การรักษาอาการเสียวฟัน
Badge field

คุณควรทำอย่างไรเมื่อมีอาการเสียวฟัน

Published date field

อย่างที่ทราบกันว่าอาการเสียวฟันพบในคนทุกวัย สาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยคือมาจากอาการเหงือกร่น และสูญเสียเคลือบรากฟัน (ชั้นแร่ธาตุที่คลุมรากฟัน) หรือสูญเสียเคลือบฟัน (ชั้นแร่ธาตุที่คลุมตัวฟัน) เมื่อเคลือบฟันสึกจนถึงเนื้อฟันที่อยู่ชั้นถัดลงไป ซึ่งในชั้นนี้ประกอบด้วยท่อเนื้อฟันที่เชื่อมผิวเคลือบฟันกับโพรงประสาทฟันที่ภายในมีเส้นประสาทและเส้นเลือดหล่อเลี้ยงฟันอยู่ เมื่อของเหลวภายในท่อเนื้อฟันถูกรบกวนจากเนื้อฟันที่เปิดออก ทำให้สิ่งเร้าภายนอกกระตุ้นของเหลวในท่อเนื้อฟันจนเกิดอาการเสียวฟันและรู้สึกปวดได้

ด้านล่างนี้คือภาพท่อเนื้อฟันที่เปิดออก

ท่อเนื้อฟัน

ภาพดิจิทัลแสดงถึงท่อเนื้อฟันที่เปิดออก

ภาพอ้างอิงจาก http://www.scielo.br/scielo.php?pid=s1516-14392007000200010&script=sci_arttext

ทางเลือกในการรักษาอาการเสียวฟันมีอะไรบ้าง

เมื่อทันตแพทย์วินิจฉัยว่าคุณมีฟันที่ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน ทันตแพทย์อาจเสนอทางเลือกให้รับการรักษาในคลินิกหรือทำเองที่บ้านเพื่อป้องกันไม่ให้เสียวฟันมากขึ้น

การรักษาในคลินิก

มีหลายทางเลือกที่สามารถช่วยได้ ทันตแพทย์จะทาสารลดอาการเสียวฟัน เช่น ฟลูออไรด์วานิช ฟลูออไรด์เจลหรือโฟม ครีมลดอาการเสียว ซึ่งมีส่วนประกอบเข้าปิดท่อเนื้อฟันเพื่อปกป้องฟันและช่วยให้แร่ธาติกลับคืนสู่เนื้อฟันและเคลือบฟัน ทันตแพทย์จะทาฟลูออไรด์วานิชหลังจากขูดหินปูนและขัดฟัน ส่วนฟลูออไรด์เจลและโฟมจะใส่ในถาดที่คลุมฟันทุกซี่ ผู้ป่วยต้องกัดถาดไว้ให้อยู่กับที่ประมาณ 1 นาที หลังจากนั้นผู้ป่วยห้ามรับประทานอาหาร ดื่มน้ำหรือบ้วนปากเป็นเวลา 30 นาที ส่วนครีมลดอาการเสียวฟันสามารถใช้ก่อนหรือหลังจากทันตแพทย์ขูดหินปูนเพื่อปิดท่อเนื้อฟันและป้องกันสิ่งใดมากระตุ้นความเจ็บปวด

การรักษาที่บ้าน

หลังจากรักษาในคลินิกแล้ว ลองใช้ยาสีฟันช่วยลดอาการเสียวฟันที่มีส่วนประกอบของโพแทสเซียมไนเตรต เพราะโพแทสเซียมไนเตรตเป็นสารประกอบที่สามารถซึมเข้าไปในท่อเนื้อฟันที่เปิดออกเพื่อลดอาการปวดบริเวณปลายประสาท จริงๆแล้วมียาสีฟันหลายชนิดที่ช่วยลดอาการเสียวฟันได้ในท้องตลาดให้เลือก และควรใช้คู่กับแปรงสีฟันขนนุ่มเพื่อการดูแลสุขภาพช่องปาก ฟันและเหงือกที่สะอาด แข็งแรง นอกจากนี้ทันตแพทย์อาจสั่งจ่ายยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เข้มข้นเพื่อเสริมให้ฟันแข็งแรงและช่วยป้องกันอาการเสียวในอนาคต

ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อรับคำปรึกษาและติดตามอาการเสียวฟันและเพื่อให้แน่ใจว่าคุณรู้สึกดีขึ้น

 

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม