โพรไบโอติกเพื่อช่วยดับกลิ่นปาก
Badge field

โพรไบโอติกช่วยแก้ปัญหากลิ่นปากได้อย่างไร?

Published date field

คุณรู้จักโพรไบโอติกและประโยชน์ของมันต่อระบบย่อยอาหารหรือไม่? คุณน่าจะเคยซื้อโยเกิร์ตเพื่อสุขภาพมาก่อน โดยในงานวิจัยใหม่นี้ มีการกล่าวถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกว่าอาจมีผลในการช่วยดับกลิ่นปาก กลิ่นปากหรือภาวะปากเหม็นเป็นปัญหากวนใจอย่างต่อเนื่องสำหรับใครหลายๆ คน จึงมีการนำจุลินทรีย์ชนิดดีมาใช้ในการช่วยกำจัดภาวะปากเหม็นในระยะยาวได้

โพรไบโอติกคืออะไร?

ตามที่มาโยคลินิกได้อธิบายไว้ว่าโพรไบโอติก คือจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยเฉพาะระบบย่อยอาหารของคุณ แลคโตบาซิลลัสและไบฟิโดแบคทีเรียม คือโพรไบโอติกสองชนิดที่สามารถพบได้ในอาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ตและผักดอง แม้ว่าในช่องปากของคุณจะแตกต่างกับบริเวณกระเพาะอาหาร แต่ก็อุดมไปด้วยแบคทีเรียทั้งชนิดที่ดีและไม่ดี ซึ่งโดยรวมแล้ว การนำโพรไบโอติกมาใช้ก็เพื่อที่จะกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ชนิดที่ดีและยับยั้งการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ชนิดที่ไม่ดี

แบคทีเรียชนิดไหนที่ทำให้มีกลิ่นปาก?

ตามที่ได้กล่าวไว้อย่างละเอียดในวารสาร Scientific American แบคทีเรียที่ผลิตแก๊สออกมาพบได้บริเวณลิ้นและด้านล่างของเหงือกซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นปากและลมหายใจไม่พึงประสงค์ ก๊าซนี้มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ อย่างเช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์และเมทิลเมอร์แคปแทน เป็นตัวหลักที่ส่งกลิ่นเหม็นเหมือนไข่เน่าหรือกะหล่ำปลีเน่า การแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากสามารถช่วยในการกำจัดแบคทีเรียเหล่านี้ และทำให้มีลมหายใจที่หอมสดชื่นได้ แต่ก็ช่วยแก้ไขปัญหากลิ่นปากได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เพราะว่าแบคทีเรียไม่ดีเหล่านี้สามารถกลับมาใหม่และเพิ่มจำนวนขึ้นได้

จากการอ้างอิงของรายงานสุขภาพทางช่องปากในปัจจุบัน พบว่า 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีประวัติปากเหม็น ต้นตอของปัญหามาจากบริเวณช่องปาก ในบางกรณี กลิ่นปากอาจเกิดมาจากปัญหาในกระเพาะอาหาร ปอดหรือแม้กระทั่งตับ ทั้งนี้ยังมีการค้นพบความเกี่ยวเนื่องของปัญหากลิ่นปากจากปริทันต์อักเสบอีกด้วย แบคทีเรียบางชนิด จัดอยู่ในประเภทของแบคทีเรียแกรมลบที่ไม่พึ่งออกซิเจน พบมากในบริเวณที่มีออกซิเจนน้อยซึ่งเกี่ยวข้องกับการเป็นปริทันต์อักเสบที่มีการผลิตก๊าซที่มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์อันไม่พึงประสงค์ออกมา กลิ่นลมหายใจเหม็นมักพบในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่าในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว เนื่องมาจากภาวะปากแห้ง เป็นปริทันต์อักเสบ และการใส่ฟันเทียม

โพรไบโอติกช่วยแก้ปัญหากลิ่นปากได้อย่างไร?

ที่น่าสนใจคือ ผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้จากมหาวิทยาลัยคอนเน็คติคัตบอกถึงวิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปากเหม็น คือการเพิ่มแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ตัวดีในช่องปากแทนที่จะไปมุ่งยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียตัวไม่ดี โดยการเปลี่ยนจากการใช้น้ำยาบ้วนปากไปเป็นกลยุทธ์แบบชั่วคราวไปเป็นการรับมือกับกลิ่นปากในระยะยาว โดยแก้ไขที่ต้นเหตุแทนที่จะแก้ที่ปลายเหตุ

แบคทีเรียตัวดีที่อยู่ในช่องปากอาจแตกต่างกับพวกที่อยู่ในบริเวณกระเพาะอาหาร ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัตพบว่า เชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซาลิวาเรียส กลุ่มสายพันธุ์ K12 และ M18 คือจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ดีต่อสุขภาพช่องปาก ช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นปากได้ โดยแบคทีเรียเหล่านี้จะแพร่กระจายในช่องปากได้จากการทานเม็ดโพรไบโอติก 85 เปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมทดลองแสดงให้เห็นว่า ก๊าซที่มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ลดลง หลังจากทานยาโพรไบโอติกที่มีส่วนผสมของเชื้อจุลินทรีย์กลุ่มสายพันธุ์ K12ไป 1 อาทิตย์ เชื้อจุลินทรีย์กลุ่มสายพันธุ์นี้ยังถูกพบว่ามีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบของเหงือก บริเวณในลำคอ เชื้อราในปากและฟันผุได้ มากไปกว่านั้น ยังพบว่าเชื้อจุลินทรีย์เอส ซาลิวาเรียสยังช่วยยับยั้งการอักเสบหรือติดเชื้อภายในลำคอและต่อมทอนซิล ซึ่งอาจถูกนำไปใช้ในการรักษาเฉพาะที่แทนยาปฏิชีวนะได้ในอนาคต

คุณสามารถดับกลิ่นปากทันทีได้อย่างไร?

เนื่องจากโพรไบโอติกยังคงอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย ทันตแพทย์จึงยังไม่สามารถที่จะแนะนำให้คุณดื่มโพรไบโอติกเพื่อรักษากลิ่นปากแบบทันท่วงทีได้ แต่หากคุณรู้สึกว่าเริ่มมีกลิ่นปากเมื่อไหร่ล่ะก็ เพียงใช้น้ำยาบ้วนปากในการแก้ปัญหาแบบฉับพลันก่อนได้

แต่ถ้าคุณต้องประสบกับภาวะลมหายใจมีกลิ่นอย่างต่อเนื่อง ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยถึงสาเหตุ เช่น ปริทันต์อักเสบ ปัญหาจากไซนัสหรือระบบทางเดินอาหาร สรุปว่า แนวโน้วที่โพรไบโอติกจะช่วยแก้ไขปัญหากลิ่นปาก ร่วมกับ การดูแลสุขอนามัยช่องปากที่ดี ภาวะปากเหม็นก็จะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คุณต้องกังวลใจมากอีกต่อไป

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม