ปวดฟัน - คอลเกต

อาการปวดนอกตำแหน่งฟันคืออะไร?

ไม่มีใครอยากปวดฟัน แต่นี่เป็นอาการสำคัญที่ต้องใส่ใจ เพราะตำแหน่งอื่นในร่างกายอาจกำลังเตือนว่าบางอย่างมีปัญหา ในบางกรณี อาการปวดที่เหมือนมาจากฟันอาจเป็นสัญญาณบอกปัญหาจากตำแหน่งอื่น เมื่ออาการปวดซึ่งเกิดจากตำแหน่งอื่นในร่างกายคุณส่งมาที่ฟัน ทันตแพทย์จะเรียกว่า อาการปวดนอกตำแหน่งฟัน มาลองดูกันว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นสาเหตุของอาการปวดฟัน และคุณจะรักษาอาการปวดฟันและอาการปวดนอกตำแหน่งฟันได้อย่างไร

มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

วารสารวิสัญญีวิทยาและการระงับปวดทางทันตกรรม (JDAPM) ระบุว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตลอดเส้นทางถ่ายทอดสัญญาณความปวด เมื่อโครงข่ายประสาทที่อยู่ตามเส้นทางถ่ายทอดความปวดมีการเปลี่ยนแปลง อาจทำให้คุณรู้สึกปวดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายทั้งที่ปัญหาเกิดจากร่างกายส่วนอื่น

สาเหตุอื่นๆ ของอาการปวดฟัน

อาการปวดนอกตำแหน่งฟันอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ รับการรักษาทางทันตกรรมเมื่อไม่นานมานี้ มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด หรือโรคทางระบบประสาทบางประเภท เรามาดูสาเหตุสำคัญๆ ของอาการปวดนอกตำแหน่งฟันกันสักหน่อย

  • ถ้าคุณปวดบริเวณฟันบนและรู้สึกคัดจมูกหรือระบมจมูก อาการปวดอาจมีสาเหตุจากไซนัสอักเสบ รากฟันบนอยู่ใกล้ไซนัส และหากไซนัสอักเสบเนื่องจากติดเชื้อ คุณอาจปวดบริเวณฟันบนได้
  • หากคุณเพิ่งอุดฟันเร็วๆ นี้ คุณอาจปวดฟันซี่อื่นได้ อาการปวดฟันจะเปลี่ยนจากซี่หนึ่งไปอีกซี่หนึ่งผ่านสัญญาณความปวด แต่ความรู้สึกเจ็บปวดนี้โดยมากจะหายไปภายใน 1 หรือ 2 สัปดาห์
  • มาโยคลินิกระบุว่า หนองจากฟันสามารถทำให้เกิดอาการปวดนอกตำแหน่งได้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีหนองบริเวณฟันบน อาการปวดอาจแผ่ไปถึงขากรรไกรล่าง หู และคอ
  • วารสาร JDAPM ยังชี้ว่า อาการปวดศีรษะก็เป็นสาเหตุให้ปวดฟันได้เช่นกัน อาการปวดจากระบบประสาทร่วมกับระบบหลอดเลือดจะแสดงออกมาเป็นไมเกรนหรืออาการปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ เมื่อถูกส่งต่อมาที่ฟัน จึงเรียกว่าอาการปวดฟันจากระบบประสาทร่วมกับระบบหลอดเลือด
  • สาเหตุที่ร้ายแรงอีกข้อหนึ่งซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักของอาการปวดนอกตำแหน่งฟันคือ เส้นประสาทวากัสซึ่งอยู่ใกล้หัวใจและปอด เส้นประสาทนี้จะผ่านขากรรไกรล่างก่อนจะถึงสมองของคุณ อาการปวดฟันบางครั้งเป็นสัญญาณว่าหัวใจหรือปอดมีปัญหา ซึ่งเรียกว่า อาการปวดฟันจากอวัยวะภายในหากอาการปวดมีต้นกำเนิดจากอวัยวะภายใน หรืออาการปวดฟันจากหัวใจหากต้นกำเนิดมาจากหัวใจ
  • โรคทางระบบประสาทเช่น โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า สามารถส่งผลต่อเส้นประสาทที่เลี้ยงฟัน ใบหน้า และกะโหลกศีรษะได้เช่นกัน การอักเสบของเส้นประสาทนี้จึงทำให้รู้สึกเหมือนปวดฟันได้

วิธีรักษาอาการปวดฟัน

เมื่อมีอาการปวดฟัน ส่วนใหญ่จะรู้สึกเจ็บปวดจนอยากให้หายทันที ซึ่งเราก็แนะนำให้ไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด แต่ระหว่างรอนัด คุณสามารถลองใช้ยาสมุนไพรเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ทันตแพทย์จะตรวจดูว่าฟันของคุณเป็นสาเหตุของอาการปวดหรือไม่ เช่น มีฟันผุ มีหนอง หรือได้รับแรงกระแทก หากทันตแพทย์ระบุว่าอาการปวดฟันของคุณไม่ได้มาจากฟัน เช่น ไซนัสอักเสบ ทันตแพทย์จะส่งต่อคุณให้แพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม แพทย์จะสามารถบอกได้ว่าอาการปวดของคุณเป็นอาการปวดนอกตำแหน่งฟันหรือไม่

เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่คุณจะหาสาเหตุของอาการปวดนอกตำแหน่งฟันด้วยตนเอง การพบแพทย์จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเสมอ แพทย์สามารถตรวจหาสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดนอกตำแหน่งฟัน เช่น ไมเกรน ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด หรืออวัยวะภายในส่วนอื่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบอกตำแหน่งที่แน่ชัดของอาการปวดภายในปากของคุณ แพทย์จึงจะหาสาเหตุได้ว่าอาการปวดส่งมาจากไหน การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมอาจเริ่มด้วยแผนภาพแสดงตำแหน่งปวดบริเวณใบหน้าที่เกิดจากปัญหาอื่นๆ ในร่างกาย

แม้ว่าอาการปวดฟันอาจไม่ได้เกิดจากฟันผุ แต่คุณก็ควรรักษาความสะอาดช่องปากเป็นประจำ ซึ่งรวมถึงการแปรงฟันวันละสองครั้ง ใช้ไหมขัดฟัน ไหมขัดฟันพลังน้ำ หรือเครื่องมือทำความสะอาดซอกฟันชนิดอื่น และใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อกำจัดแบคทีเรียที่หลงเหลืออยู่

อาการปวดฟันไม่ใช่อาการที่คุณสามารถละเลยได้ หากคุณมีอาการปวดฟันและไม่แน่ใจว่าสาเหตุมาจากไหน ควรไปพบทันตแพทย์ทันที ทันตแพทย์สามารถบอกได้ว่าอาการปวดเกิดจากปัญหาสุขภาพช่องปากหรือเป็นสัญญาณเตือนว่ามีปัญหาสุขภาพที่อวัยวะอื่น คอยสังเกตอาการเจ็บและปวดของร่างกายคุณแล้วให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม