หากคุณมีปัญหาปริทันต์ ไม่ต้องกังวลไป เพราะนั่นอาจไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ปัญหาปริทันต์นั้นเหมือนกับปัญหาเหงือก และกรณีที่มีอาการรุนแรงปานกลางก็พบได้บ่อยกว่าที่คุณคิด อย่างไรก็ตาม คุณควรจริงจังกับปัญหาเหงือกเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น ด้วยการหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี การรับมือกับปัญหาเหงือกตั้งแต่เนิ่นๆ การทำความสะอาดผิวรากฟัน และการรักษาตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม คุณจะกลับมามีเหงือกรูปร่างดีตามเดิมและรักษารอยยิ้มสุขภาพดีสดใสได้
.jpg)
การทำความสะอาดผิวรากฟันของคุณช่วยป้องกันปัญหาเหงือกขั้นรุนแรงได้อย่างไร
ตรวจสอบทางการแพทย์โดย Colgate Global Scientific Communication
ปัญหาเหงือกคืออะไร
หากคุณมีปัญหาเหงือก นั่นไม่ใช่คุณคนเดียว ตามข้อมูลของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่าผู้ใหญ่ (อายุ 35-44 ปี) และผู้สูงอายุ (60-74 ปี) เป็นโรคปริทันต์อักเสบ ร้อยละ 37.60 และ 84.20 ตามลำดับ
หากคุณมีอาการที่ไม่รุนแรง โดยมีแบคทีเรียสะสมอยู่รอบขอบเหงือก คุณก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเหงือกอักเสบได้ รวมถึงอาจมีอาการเหงือกอักเสบและเลือดออกด้วย
ปัญหาเหงือกอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาอาจพัฒนาเป็นปริทันต์อักเสบ ซึ่งเป็นปัญหาเหงือกในรูปแบบที่รุนแรงกว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเจริญเติบโตและกลายเป็นคราบเหนียวสีขาวที่เรียกว่าคราบจุลินทรีย์ จากนั้นคราบจุลินทรีย์จะแข็งตัวกลายเป็นสารสีเหลืองที่เรียกว่าหินปูน ซึ่งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนทำความสะอาดเพื่อกำจัดออก หากไม่กำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ออกจากเหงือก เนื้อเยื่อเหงือกของคุณอาจเริ่มร่น แล้วกระดูกก็อาจสึกหรอได้ ซึ่งอาจทำให้ฟันของคุณโยกและหลุดออกในที่สุด ในกรณีส่วนใหญ่ ปัญหาเหงือกขั้นรุนแรงสามารถป้องกันได้ ดังนั้นเราจึงมาแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดี เพื่อให้คุณรักษารอยยิ้มแห่งชัยชนะของคุณเอาไว้ได้
การป้องกันปัญหาเหงือกขั้นรุนแรง
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันปริทันต์อักเสบคือการหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีที่บ้าน
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละสองครั้ง
- เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีส่วนทำความสะอาดลิ้นและกระพุ้งแก้ม พร้อมกับหัวแปรงที่ยืดหยุ่น เพื่อให้คุณทำความสะอาดได้ทุกทิศทาง
- ใช้ยาสีฟันสำหรับต้านการเกิดเหงือกอักเสบและคราบจุลินทรีย์
- ทำความสะอาดซอกฟันและใต้ขอบเหงือกด้วยแปรงซอกฟันหรือไหมขัดฟันพลังน้ำอย่างน้อยวันละครั้ง
- ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์กำจัดเชื้อแบคทีเรีย
- และใช้ที่ขูดลิ้น
อย่าลืมพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดเป็นประจำ รวมถึงตรวจสุขภาพฟันและเหงือกของคุณ หากคุณสังเกตเห็นความผิดปกติหรือความอ่อนไหวของสุขภาพเหงือก รีบนัดหมายกับผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมทันที อย่ารอให้ถึงวันนัดตรวจครั้งต่อไป
และหากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณสังเกตเห็นการสะสมของคราบจุลินทรีย์ เหงือกอักเสบ หรือเนื้อเยื่อเหงือกรอบๆ ฟันของคุณร่น พวกเขาก็อาจจะแนะนำให้คุณทำความสะอาดผิวรากฟัน
การทำความสะอาดผิวรากฟันช่วยรักษาปัญหาเหงือกได้อย่างไร
หากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมวินิจฉัยว่าคุณเป็นปัญหาเหงือกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ การทำความสะอาดผิวรากฟัน (หรือที่เรียกว่าการขูดหินปูนและการเกลารากฟัน) อาจช่วยรักษาอาการได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณจะกำจัดคราบจุลินทรีย์ออกจากฟัน และร่องลึกที่เกิดภายในเหงือกของคุณโดยใช้เครื่องมือธรรมดา และการสั่นสะเทือนอัลตราโซนิก จากนั้นทันตแพทย์จะเกลารากฟันให้เรียบเพื่อช่วยให้เหงือกของคุณติดกลับเข้าไปดังเดิมหลังทำหัตถการ การขูดหินปูนและการเกลารากฟันอาจต้องไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยหนึ่งครั้ง โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหาเหงือก
ทันตแพทย์ของคุณอาจใช้ยาชาเฉพาะที่เพื่อทำให้บริเวณในช่องปากที่พวกเขาจะทำความสะอาดชา นอกจากนี้ คุณอาจได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในช่องปากหลังทำหัตถการอีกด้วย หากคุณสงสัยว่าต้องใช้เวลานานเท่าใดกว่าเหงือกจะหายหลังจากทำความสะอาดผิวรากฟัน คุณอาจรู้สึกไม่สบายเป็นเวลาหนึ่งหรือสองวัน และอาจยังมีเหงือกที่อ่อนแออยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ รวมถึงได้รับยาแก้ปวดในขณะที่คุณรักษา
ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณจะให้คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับการดูแลหลังการรักษาตามความต้องการของคุณ แต่ก็มักจะแนะนำให้คุณระมัดระวังเรื่องการกินและวิธีแปรงฟันจนกว่าเหงือกของคุณจะหายดี
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการขูดหินปูนและการเกลารากฟัน
ฟันจะหลุดออกหลังจากทำความสะอาดผิวรากฟันหรือไม่
บางครั้งคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่สะสมอยู่ในร่องเหงือกนั้นอาจช่วยให้ฟันของคุณมั่นคงกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้หลังจากที่กำจัดคราบสะสมแล้ว ฟันของคุณอาจเหมือนโยกและมีแนวโน้มที่จะหลุดออกมาได้ แม้รู้สึกว่าฟันโยก แต่การกำจัดคราบสะสมนี้จะช่วยให้เหงือกและรากฟันยึดเกาะกับฟันได้อีกครั้ง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสที่เหงือกและรากฟันจะเป็นส่วนหนึ่งของรอยยิ้มคุณไปอีกยาวนาน
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าปริทันต์อักเสบของคุณต้องได้รับการผ่าตัด
หากคุณมีปัญหาปริทันต์อักเสบที่รุนแรงเกินกว่าจะรักษาด้วยการทำความสะอาดผิวรากฟัน คุณก็อาจต้องทำการผ่าตัดอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้:
- การผ่าตัดเปิดแผ่นเหงือก (การผ่าตัดลดขนาดร่องลึก)
เป็นการกรีดเหงือกของคุณเล็กน้อย เผยให้เห็นรากฟันเพื่อการขูดหินปูนและการเกลารากฟันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น - การปลูกถ่ายเนื้อเยื่ออ่อน
เป็นการติดเนื้อเยื่อจากเพดานปากของคุณ (หรือจากแหล่งอื่น) บริเวณที่เหงือกร่น - การปลูกถ่ายกระดูก
เป็นการปลูกกระดูกเทียม กระดูกของคุณ หรือกระดูกที่ได้รับบริจาคกับกระดูกรอบรากฟันเพื่อช่วยป้องกันการสูญเสียฟัน - การชักนำเนื้อเยื่อคืนสภาพ
เป็นการใส่วัสดุที่เข้ากันได้ทางชีวภาพลงในเหงือกเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อไม่พึงประสงค์เข้าไปในบริเวณที่สูญเสียกระดูก และช่วยให้กระดูกงอกขึ้นมาแทน - โปรตีนกระตุ้นเนื้อเยื่อ
โปรตีนนี้สามารถใช้เจลที่บรรจุโปรตีน ซึ่งพบในการเปลี่ยนเคลือบฟันไปเป็นรากฟันที่เป็นปัญหาได้ โดยเจลนี้จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูกและเนื้อเยื่อที่แข็งแรง
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันปัญหาเหงือกคือการเริ่มต้นหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีที่บ้าน และหากยังมีปัญหาเหงือกอีก (ตามสถิติ คุณมีโอกาส 50/50 ที่จะมีปัญหานี้รูปแบบหนึ่งอยู่แล้ว) ก็ให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจช่องปากเป็นประจำ เพราะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะวินิจฉัยและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วคุณจะได้รับการทำความสะอาดผิวรากฟันถ้าจำเป็น รวมถึงทำให้แน่ใจว่าการอักเสบจะไม่กลายเป็นปริทันต์อักเสบที่รุนแรงมากขึ้น คุณและผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจะสามารถพูดคุยกันถึงตัวเลือกที่ดีที่สุดตามความต้องการของคุณร่วมกัน แล้วคุณจะได้รู้สึกดีกับอนาคตของสุขภาพช่องปากที่ทำให้คุณยิ้มได้