ลิ้นบวม - คอลเกต

ลิ้นบวม: สาเหตุและการรักษา

ลิ้นของคุณเป็นกล้ามเนื้อที่สำคัญและมีหน้าที่สำคัญในการพูดและการย่อยอาหาร ใส่ใจกับสุขภาพลิ้นบ่อยแค่ไหน? บางครั้งลิ้นมีอาการบวมและคับจนรู้สึกอึดอัดในช่องปาก อาการลิ้นบวมดูเหมือนเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมหรือแพทย์สามารถช่วยรักษาอาการให้คุณได้ จะบรรเทาอาการลิ้นบวมได้อย่างไร และเมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์ทันที

อะไรเป็นสาเหตุของลิ้นบวม

ศัพท์ทางการแพทย์สำหรับอาการลิ้นบวมคือ Glossitis (ลิ้นอักเสบ) ซึ่งเป็นภาวะที่ลิ้นกลายเป็นสีแดง อักเสบ และผิวของลิ้นเรียบเนียนผิดไปจากปรกติ

อะไรเป็นสาเหตุของลิ้นบวม?

  • การบาดเจ็บจากผิวฟันไม่เรียบ เจาะลิ้น หรือฟันปลอมที่ไม่พอดี
  • การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ยีสต์ หรือไวรัส (รวมถึงเริมในช่องปาก)
  • อาการแพ้เนื่องจากอาหารหรือยา
  • อาการปากแห้งที่เกิดจากกลุ่มอาการโจเกร็น
  • สารระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์ ยาสูบ หรืออาหารร้อนจัด
  • การขาดวิตามินหรือปัจจัยด้านฮอร์โมน

อาการแพ้ทำให้ลิ้นของคุณบวมได้อย่างไร?

อาการแพ้ประเภทต่างๆ ทำให้ลิ้นบวมได้ ลมพิษเป็นอาการภูมิแพ้ประเภทหนึ่ง MedlinePlus โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติอธิบายว่า ลมพิษเป็นคำที่ใช้อธิบายอาการบวมทั้งตัวที่เกิดขึ้นใต้ผิวหนัง ภาวะนี้ทำให้เกิดอาการบวมได้ตั้งแต่ลิ้น รวมถึงเปลือกตา ใบหน้าและริมฝีปาก อาจพบอาการบวมได้ที่คอ มือและขาได้บ้าง อาการลิ้นบวมทำให้ลิ้นมีความรู้สึกคันหรือเจ็บได้

ลมพิษเกิดได้จากแมลงสัตว์กัดต่อย ยาปฏิชีวนะบางชนิด เกสรดอกไม้ และอาหารบางอย่าง เช่น ผลเบอร์รี่ หอย ถั่ว นม และไข่

การแพ้อาหารเกิดปฏิกิริยาได้ทั่วทั้งร่างกาย รวมถึงในช่องปาก สับปะรด แอปเปิล และเมลอน เป็นอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในช่องปากมากที่สุด

การรักษาลิ้นบวม

ตามรายงานใน StatPearls ส่วนใหญ่แล้วไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใดๆ แต่ในบางกรณีอาจต้องปรึกษาแพทย์ ถ้าอาการลิ้นบวมไม่ดีขึ้นได้เอง

วิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการบวม:

  • ดูแลช่องปากให้ดี หมายถึงการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง และทำความสะอาดระหว่างฟันด้วยอุปกรณ์ทำความสะอาดซอกฟันหรือไหมขัดฟัน
  • เปลี่ยนเมนูอาหารเพื่อแก้ไขปัญหาทางโภชนาการ เช่นภาวะขาดวิตามิน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน
  • ยาปฏิชีวนะ
  • ยาแก้แพ้หรือยาต้านการอักเสบ ในกรณีของลมพิษในระดับปานกลางถึงรุนแรง

ถ้าหากแก้ไขแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ต้องปรึกษาแพทย์ทันที หรือถ้ามีปัญหาในการหายใจ ให้ขอความช่วยเหลือจากแพทย์ทันที

วิธีป้องกันอาการลิ้นบวม

ถ้าลิ้นบวมจากอาการแพ้ ป้องกันโดยการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ แต่ถ้าไม่รู้จริง ๆ อาการบวมเกิดจากอะไร ให้จดบันทึกสิ่งที่รับประทานหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับช่องปากหรือบริเวณรอบ ๆ ปาก เกิดอาการบวมวันไหน ให้ไล่เรียงสิ่งที่บริโภคในวันนั้น จากความช่วยเหลือของแพทย์ จะทำให้ทราบได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาการบวม และควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือสารก่อภูมิแพ้ใดบ้าง

การรู้สึกว่าลิ้นของคุณบวมขึ้นทันที และทำให้เกิดความกังวล ใจเย็นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วอาการจะหายได้เอง แต่ถ้าไม่หาย ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาเพื่อให้ลิ้นกลับมาเป็นปกติได้อีกครั้ง

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม