แก้มบวม - คอลเกต

แก้มบวมเกิดจากอะไร?

เมื่อใดที่เห็นว่าแก้มของคุณบวม ก็ทำให้หงุดหงิดใจ นอกจากจะไม่สบายตัวแล้ว แต่เป็นที่สังเกตุจากคนอื่นได้ด้วย แน่นอนว่าคุณคงสงสัยว่าแก้ที่บวมเกิดจากอะไร และสามารถทำอะไรได้บ้าง

สาเหตุของแก้มบวมที่พบได้บ่อย

อาการแก้มบวมเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเป็นผลมาจากการบาดเจ็บ เช่น แผลหกล้ม หรือเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดกรามหรือบริเวณใกล้เคียง อาการบวมอาจเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวของใบหน้า หรือเกิดทั้งสองข้าง แพทย์หรือทันตแพทย์จะประเมินอาการกับสาเหตุที่เป็นไปได้ต่อไปนี้

  • การติดเชื้อต่อมน้ำลาย:ตามรายงานของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) มีต่อมน้ำลายคู่ขนาดใหญ่ที่เราเรียกว่าต่อมน้ำลายหน้าหู ซึ่งอยู่ในแก้มทั้งสองข้าง หากต่อมเหล่านี้ติดเชื้อก็จะเกิดการบวมที่แก้มได้ การติดเชื้อนี้เกิดได้ทั้งข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ทั้งสองข้าง เรียกได้อีกอย่างว่าโรคคางทูม
  • ฝีในฟัน: ฝีในฟันอาจทำให้เกิดอาการแก้มบวม การติดเชื้อนี้เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเข้าไปในโพรงประสาทฟัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากคุณมีฟันร้าวหรือมีรูขนาดใหญ่ที่ฟันที่ยังไม่ได้รับการรักษา นอกจากอาการบวมที่แก้มแล้ว ผู้ที่เป็นฝีในฟันอาจมีอาการปวด มีไข้ เสียวฟัน หรือมีการรับรสชาติไม่ดีในปาก ตามรายงานของ มาโยคลินิก
  • โรคลมพิษ: โรคลมพิษซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางผิวหนัง อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการแก้มบวมด้วย ซึ่งปฏิกิริยานี้อาจเกิดขึ้นได้จากอาหาร ยา และสารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อย ๆ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ตามคำอธิบายของ มาโยคลินิก ผู้ที่เป็นโรคลมพิษอาจมีอาการบวมรอบดวงตา ริมฝีปาก หรือแก้ม บริเวณที่ได้รับผลกระทบอาจเป็นสีแดง มีอาการเจ็บ หรือร้อน
  • ไซนัสอักเสบ: ไซนัสอักเสบหรือที่เรียกว่าการติดเชื้อไซนัส เป็นภาวะที่พบได้บ่อยๆ ที่อาจทำให้แก้มของคุณบวมได้ ตามคำอธิบายของกรมบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร การติดเชื้อนี้อาจเกิดขึ้นหลังจากเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ และมักจะหายไปเองภายในสองถึงสามสัปดาห์ นอกจากอาการแก้มบวมแล้ว ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบอาจมีอาการปวด ปวดศีรษะ มีไข้ คัดจมูก หรือแม้กระทั่งอาการปวดฟัน

วิธีรักษาอาการแก้มบวมที่บ้าน

หากคุณมีอาการแก้มบวม คุณอาจมีคำถามว่ามีอะไรบ้างที่คุณทำได้ที่บ้านเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกสบายขึ้น NIH อธิบายว่าการยกหัวเตียงขึ้น หรือหนุนศีรษะให้สูงด้วยหมอนอีกใบ สามารถช่วยลดอาการบวมที่ใบหน้าได้ หากอาการบวมเกิดขึ้นหลังจากได้รับบาดเจ็บ NIH แนะนำให้ใช้การประคบเย็น

อย่างไรก็ตาม การรักษาที่บ้านอาจไม่เพียงพอเสมอไป ถ้าอาการบวมไม่หายไปหรือแย่ลง NIH แนะนำให้ไปพบแพทย์ อาการบวมที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน มีอาการเจ็บปวด หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรได้รับการประเมินโดยแพทย์หรือทันตแพทย์เสมอ หากอาการบวมที่ใบหน้าทำให้คุณหายใจลำบาก ให้รีบเข้ารับการรักษาเป็นกรณีฉุกเฉิน

การวินิจฉัยและการรักษา

มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้แก้มบวม และแพทย์หรือทันตแพทย์จะสามารถประเมินอาการที่แก้ม ใบหน้า และช่องปากของคุณ เพื่อหาสาเหตุของอาการบวม การประเมินนี้จะรวมถึงการถามคำถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ของคุณ เช่น อาการบวมเริ่มขึ้นเมื่อใด ตลอดจนประเมินอาการอื่นๆ ของคุณด้วย พวกเขาอาจถามคำถามเกี่ยวกับอาการแพ้ของคุณและยาปัจจุบันของคุณ

หลังจากระบุสาเหตุของอาการบวมแล้ว แพทย์หรือทันตแพทย์ของคุณจะสามารถแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมได้หากจำเป็น การรักษาจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุของอาการบวม ตัวอย่างเช่น หากพิจารณาแล้วว่าอาการบวมเป็นอาการของฟันที่เป็นฝีการรักษาอาจรวมถึงการให้ยาปฏิชีวนะ หรือการรักษารากฟันตามที่ มาโยคลินิก อธิบายไว้

แก้มบวมอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และอาจมีสาเหตุมาจากหลากหลายภาวะการณ์ หากคุณกังวลเกี่ยวกับอาการบวมที่แก้มหรือส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ให้ปรึกษาแพทย์หรือทันตแพทย์ของคุณ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม