การเจาะลิ้นเป็นการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างหนึ่ง แต่คิดว่าอยากจะเจาะลิ้นล่ะก็ ให้ปรึกษาทันตแพทย์หรือหาความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องก่อน การเจาะลิ้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ที่ส่งผลกระทบต่อฟัน เหงือก และบริเวณอื่นๆ ในช่องปากในระยะยาวได้ เรียนรู้ว่าการเจาะลิ้นคืออะไร สิ่งที่คาดหวังและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและจะดูแลสิ่งเหล่านี้อย่างไร
การเจาะลิ้นเป็นอันตรายต่อฟันหรือไม่?
การเจาะลิ้นคืออะไร?
การเจาะลิ้นเป็นการเจาะร่างกายประเภทหนึ่ง ที่ต้องเจาะทะลุลิ้นโดยตรง ที่น่าสนใจคือ การเจาะช่องปากมีมานานแล้ว ถือเป็นการปรับเปลี่ยนร่างกายและแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองในสมัยโบราณ เครื่องประดับและการตกแต่งบริเวณช่องปากและฟันมีอยู่ในวัฒนธรรมทั่วโลกตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เช่น การติดอัญมณีที่ฟัน การเลี่ยมฟัน และการครอบฟันทอง ส่วนการเจาะลิ้น นับว่าพบได้บ่อยที่สุด การเจาะลิ้นเป็นการเจาะประเภท "ภายในช่องปาก" คือปลายทั้งสองข้างของเครื่องประดับจะอยู่ภายในปาก ในขณะที่การเจาะ "รอบช่องปาก" หมายถึงการเจาะช่องปากที่ปลายด้านหนึ่งอยู่ในปาก ส่วนอีกด้านหนึ่งเจาะจากผิวด้านนอก
ประเภทของการเจาะลิ้น
มีให้เลือกหลายแบบ แบบสตั๊ดที่เป็นก้านและมีโลหะทรงกลมที่ปลายทั้งสองข้าง เป็นแบบพื้นฐานที่สุด การเจาะลิ้นประเภทอื่นๆ อย่างเช่นบาร์เบล แหวน และห่วง จะทำจากโลหะหลายชนิด เช่น สแตนเลส ทอง และไทเทเนียม
ห่วงสำหรับลิ้น เป็นวงแหวนที่สอดผ่านเนื้อเยื่อใต้ลิ้น ซึ่งเป็นแถบเนื้อเยื่อบางๆ ที่เชื่อมระหว่างด้านล่างของลิ้นกับพื้นช่องปาก
จุดนี้ คุณอาจสงสัยว่า: การเจาะลิ้นทำให้ฟันเสียหายหรือไม่? การเจาะลิ้นเป็นอันตรายต่อฟันหรือไม่? จะป้องกันความเสียหายนี้ได้อย่างไร? เรียนรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากการเจาะลิ้นและวิธีลดความเสี่ยงเหล่านั้น
ความเสี่ยงและปัญหาสุขภาพช่องปากที่เกิดจากการเจาะลิ้น
การเจาะ การสักร่างกาย สร้างประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นในช่วงแรกๆ เท่านั้น ก่อนจะตัดสินใจ โปรดทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง
- อาการแพ้
- ภาวะแทรกซ้อนในช่องปาก เช่น ฟันบิ่นหรือร้าว เหงือกเสียหาย หรือลิ้นบวม (ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคี้ยว การกลืน และการหายใจ)
- อาการปวดและบวมในช่วง 2-3 วันแรกหลังการเจาะ
- การติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นแดงและปวด
- ปัญหาผิวหนังอื่นๆ เช่น แผลเป็น
- โรคที่มากับเลือด เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และเอชไอวี
- การฉีกขาดหรือบาดเจ็บจากการกระชากเครื่องประดับออกโดยไม่ได้ตั้งใจ
ความเสี่ยงเหล่านี้ดูเหมือนจะเล็กน้อย แต่ภาวะแทรกซ้อนจากการเจาะช่องปากนั้นพบได้บ่อย จึงแนะนำให้ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนที่ตัดสินใจ
ฟันร้าว ฟันบิ่น และฟันผุ
เกิดได้จากนิสัยที่ชอบเคาะเครื่องประดับกับฟันในขณะพูดหรือรับประทานอาหาร นิสัยนี้สามารถทำร้ายเหงือก ทำให้ฟันแตก มีรอยขีดข่วน หรือมีอาการเสียวฟันได้ จนถึงทำลายวัสดุอุดฟันได้ด้วย จำไว้ว่า การเจาะลิ้นทุกประเภทมีความเสี่ยงต่อช่องปากทั้งนั้น ถ้าต้องการป้องกันความเสียหายของฟันที่เกิดจากการเจาะลิ้น ให้ปรึกษาทันตแพทย์เกี่ยวกับวิธีลดนิสัยเหล่านี้ รวมถึงวัสดุที่เหมาะสำหรับใส่ในการเจาะลิ้น นอกจากฟันร้าวและฟันบิ่นแล้ว เครื่องประดับยังสะสมคราบจุลินทรีย์ได้ ทำให้เกิดฟันผุได้
การติดเชื้อแบคทีเรีย
เพราะช่องปากมีความชุ่มชื้นตลอดเวลา จึงเป็นที่ที่เหมาะต่อการเติบโตและอยู่อาศัยของแบคทีเรีย ถ้ามีรอยเจาะและใส่เครื่องประดับ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น รอยเจาะที่มีการติดเชื้ออาจกลายเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ จากการที่ลิ้นอาจบวมจนปิดกั้นทางเดินหายใจได้
ความเสียหายของเส้นประสาท
บางครั้งลิ้นอาจรู้สึกชาหลังจากถูกเจาะ เกิดจากเส้นประสาทถูกทำลายชั่วคราว ในบางกรณี เส้นประสาทอาจถูกทำลายอย่างถาวรได้ ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกในการรับรสและการเคลื่อนไหวของปากได้
วิธีหลีกเลี่ยงปัญหาและดูแลการเจาะลิ้น
การเจาะลิ้นทำให้ฟันมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ต้องสร้างนิสัยที่ดีต่อสุขภาพช่องปากเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาได้ เคล็ดลับในการดูแลการเจาะลิ้น
- แปรงฟันวันละสองครั้งด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์และใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม
- ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน หรือใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟัน
- ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ปราศจากแอลกอฮอล์ในระหว่างช่วงที่กำลังรักษาแผลรวมทั้งหลังจากนั้นด้วย
- รักษาความสะอาดบริเวณที่เจาะลิ้นและหลีกเลี่ยงการเล่นกับเครื่องประดับ คอยสังเกตสัญญาณการติดเชื้อ เช่นอาการบวม ปวด หรือมีของเหลวไหลออกมา ไปพบทันตแพทย์ทันที
- ถอดเครื่องประดับออกถ้าต้องเล่นกีฬาประเภทมีการสัมผัสตัวและสวมฟันยางด้วย
- ใช้มือที่สะอาดตรวจสอบความแน่นหนาของเครื่องประดับ เพราะกเครื่องประดับที่หลวมหรือหลุดทำให้สำลักและหายใจไม่ออกได้
แม้ว่าการเจาะลิ้นจะตอบสนองความต้องการที่จะแสดงตัวตนของคุณได้ แต่สมาคมทันตกรรมแห่งสหรัฐอเมริกาไม่แนะนำให้เจาะลิ้น เนื่องจากความเสี่ยงต่อสุขภาพช่องปากนั้นมีมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ สุดท้ายนี้ ถ้าต้องการเจาะลิ้น ให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อช่วยรักษาสุขภาพช่องปากให้มีสุขภาวะดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม