาปฏิชีวนะเกินขนาด อาจนำไปสู่สายพันธุ์ที่ดื้อยามากขึ้น ทำให้ทันตแพทย์จะต้องพิจารณาถึงการดื้อยาปฏิชีวนะด้วยเมื่อสั่งจ่ายขนาดยาของคุณ

สิ่งสำคัญคือต้องทานยาครบถ้วนตามที่ทันตแพทย์สั่งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และจำไว้ว่า ถึงแม้อาการปวดจะหายไป แต่คุณก็ยังคงต้องรักษาเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูฟันของคุณให้กลับมาสมบูรณ์

การป้องกันอาการปวดฟัน

การป้องกันอาการปวดฟันนั้นมีหลายวิธี การทำตามขั้นตอนเหล่านี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุหรือมีอาการปวดฟันได้:

  • จำกัดความถี่ และการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล
  • แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์วันละสองครั้งเพื่อลดการสะสมของน้ำตาลและแบคทีเรียบนฟันของคุณ
  • ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุบริเวณที่ฟันสัมผัสกัน
  • นัดหมายตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถตรวจสอบความเสี่ยงของการเกิดฟันผุต่อไปได้

คุณสามารถทำตามขั้นตอนเพื่อช่วยป้องกันฟันผุและการติดเชื้อที่ฟันได้ อย่างไรก็ตาม หากคุณมีฟันผุอยู่แล้ว โปรดรู้ไว้ว่าทันตแพทย์จะคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของคุณ แม้ว่าพวกเขาจะจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการปวดฟันให้คุณ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม