จุดขาวหรือรอยบนลิ้นของคุณมีโอกาสที่จะหายไปเอง แต่หากไม่หาย คุณก็ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเพื่อตรวจจุดเหล่านั้น เชื้อราในช่องปาก แผลร้อนใน และลิวโคเพลเคียเป็นสาเหตุของจุดสีขาวบนลิ้นที่พบบ่อยที่สุด มาดูรูปแบบ การรักษาและการป้องกัน และคำแนะนำเมื่อต้องไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม

เชื้อราในช่องปาก

เชื้อราในช่องปาก เกิดจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเชื้อราที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่เรียกว่าแคนดิดา ซึ่งมักจะปรากฏในบุคคลที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีผู้คนมากมายที่เสี่ยงจะมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นเชื้อราในช่องปาก ได้แก่:

  • อายุ: ไม่ว่าจะเด็กหรือสูงวัย
  • ใส่ฟันปลอม
  • การสูบบุหรี่
  • โรคมะเร็ง
  • โรคเอดส์หรือเอชไอวี
  • โลหิตจาง
  • เบาหวาน
  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอื่นๆ
  • การทานยาปฏิชีวนะเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากยาปฏิชีวนะสามารถทำให้แบคทีเรีย ซึ่งรักษาสมดุลแคนดิดาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในปากของคุณ อ่อนแอลงได้

ถึงไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่การติดเชื้อราในช่องปากเป็นเวลานานอาจต้องได้รับการรักษา นอกจากจุดสีขาวบนลิ้นแล้ว เชื้อราในช่องปากยังอาจปรากฏเป็นรอยแดงและเจ็บ มุมปากแตก สูญเสียการรับรสชาติ และปากแห้งได้ โดยปกติคุณสามารถกำจัดฝ้าสีขาวออกได้ด้วยการขูดจุดที่เป็นเชื้อราในช่องปาก แต่ที่สำคัญคือ คุณควรทำอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเสี่ยงต่อการทำให้ลิ้นระคายเคืองและเลือดออก

แผลร้อนใน

หากคุณมีจุดสีขาวบนลิ้นที่ล้อมรอบด้วยวงอักเสบสีแดง แสดงว่านั่นอาจเป็นแผลร้อนใน แผลที่เกิดซ้ำทั่วไปเหล่านี้อาจมีจำนวนและปรากฏเป็นจุดสีขาวจุดเดียวบนลิ้นของคุณหรือเป็นกลุ่ม แผลร้อนในมักมีอาการเจ็บปวด ซึ่งการขูดก็ไม่ได้ช่วย ไวรัส แบคทีเรีย ประวัติการเป็นแผลร้อนในของครอบครัว และปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คาดเดาว่าทำให้เกิดแผลร้อนในบางประการ แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีสิ่งกระตุ้นแผลร้อนในมากมาย ได้แก่:

  • การบาดเจ็บที่ผิวหนัง (เช่น การกัดบริเวณนั้น)
  • ภูมิแพ้
  • ความเครียด
  • การสูบบุหรี่
  • อาหารรสเปรี้ยว
  • การขาดธาตุเหล็กและวิตามิน
  • ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากผสมโซเดียม ลอริล ซัลเฟต

แผลร้อนในมักจะหายไปเอง และไม่ติดต่อหรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพที่รุนแรงขึ้น คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่าแผลร้อนในส่วนใหญ่ที่มีขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แผลเหล่านั้นจะรักษาตัวเองภายในหนึ่งถึงสองสัปดาห์ แต่ถ้าแผลร้อนในของคุณมีขนาดใหญ่และทำให้เจ็บ การพบแพทย์สามารถช่วยได้ พวกเขาอาจเลือกวิธีการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้เพื่อช่วยบรรเทา เช่น เจลเฉพาะที่ ยาปฏิชีวนะ น้ำยาบ้วนปาก หรือการจี้แผล

ลิวโคเพลเคีย

หากคุณสังเกตเห็นรอยปื้นสีขาวหรือเทาบนลิ้นหรือส่วนอื่นในช่องปาก เช่น เหงือก พื้นปาก หรือกระพุ้งแก้ม คุณอาจเป็นลิวโคเพลเคีย ซึ่งไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด เช่นเดียวกับรอยแผลอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่องปาก แต่ดูเหมือนว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดลิวโคเพลเคีย ได้แก่:

  • การสูบบุหรี่
  • การเคี้ยวใบยาสูบอย่างหนัก
  • การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป

แม้ว่าการหยุดพฤติกรรมเหล่านี้โดยสิ้นเชิงมักจะทำให้ลิวโคเพลเคียหายไป แต่สภาวะนี้ก็ยังคงมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งในช่องปาก การถูหรือการขูดจะไม่เปลี่ยนลักษณะหรือผิวสัมผัสของลิวโคเพลเคีย ซึ่งอาจหนาหรือแข็ง เราจึงแนะนำให้คุณไปพบทันตแพทย์หรือแพทย์เพื่อตรวจสอบเมื่อคุณสังเกตเห็นการเจริญเติบโตในช่องปากที่ตรงกับลิวโคเพลเคีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่หายไปเองภายในสองสัปดาห์ พวกเขาอาจตัดสินใจว่าจำเป็นต้องกำจัดลิวโคเพลเคียผ่านการทานอาหารเสริมสำหรับช่องปาก การผ่าตัด เลเซอร์ การบำบัดด้วยความเย็น หรือวิธีการอื่น

แฮรี ลิวโคเพลเคีย

รอยสีขาวเป็นขุยที่ปรากฏบนด้านข้างของลิ้นเป็นแนวนูนหรือย่นคืออาการของแฮรี ลิวโคเพลเคีย ซึ่งเป็นลิวโคเพลเคียชนิดหนึ่งที่มักพบในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ รอยสีขาวเป็นขุยเป็นผลมาจากการติดเชื้อไวรัสเอ็ปสไตน์-บาร์ (EBV) โดยไวรัสชนิดนี้คงอยู่ในร่างกายตลอดไม่หายไปแต่จะเป็นอันตรายเมื่อระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกจากนี้ มาโยคลินิกยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าผู้ที่ติดเชื้อเอดส์หรือเอชไอวีจะเสี่ยงต่อการเป็นแฮรี ลิวโคเพลเคียมากเป็นพิเศษ และในบางครั้งก็อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเชื้อราในช่องปากเนื่องจากทั้งคู่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนเชื้อราในช่องปาก เพราะคุณไม่สามารถขูดรอยสีขาวเป็นขุยของแฮรี ลิวโคเพลเคียออกได้

คุณควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเมื่อใด

หากจุดสีขาวบนลิ้นของคุณไม่หายไปเองภายในสองสัปดาห์ คุณควรไปพบแพทย์หรือทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจสอบ สภาวะส่วนใหญ่อาจหายไปเอง ถึงอย่างนั้น การไปพบผู้เชี่ยวชาญสำหรับขอคำปรึกษาเพื่อยืนยันว่าการเติบโตหรือรอยแผลของคุณจะไม่พัฒนาไปสู่สิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นมักเป็นการกระทำที่ดีที่สุด รวมถึงการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เนื่องจากอาจตรวจพบรอยสีขาวขนาดเล็กได้ก่อนที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือทำให้รู้สึกเจ็บมากขึ้น

มาตรการป้องกันที่ดีที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดจุดสีขาวบนลิ้นและปัญหาในช่องปากอื่นๆ คือการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างดีเยี่ยมเป็นประจำ! ซึ่งรวมถึงการแปรงฟันวันละสองครั้งด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ การทำความสะอาดซอกฟันวันละครั้งด้วยไหมขัดฟันหรือไหมขัดฟันพลังน้ำ (หรือที่เรียกว่าการทำความสะอาดซอกฟัน) และการใช้น้ำยาบ้วนปากสำหรับส่วนของแบคทีเรียเล็กน้อยที่อาจหลงเหลือ คนส่วนใหญ่มักมีจุดสีขาวบนลิ้นสักครั้งในชีวิต ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่คุณควรวิตกกังวล แต่เราไม่โทษคุณเลย เพราะการพบว่าลิ้นของคุณเกิดจุดสีขาวขึ้นเมื่อมองเข้าไปในกระจกนั้นน่าตกใจอยู่แล้ว! แม้ว่าจุดเหล่านั้นเหมือนจะไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่นได้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการตรวจสุขภาพช่องปากกับทันตแพทย์จะช่วยให้คุณสบายใจได้

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

แบบทดสอบเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก

อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของคุณ

ทำแบบประเมินสุขภาพช่องปากของเราเพื่อให้กิจวัตรการดูแลช่องปากของคุณเกิดประโยชน์มากที่สุด

แบบทดสอบเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก

อะไรคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของคุณ

ทำแบบประเมินสุขภาพช่องปากของเราเพื่อให้กิจวัตรการดูแลช่องปากของคุณเกิดประโยชน์มากที่สุด

บทความที่เกี่ยวข้อง

ฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ - คอลเกต

ฟลูออไรด์

ฟลูออไรด์ในน้ำดื่มส่งผลต่อฟันผุในผู้ใหญ่อย่างไร

ฟลูออไรด์ในน้ำดื่มช่วยป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร มาเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฟลูออไรด์ในน้ำดื่มกัน อ่านข้อมูลจากคอลเกต ได้ที่นี่

ยาสีฟันผสมสแตนนัสฟลูออไรด์

ฟลูออไรด์

อะไรคือยาสีฟันผสมสแตนนัสฟลูออไรด์

ยาสีฟันผสมสแตนนัสฟลูออไรด์ช่วยดูแลช่องปากที่ดีเมื่อใช้เป็นประจำทุกวันเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี คอลเกตให้ข้อมุลเพิ่มขึ้นได้ที่นี่

ฟลูออไรด์ทำอะไรได้บ้าง?

ฟลูออไรด์

ฟลูออไรด์ทำอะไรได้บ้าง?

ฟลูออไรด์สามารถปกป้องรอยยิ้มของคุณให้แข็งแรง สวยสดใสไปนาน ๆ ได้ หากคุณสงสัยว่าฟลูออไรด์ช่วยปกป้องสุขภาพในช่องปากได้อย่างไร พบคำตอบได้ที่นี่