หญิงสาวชี้นิ้วไปที่ริมฝีปากที่มีอาการบวม

ริมฝีปากบวมเกิดจากอะไร? มาดูสาเหตุและวิธีรับมือกับอาการปากบวม

ริมฝีปากบวมเป็นสัญญาณของปัญหาริมฝีปากที่ไม่ควรมองข้าม ส่งผลให้ริมฝีปากมีอาการบวมแดง กดเจ็บ เป็นแผล และริมฝีปากอักเสบ เนื่องจากบาดแผล อาการแพ้ ติดเชื้อ หรือสาเหตุอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่า บางคนอาจจะมีอาการปากบวม ปากเจ่อ ร่วมกับริมฝีปากแห้งและอาการคันบริเวณรอบปาก เราชวนคุณมาทำความเข้าใจถึงสาเหตุของอาการ “ริมฝีปากบวม” เกิดจากอะไรบ้าง? รวมถึงวิธีรับมือและดูแลสุขภาพช่องปากในช่วงที่มีอาการปากบวมรบกวนชีวิตประจำวัน และนั่นอาจบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพที่คุณคาดไม่ถึง   

ทำความรู้จัก “ริมฝีปากบวม” ปากเจ่อ ที่เกิดได้กับทุกคน 

อาการริมฝีปากบวม หรือปากเจ่อ เกิดจากริมฝีปากมีเลือดหรือของเหลวมาหล่อเลี้ยงในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลให้โครงสร้างของริมฝีปากมีการเปลี่ยนแปลง และมีลักษณะปากบวมเจ่ออย่างเห็นได้ชัด โดยผิวหนังบริเวณริมฝีปากจะบอบบาง อ่อนแอ และผิวแห้งง่าย ทำหน้าที่ปกคลุมกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านในที่เต็มไปด้วยเส้นเลือดจำนวนมาก ส่วนด้านในจะเรียกว่า “เยื่อเมือกในช่องปาก” (Mucocele) ซึ่งเต็มไปด้วยของเหลวที่มีลักษณะคล้ายเมือกปกคลุมบริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม และพื้นปาก เมื่อเลือดหรือของเหลวถูกสูบฉีดไปยังริมฝีปากเพื่อตอบสนองต่ออาการบาดเจ็บ อาการแพ้ หรือการติดเชื้อ ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ริมฝีปากบวม ปากเจ่อ หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยนั่นเอง

3 สาเหตุหลักที่ทำให้ริมฝีปากบวม และวิธีดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

หลายคนอาจจะเคยมีอาการริมฝีปากบวม ปากเจ่อ จากการกระแทก หกล้ม หรือกัดริมฝีปากจนเป็นแผล แต่บางครั้งริมฝีปากของเราก็บวมเจ่อโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน อาการริมฝีปากบนหรือปากล่างบวมเกิดได้จากหลายสาเหตุ และบางอาการก็สามารถหายเองได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพช่องปากของคอลเกต รวม 3 สาเหตุหลักที่มักจะทำให้ริมฝีปากบวม พร้อมวิธีดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

1. การบาดเจ็บที่ริมฝีปาก หรือปากเป็นแผล 

อาการบาดเจ็บจากการกระแทก อุบัติเหตุ การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา แม้แต่รอยแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือรอยช้ำก็ส่งผลให้ริมฝีปากบวมได้เช่นกัน เนื่องจากริมฝีปากเป็นอวัยวะที่บอบบางและไวต่อการกระตุ้น เมื่อเจอแรงกระแทก หรือการบาดเจ็บใด ๆ ก็ส่งผลให้เลือดและของเหลวไปเลี้ยงบริเวณริมฝีปากมากขึ้น ทำให้ปากบวม ปากเจ่อ ปากเป็นแผล และมีเลือดออกร่วมด้วย โดยส่วนใหญ่อาการปากบวมจะค่อย ๆ ยุบลงตามธรรมชาติ แต่บางครั้งอาการบวมอาจจะมีอาการบาดเจ็บที่รุนแรงกว่าที่คาดคิด ส่งผลให้ปากเป็นแผลและมีรอยถลอกที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รบกวนการเคี้ยวอาหารและทำให้สื่อสารยากขึ้น   

วิธีดูแลรักษา: คุณสามารถรับประทานไอศกรีม หรือน้ำแข็งเพื่อลดอาการบวมและช่วยให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น นอกจากนี้ คุณยังสามารถประคบเย็นบริเวณริมฝีปากอย่างน้อย 10-15 นาที ทุก 1-2 ชั่วโมง ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดการบาดเจ็บ ส่วนใหญ่แล้วริมฝีปากบวมจากอาการบาดเจ็บและมีแผลเล็กน้อย ไม่มีการติดเชื้อ หรือเลือดไหลไม่หยุด สามารถหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ แนะนำให้ประคบเย็น รับประทานอาหารอ่อน ๆ และพยายามอย่าขยับปากบ่อย ๆ เพราะจะทำให้แพ้หายช้า

2. อาการแพ้ และโรคภูมิแพ้

อาการแพ้อาจทำให้ปากบวมเจ่อได้เช่นกัน นอกจากนี้ ริมฝีปากบวมอาจเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้ชนิดต่าง ๆ ทั้งภูมิแพ้ผิวหนัง แพ้อาหาร และแพ้ยา เมื่อร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้ (Allergens) จากการสัมผัส สูดดม การรับประทานอาหารหรือยา แม้แต่การฉีดยาบางชนิด ร่างกายจะหลั่งสารฮิสตามีน (Histamines) เพื่อต่อสู้กับสารก่อภูมิแพ้และทำให้ปากบวมได้ 

เช่นเดียวกับละอองเกสร ฝุ่น ขนสัตว์ แมลง สารเคมี และเครื่องดื่มบางชนิดก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน รวมถึง “โรคลมพิษ” ที่ส่งผลให้ริมฝีปากแดง นูน และคัน บางคนอาจรุนแรงถึงขั้นมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คอบวม แน่น หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ มีผื่นคันขึ้นตามอวัยวะต่าง ๆ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการแพ้และแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

วิธีดูแลรักษา: หากคุณมีอาการแพ้เพียงเล็กน้อย สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำ อย่างไรก็ดี มาโยคลินิก ระบุว่า หากคุณสงสัยว่า ริมฝีปากบวมจากโรคภูมิแพ้ โรคลมพิษ แพ้อาหาร หรือแพ้ยา ซึ่งอาการริมฝีปากบวมอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของอาการแพ้อย่างรุนแรงและเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างรวดเร็ว

3. การติดเชื้อ 

ริมฝีปากบวมจากการติดเชื้อมักจะเกิดจากร่างกายได้รับเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสบางชนิด ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันกระตุ้นให้เกิดการอักเสบเพื่อรับมืออาการติดเชื้อ ซึ่งอาจมีอาการริมปากบวมเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้ จากการศึกษาโดย StatsPearls ตั้งข้อสังเกตว่า ริมฝีปากอักเสบจากเชื้อไวรัสส่วนใหญ่เกิดจากโรคเริม (Herpes Simplex) ทำให้มีตุ่มพองบริเวณรอบริมฝีปาก มักมีอาการแสบร้อนร่วมด้วย และโรคมือเท้าปากจากเชื้อคอกซากีไวรัส (Coxsackievirus) อาการนี้จะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์ และสามารถใช้ยาชาเฉพาะที่ช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน 

วิธีดูแลรักษา: อาการปากบวมจากการบาดเจ็บและแผลไม่หายเองตามธรรมชาติ นั่นอาจบ่งบอกถึงการติดเชื้อที่เกิดจากบาดแผลยังไม่หายสนิทแล้วไปสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรีย หรือปากปวมจากการติดเชื้อไวรัส ส่งผลให้ริมฝีปากติดเชื้อและปากบวมเรื้อรัง แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อบรรเทาอาการติดเชื้อ ลดอาการปากบวม และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

สาเหตุอื่น ๆ ของริมฝีปากบวมที่หายาก

หากคุณมีอาการริมฝีปากบวมโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด นี่อาจเป็นสัญญาณของสภาวะที่ยากจะรับมือ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาลมพิษที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) โรคมะเร็งริมฝีปาก (Lip Cancer) โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin’s Disease) และกลุ่มอาการเมลเคอร์สัน-โรเซ็นทาบ (Melkersson-Rosenthal Syndrome: MRS) ที่เกิดจากการอักเสบของระบบประสาทบริเวณ เป็นต้น

วิธีบรรเทาอาการริมฝีปากบวมด้วยตัวเอง

แม้ว่าอาการริมฝีปากบวมส่วนใหญ่อาจหายได้เองภายในเวลาไม่นาน แต่เพื่อลดอาการปวด บวม แดง และอักเสบ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต เรามีคำแนะนำดี ๆ ที่จะช่วยบรรเทาอาการริมฝีปากบวมด้วยตัวเอง 

  • ประคบเย็นบริเวณริมฝีปาก ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก ๆ ที่สะอาดและอ่อนนุ่มห่อถุงน้ำแข็ง หรือชุบน้ำเย็นแล้วบิดหมาด จากนั้นนำมาประคบริมฝีปาก 10-15 นาทีเป็นพัก ๆ และหยุดเมื่อรู้สึกว่าเย็นเกินไป ความเย็นจะลดการไหลเวียนของเลือดซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดบวม หลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งประคบโดยตรงเพราะจะทำให้ผิวหนังบาดเจ็บได้

  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ ช่วยลดอาการอักเสบและอาการปวดได้

  • ใช้ครีมหรือสารที่มีฤทธิ์ปลอบประโลมผิว กรณีที่ริมฝีปากบวมเนื่องจากการระคายเคือง อย่างริมฝีปากแห้งมาก ปากแดง และผิวลอกจากแสงแดด

  • ใช้ยาแก้แพ้ เพื่อบรรเทาอาการปากบวมจากโรคภูมิแพ้ โดยอาจเลือกใช้ยารับประทานหรือยาทา เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนตัดสินใจซื้อยา

  • ใช้ยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์ หรือเอ็นเสด (NSAID) ช่วยลดอาการปวดบวมและอักเสบ ซึ่งควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้เช่นเดียวกัน

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้ปากบวม ทั้งสารก่อภูมิแพ้ สารเคมี น้ำหอม แอลกอฮอล์ ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ อาหารรสจัด ฯลฯ ควรระมัดระวังการกระแทกและอุบัติเหตุให้ริมฝีปากบวมเป็นแผล

เคล็ดลับดูแลช่องปาก เมื่อริมฝีปากบวม

  • ควรใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม เพื่อลดการระคายเคืองในช่องปาก แนะนำ คอลเกต เจนเทิล กัมเอ็กซ์เปิร์ต แปรงสีฟันขนแปรงนุ่มหนาแน่นกว่า 6,000 เส้น ช่วยลดปัญหาสุขภาพเหงือกได้ดี ซอกซอนร่องเหงือกได้ดีขึ้นถึง 6 เท่า* (*เมื่อเทียบกับแปรงสีฟันปลายมนกลมทั่วไป) ทำความสะอาดฟันและเหงือกได้ล้ำลึก ทั้งยังช่วยลดอาการเสียวฟัน ที่เกิดจากแปรงสีฟันที่มีขนแปรงแข็ง บวกกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น อายุที่มากขึ้น การสึกหรอของเหงือก การแปรงฟันแรง อาจนำไปสู่อาการเสียวฟัน หรือ อาการเหงือกร่นได้นั่นเอง

  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เปรี้ยว หรืออาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด เพราะจะทำให้อาการปากบวมรุนแรงมากขึ้น

  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อช่วยรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอ ทั้งยังช่วยรับมือกับภาวะปากแห้งได้อีกด้วย

  • บ้วนปากหลังแปรงฟัน ด้วยน้ำยาสูตรอ่อนโยน ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรธรรมชาติ ช่วยปกป้องดูแลช่องปากและฟันให้สุขภาพดีอยู่เสมอ พร้อมลดการสะสมของแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการสะสมตัวของคราบจุลินทรีย์และหินปูนได้อีกด้วย 

ริมฝีปากบวมแบบไหน ควรไปพบแพทย์

แม้ส่วนใหญ่แล้วริมฝีปากบวมสามารถหายเป็นปกติได้เอง โดยเฉพาะปากบวมจากอาการบาดเจ็บและไม่มีภาวะแผลติดเชื้อแทรกซ้อนจะสามารถหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนอาการริมฝีปากบวมจากอาการแพ้มักจะหายเองภายใน 4-5 วัน คุณอาจจะรับประทานยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการแพ้ และช่วยให้ปากหายบวมเร็วขึ้น แต่หากคุณมีอาการริมฝีปากบวมเรื้อรัง ริมฝีปากติดเชื้อ และอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หายใจติดขัด แน่นหน้าอก มีเลือดออกมาก ฯลฯ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

คำถามที่พบบ่อย

1. ปากบวมเกิดจากอะไร?

อาการปากบวมเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การกระแทก การกัดริมฝีปาก ปากเป็นแผล 2. อาการแพ้ หรือโรคภูมิแพ้ เช่น แพ้ยา แพ้อาหาร แพ้สารเคมีบางชนิด และ 3. การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ก็ส่งผลให้ริมฝีปากบวมได้เช่นกัน

2. ทำอย่างไรให้หายปากบวม?

คุณสามารถรับประทานไอศกรีม หรือน้ำแข็งเพื่อลดอาการบวมและช่วยให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น รวมถึงการประคบเย็นบริเวณริมฝีปากอย่างน้อย 10-15 นาที ทุก 1-2 ชั่วโมง ภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดการบาดเจ็บ หากริมฝีปากบวมจากอาการแพ้ต่าง ๆ ควรรับประทานยาแก้แพ้เพื่อช่สวยบรรเทาอาการ แต่หากมีอาการข้างเคียงร่วมด้วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก ฯลฯ แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

3. ปากบวมหายเองได้ไหม?

ส่วนใหญ่แล้วริมฝีปากบวมสามารถหายเป็นปกติได้เอง โดยเฉพาะปากบวมจากอาการบาดเจ็บและมีแผลเล็กน้อย ไม่มีอาการแผลติดเชื้อแทรกซ้อน หรือเลือดไหลไม่หยุดจะสามารถหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนปากบวมจากอาการแพ้มักจะหายเองภายใน 4-5 วัน คุณอาจจะรับประทานยาแก้แพ้ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการแพ้ หากคุณมีอาการริมฝีปากบวมเรื้อรัง ติดเชื้อ และอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เลือดออกไม่หยุด ฯลฯ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม