หากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณแนะนำให้คุณไปพบปริทันตทันตแพทย์เพื่อผ่าตัดเหงือก คุณอาจสงสัยว่ามันหมายถึงอะไรและคุณจะได้อะไรจากการผ่าตัดของคุณ เราจะเล่ารายละเอียดให้คุณฟังว่าปริทันตทันตแพทย์คืออะไร สภาวะแบบใดที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเหงือก และคุณจะเจออะไรเมื่อคุณไปตามนัด เพื่อที่คุณจะได้เดินยิ้มออกไป
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการผ่าตัดเหงือก?
ตรวจสอบทางการแพทย์โดย Colgate Global Scientific Communication
ปริทันตทันตแพทย์คือใคร?
อ้างอิงจากสมาคมทันตแพทย์อเมริกัน ปัจจุบันความเชี่ยวชาญพิเศษด้านทันตกรรมที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการยอมรับความเชี่ยวชาญด้านทันตกรรมและบอร์ดรับรอง มีด้วยกันสิบสองสาขา ปริทันตวิทยาเป็นความเชี่ยวชาญพิเศษที่มุ่งเน้นไปที่การป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษาสภาวะและโรคที่มีผลต่อเหงือกของคุณ สถาบันปริทันตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า ปริทันตทันตแพทย์จะได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมสูงสุดสามปีหลังจบจากคณะทันตแพทย์ เพื่อสามารถทำหัตถการแบบไม่ต้องผ่าตัดและแบบผ่าตัดได้ ซึ่งรวมถึงการผ่าตัดเหงือก การใส่รากฟันเทียม และการผ่าตัดเพื่อความงาม
การผ่าตัดเหงือกต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง?
การผ่าตัดเหงือกมีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณกำลังประสบอยู่และสิ่งที่ปริทันตทันตแพทย์ของคุณกำลังรักษาอยู่ เงื่อนไขบางประการที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้ต้องผ่าตัดเหงือก ได้แก่ :
- ภาวะเหงือกร่น
หากเหงือกของคุณกำลังร่นหรือกำลังดึงออกจากตัวฟันและเผยให้เห็นรากฟัน แสดงว่าคุณมีอาการเหงือกร่น รากฟันของคุณไม่ได้มีเคลือบฟันแข็งที่คอยป้องกันเหมือนกับครอบฟัน ดังนั้นรากฟันที่เผยออกมาอาจทำให้เกิดอาการเสียวฟันและเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้
สาเหตุหลักบางประการของภาวะเหงือกร่นมีตั้งแต่โรคปริทันต์ การแปรงฟันแรงเกินไป อาการบาดเจ็บจากแผลบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ ฟันปลอมที่ไม่พอดี พันธุกรรม และการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ สำหรับปัญหาการแปรงฟัน ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณสามารถสาธิตวิธีการแปรงฟันโดยไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น โรคปริทันต์มักได้รับการรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดที่เรียกว่าการขูดหินปูนและการเกลารากฟัน หากคุณมีฟันปลอมที่ใส่ไม่พอดี ก็สามารถแก้ไขให้พอดีได้
ภาวะเหงือกร่นในกรณีที่มีอาการรุนแรงมากขึ้น อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดที่เรียกว่าการปลูกถ่ายเหงือก ี่ปริทันตทันตแพทย์ของคุณจะเอาเนื้อเยื่อจากส่วนหนึ่งในปากของคุณ มาแปะไว้ในบริเวณที่คุณมีอาการเหงือกร่น การผ่าตัดนี้ช่วยป้องกันไม่ให้ภาวะเหงือกร่นลุกลาม ลดอาการเสียวฟัน และสามารถปรับแต่งรอยยิ้มของคุณให้สวยงามได้
- การยิ้มที่เห็นเหงือกเยอะหรือเหงือกไม่เท่ากัน
หากคุณมีเนื้อเยื่อเหงือกปกคลุมตัวฟันของคุณมากกว่าปกติ คุณจะมีอาการที่เรียกว่าการยิ้มที่เห็นเหงือกเยอะ (หรือที่เรียกว่าภาวะเห็นเหงือกเกิน หากคุณต้องการให้ฟังดูเป็นผู้เชี่ยวชาญ) มีตัวเลือกในการผ่าตัดสองแบบ เพื่อให้คุณนำเนื้อเยื่อออกและอวดฟันขาวราวไข่มุกของคุณได้มากขึ้น วิธีแรกเรียกว่าการตัดแต่งเหงือก ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อตัดเอาขอบเหงือกส่วนหนึ่งออกไป อีกวิธีหนึ่งเรียกว่าการเพิ่มความยาวตัวฟัน ซึ่งทำในลักษณะเดียวกัน แต่มีการเอากระดูกบางส่วนออกไปด้วยเพื่อให้ผิวฟันอยู่เหนือขอบเหงือกของคุณมากขึ้น
- ฟันที่ผุหรือหักใต้ขอบเหงือก
หากฟันของคุณได้รับความเสียหายใต้ขอบเหงือก หรือหากคุณมีฟันไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไข ปริทันตทันตแพทย์ของคุณอาจจำเป็นต้องใช้วิธีการเพิ่มความยาวตัวฟัน เพื่อให้ฟันของคุณเผยออกมามากขึ้น
- โรคปริทันต์
โรคปริทันต์เกิดจากแบคทีเรียที่ก่อตัวขึ้นรอบ ๆ ขอบเหงือกของคุณ และกลายเป็นคราบแบคทีเรีย (ฟิล์มที่นุ่ม เหนียว ไม่มีสี) ตามสถิติที่เผยแพร่ใน วารสารของงานวิจัยทางทันตกรรม เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีในสหรัฐอเมริกามีปัญหาเหงือกในบางรูปแบบ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา เนื้อเยื่อและกระดูกของคุณจะถูกทำลายโดยคราบแบคทีเรีย และอาจเริ่มมีช่องว่างก่อตัวขึ้นรอบๆ รากฟันของคุณ ช่องว่างเหล่านี้อาจเริ่มสะสมแบคทีเรียมากขึ้น ฟันของคุณอาจโยกและอาจหลุดออกมาได้
หากคุณมีช่องว่างลึกรอบๆ ฟันอันเนื่องมาจากปัญหาเหงือก ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณอาจแนะนำให้คุณไปพบปริทันตทันตแพทย์เพื่อทำศัลยกรรมปริทันต์ในการลดขนาดช่องว่าง ในการผ่าตัดนี้ เหงือกของคุณจะถูกพับกลับเพื่อให้สามารถทำความสะอาดแบคทีเรียได้อย่างล้ำลึกในช่องว่าง จากนั้นจะถูกเย็บกลับเข้าที่ คุณจะมีโอกาสมากขึ้นที่จะรักษาฟันธรรมชาติของคุณไว้ได้ในระยะยาว
คุณจะเตรียมตัวสำหรับการผ่าตัดเหงือกได้อย่างไร?
หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณแนะนำให้คุณไปพบปริทันตทันตแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดเหงือก นัดครั้งแรกของคุณจะเป็นการปรึกษาเบื้องต้น ซึ่งอาจมีการ:
- ทำการเอกซเรย์ปากและศีรษะเพิ่มเติม
- ทบทวนประวัติทางการแพทย์ของคุณ
- ซักถามว่าคุณทานยาอะไรบ้าง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ วิตามิน และอาหารเสริม
มีสภาวะทางการแพทย์บางอย่างที่ทันตแพทย์ของคุณอาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ( ยาปฏิชีวนะโปรฟิแล็กซิส ) ซึ่งขึ้นอยู่กับการผ่าตัดที่คุณวางแผนไว้และประวัติทางการแพทย์ของคุณ อ้างอิงจาก สมาคมทันตแพทย์อเมริกัน มีสถานการณ์น้อยมากที่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในการป้องกันก่อนการผ่าตัดทางทันตกรรม
หากคุณจะต้องได้รับการดมยาสลบหรือยาชา ปริทันตทันตแพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คุณหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มเป็นเวลาแปดชั่วโมงก่อนเข้ารับการผ่าตัด อย่าลืมทำตามคำแนะนำสำหรับความต้องการเฉพาะของคุณเอง หากคุณมีอาการของโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวานหรือความดันโลหิตสูง พวกเขาจะคอยตรวจดูคุณในระหว่างการผ่าตัด เพื่อหาภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับยาสลบ การผ่าตัดปริทันต์ส่วนใหญ่สามารถทำได้อย่างสบายโดยใช้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น
การฟื้นฟูหลังการผ่าตัด
หลังการผ่าตัดเหงือก คุณจะได้รับแจ้งถึงวิธีทำความสะอาดฟันและเนื้อเยื่อเหงือก โดยไม่รบกวนการรักษาเหงือกของคุณ คุณอาจถูกจำกัดประเภทอาหารที่สามารถรับประทานได้ไปซักระยะหนึ่ง และคุณอาจต้องได้รับการจ่ายยาแก้ปวด
ในขณะที่คุณกำลังพักฟื้น โปรดติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณหากคุณมีคำถามหรือข้อกังวลใดๆ อย่ารอจนการอักเสบในช่องปากพัฒนาขึ้นหรือเกิดเป็นภาวะแทรกซ้อน ติดต่อทันตแพทย์ของคุณทันทีที่คุณสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติ
คุณมั่นใจได้ว่าทีมทันตกรรมของคุณจะคอยช่วยเหลือคุณในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมการไปจนถึงการพักฟื้น การผ่าตัดไม่เคยเป็นเรื่องสนุก แต่อาจมีส่วนสำคัญในการช่วยให้สุขภาพช่องปากของคุณกลับมาอยู่ในสภาพที่คุณยิ้มได้ หวังว่าข้อมูลนี้จะทำให้คุณมั่นใจและสบายใจเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะต้องเจอในการผ่าตัดของคุณ คุณทำได้!