โรคเหงือกอักเสบ - คอลเกต

อาการของโรคเหงือกและวิธีการรักษา

หากได้ยินคำว่า "ทันตแพทย์" คุณจะนึกถึง "ฟัน" ใช่ไหม แต่ "เหงือก " ก็เป็นสิ่งที่ทันตแพทย์ใส่ใจเช่นกัน

เหงือกมีความสำคัญอย่างไร พูดง่ายๆ คือ เหงือกที่สุขภาพดีจะยึดติดกับฟันเพื่อรองรับฟัน โรคเหงือกเป็นสาเหตุหลักที่ต้องถอนฟัน

เหงือกควรได้รับการดูแลเช่นเดียวกับฟัน ควรเรียนรู้เรื่องอาการของโรคเหงือก วิธีการรักษา และการป้องกัน

แล้วโรคเหงือกคืออะไร

โรคเหงือกหรือเรียกอีกอย่างว่าโรคปริทันต์ มี 3 ระยะ

ระยะที่ 1: เหงือกอักเสบ – เป็นอาการเริ่มต้นของโรคเหงือก เหงือกอักเสบคือเหงือกที่ติดเชื้อจากคราบจุลินทรีย์ (หรือคราบชีวภาพ) และหินปูนที่สะสมบนฟัน ข่าวดีคือ เหงือกอักเสบรักษาให้หายได้และสามารถควบคุมไม่ให้ลุกลามได้เช่นกัน

ระยะที่ 2: ปริทันต์อักเสบ – เหงือกอักเสบที่ไม่ได้รักษาจนกลายเป็นปริทันต์อักเสบ เป็นระยะที่เนื้อเยื่อเหงือกอักเสบรุนแรงขึ้น เกิดร่องลึกปริทันต์ เกิดการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อกระดูก

ระยะที่ 3: โรคปริทันต์อักเสบรุนแรง – ระยะนี้ ร่องลึกปริทันต์จะทำให้เนื้อเยื่อเหงือกไม่ยึดติดกับฟัน ส่งผลให้ฟันโยกและหลุดได้

นอกจากนี้โรคเหงือกยังก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ถ้าแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด

อาการของโรคเหงือกมีอะไรบ้าง

โรคเหงือกระยะแรกมักไม่แสดงอาการ คนนับล้านจึงไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคเหงือก จะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคเหงือกหรือไม่

อาการของโรคเหงือกที่พบบ่อย หากมีอาการใดๆ ต่อไปนี้ ควรไปพบทันตแพทย์โดยเร็ว

อาการของโรคเหงือกได้แก่:

  • เหงือกบวมแดง
  • เลือดออกตามไรฟันเมื่อแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน
  • เลือดออกตามไรฟันเมื่อเคี้ยวอาหารโดยเฉพาะอาหารแข็ง
  • ฟันดูยาวผิดปรกติ เหงือกร่น
  • เหงือกระบม
  • มีช่องว่างระหว่างฟันกับเหงือก เกิดร่องลึกปริทันต์
  • มีหนองในร่องเหงือก
  • ฟันโยก
  • มีกลิ่นปากเรื้อรัง
  • แผลร้อนใน
  • ปวดในช่องปากไม่หาย
  • ฟันเริ่มเรียงตัวผิดปกติ
  • ฟันปลอมแบบถอดได้ไม่แนบเหมือนเดิม

หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเหงือกอักเสบหรือปริทันต์อักเสบหรือไม่ จะได้รีบทำการรักษาที่จำเป็นต่อไป

การรักษาโรคเหงือกทำอย่างไร

การรักษาเหงือกอักเสบ: ทันตแพทย์หรือทันตาภิบาลจะทำความสะอาดอย่างละเอียด 2 ขั้นตอนที่เรียกว่า การขูดหินปูนและเกลารากฟัน เหงือกที่ได้รับการรักษาแต่เนิ่น ๆ สามารถหายได้

การรักษาปริทันต์อักเสบ: ถ้าเหงือกอักเสบมากจนกลายเป็นปริทันต์อักเสบ ทันตแพทย์จะส่งต่อไปที่ปริทันตทันตแพทย์ หรือทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเหงือก การรักษาปริทันต์อักเสบส่วนมากต้องอาศัยการผ่าตัด เพื่อ:

  • ลดความลึกร่องปริทันต์เพื่อกำจัดแบคทีเรีย
  • ผ่าตัดปลูกถ่ายเหงือก
  • ขั้นตอนชักนำให้เนื้อเยื่อคืนสภาพ
  • ศัลยกรรมตกแต่ง

จะป้องกันโรคเหงือกได้อย่างไร

ต้องทำการกำจัดคราบจุลินทรีย์จะได้ปลอดจากโรคปริทันต์:

พบทันตแพทย์ปีละสองครั้งหรืออย่างน้อยปีละครั้ง: การตรวจสุขภาพช่องปากและทำความสะอาดเป็นประจำ อีกทั้งทันตแพทย์สามารถตรวจพบโรคเหงือกระยะแรกได้แม้จะไม่มีอาการใดๆ จะได้รับการรักษาเพื่อยับยั้งไม่ให้โรคเหงือกลุกลาม

หมั่นดูแลสุขภาพช่องปากที่บ้านเป็นประจำไม่ให้ขาด: ไม่ว่าจะรีบแค่ไหนในตอนเช้าหรือเหนื่อยสายตัวแทบขาดในตอนกลางคืน ขอให้เจียดเวลา 2-3 นาทีวันละสองครั้งเพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์เถอะ

  • แปรงฟันอย่างถูกวิธีด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มและยาสีฟันผสมฟลูออไรด์อย่างน้อย 1 ครั้งในตอนเช้าและอีก 1 ครั้งก่อนนอน
  • ใช้ไหมขัดฟันวันละครั้ง (อาจเป็นหลังแปรงฟันก่อนนอน) เป็นการทำความสะอาดซอกฟัน เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่แปรงไม่ออก
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียทุกวัน
  • เปลี่ยนแปรงสีฟันทุก 3 เดือนเพื่อให้ขนแปรงมีประสิทธิภาพที่สุด

รักษาสุขภาพกายและใจให้ดี: เพราะสุขภาพช่องปากของคุณส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมและให้ผลในทางกลับกันด้วย เพราะสุขภาพร่างกายก็เพิ่มโอกาสให้เกิดโรคเหงือกได้เช่นกัน

  • ควรรับประทานอาหารที่สมดุล ไม่รับประทานอาหารที่คราบจุลินทรีย์ชอบอย่างน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป (โรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงข้อหนึ่ง)
  • เลิกบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบต่างๆ รวมถึงการเคี้ยวใบยาสูบ
  • เปลี่ยนการรับประทานยาที่ทำให้ปากแห้งเป็นยาตัวอื่นที่ไม่มีผลข้างเคียงนี้
  • ลดความเครียด ทำสมาธิ โยคะ ออกกำลังกาย จดบันทึกทัศนคติเชิงบวก ถึงแม้คุณจะไม่ได้เป็นโรคเหงือกก็ตาม

ปฏิบัติตามวิธีป้องกันเหล่านี้เพื่อเหงือกสุขภาพดี สีชมพูสวย และปราศจากโรค

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม