สาเหตุของการเกิดคราบสีน้ำตาลบนฟัน - คอลเกต

สาเหตุของจุดสีน้ำตาลบนฟัน

ไม่มีอะไรจะเปล่งประกายได้เท่ากับรอยยิ้มที่เฉิดฉายอีกแล้ว แต่บางครั้งจุดสีน้ำตาลบนฟันก็อาจทำให้เรารู้สึกเป็นกังวลได้ โชคดีที่มีวิธีรักษามากมายที่คุณสามารถทำได้ ตั้งแต่การสะสมของหินปูนไปจนถึงปัญหาด้านสุขภาพ เราจะมาดูสาเหตุของการเปลี่ยนสี รวมถึงสิ่งที่คุณและผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมสามารถทำเพื่อนำรอยยิ้มที่เฉิดฉายของคุณกลับมา

สาเหตุทั่วไปที่ทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลบนฟัน

ฟันผุ

บางครั้ง จุดสีน้ำตาลอาจเป็นสัญญาณของปัญหาฟันผุ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและแป้งมากเกินไป รวมไปถึงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลด้วย อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์ที่เกาะติดบนผิวฟันและสร้างความเสียหายเมื่อเวลาผ่านไป หากคุณไม่แปรงฟันวันละสองครั้งและทำความสะอาดซอกฟันของคุณทุกวัน คราบจุลินทรีย์นี้อาจยังหลงเหลืออยู่บนตัวฟัน ทำลายเคลือบฟันและเปลี่ยนให้กลายเป็นสีน้ำตาลได้ หรือจุดสีน้ำตาลเหล่านี้อาจมาจากเนื้อฟันข้างใต้ที่มีเฉดสีที่เข้มกว่าตามธรรมชาติ ซึ่งจะเผยออกมาเมื่อเคลือบฟันสึกกร่อน

หินปูน

หินปูนเป็นคำที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าแต่สิ่งนี้คืออะไร เมื่อคราบจุลินทรีย์สะสมบนฟันเป็นเวลานานจะแข็งตัวกลายเป็นสารที่เรียกว่าหินปูนซึ่งมักจะมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาล รวมถึงปรากฏตามขอบเหงือกหรือซอกฟันของคุณ และไม่สามารถกำจัดออกไปได้โดยการแปรงฟันด้วยยาสีฟันตามปกติทั่วไป นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการแปรงฟันวันละสองครั้งเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ตั้งแต่แรกจึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันจุดสีน้ำตาล

ฟันตกกระ

เรารู้ว่าฟลูออไรด์จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการมีฟลูออไรด์ในร่างกายที่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ทำให้เคลือบฟันเปลี่ยนสีได้ ดังนั้นหากได้รับฟลูออไรด์ที่มากเกินไป คุณก็อาจเป็นฟันตกกระได้ รอยเส้นหรือรอยริ้วสีขาวถาวรมักบ่งบอกถึงฟันตกกระในระดับที่ไม่รุนแรง ส่วนรอยด่างและหลุมสีน้ำตาล สีเทา หรือสีดำ ซึ่งมักจะอยู่บนผิวฟันที่ผิดปกติ จะแสดงถึงฟันตกกระในระดับที่รุนแรงกว่า และถึงแม้ว่าฟันอาจจะดูเสียหาย แต่ในความเป็นจริงแล้วฟันตกกระเป็นเพียงปัญหาด้านความสวยงามเท่านั้น ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร เว้นแต่สภาวะด้านอื่นจะทำให้เกิดฟันผุ

ปัญหาเซลิแอค

เคลือบฟันของผู้ที่มีปัญหาเซลิแอคมักจะพัฒนาได้ไม่ดี ซึ่งอาจทำให้เกิดจุดหรือแถบสีขาว สีเหลือง และสีน้ำตาล รวมถึงเคลือบฟันที่โปร่งแสงได้ เนื่องจากผลกระทบจะคงอยู่ถาวร ผู้ที่มีปัญหานี้จึงมักเลือกใช้การบูรณะเพื่อรักษาทุกอาการ

ปัญหาอื่นๆ

การมีไข้สูงและได้รับบาดเจ็บทางทันตกรรมอาจทำให้เกิดรอยสีน้ำตาลบนฟันได้ และแม้ว่าจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ปัญหาด้านพัฒนาการของกระดูกและกะโหลกศีรษะก็มีผลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ อายุที่มากขึ้นอาจทำให้เคลือบฟันบนฟันของคุณเสื่อมสภาพได้ ซึ่งเผยให้เห็นเนื้อฟันที่มีสีเข้มกว่าข้างใต้ได้ และแม้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างการดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้ยาสูบอาจไม่ทำให้เกิดจุดที่ชัดเจน แต่ก็สามารถทำให้เกิดคราบสีน้ำตาลและการเปลี่ยนสีได้ นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มเตตราไซคลีนก็อาจทำให้เกิดคราบบนฟันได้ ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมหญิงตั้งครรภ์หรือเด็กที่ฟันแท้ยังคงพัฒนาอยู่จึงไม่ได้ใช้ยากลุ่มนี้ รวมถึงน้ำยาบ้วนปากบางชนิด เช่น น้ำยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีนกลูโคเนตที่มีฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรียตามใบสั่งแพทย์ ก็อาจทำให้เกิดคราบบนฟันได้เช่นเดียวกัน

การป้องกันและการรักษา

หากฟันของคุณมีจุดสีน้ำตาล คุณควรขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมทำการตรวจสอบ เพราะยิ่งเจอสาเหตุเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อสุขภาพช่องปากของคุณมากขึ้นเท่านั้น สำหรับการดูแลที่บ้าน ทางออกที่ดีที่สุดของคุณคือการปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากในแต่ละวันของคุณ และเพื่อรักษารอยยิ้มที่สุขภาพดีที่สุดเอาไว้ อย่าลืมแปรงฟันวันละสองครั้งด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์และแปรงสีฟันขนนุ่ม รวมถึงทำความสะอาดซอกฟันทุกวันด้วยไหมขัดฟัน ไหมขัดฟันพลังน้ำ หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟันอื่นๆ ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดียิ่งขึ้นเพื่อฟันที่แข็งแรง นอกจากนี้ ยังควรที่จะหาเทคนิคการฟอกสีฟันอื่นๆ หากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณคิดว่าอาจเป็นประโยชน์ต่อสีฟันของคุณ

การสังเกตเห็นคราบสีน้ำตาลหรือจุดบนฟันของคุณนั้นไม่ใช่เรื่องสนุก และอาจทำให้คุณรู้สึกประหม่าได้ แต่โชคดีที่มีวิธีการจัดการกับคราบที่น่ารำคาญเหล่านี้ ตลอดจนวิธีแก้ปัญหาด้านความสวยงามอีกด้วย ทุกคนสมควรได้รับรอยยิ้มที่ขาวสะอาดเป็นประกาย คุณก็เช่นกัน ยิ่งคุณคุยกับทันตแพทย์ได้เร็วเท่าไร คุณก็จะมีรอยยิ้มที่ขาวสะอาดเป็นประกายได้เร็วเท่านั้น

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม