คุณไม่ใช่คนเดียวที่ต้องกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาเหงือกบวมและระคายเคืออยู่เป็นประจำ เพราะเหงือกบวมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยสำหรับหลายๆ คน เกิดจากสาเหตุหลายประการ ในกรณีที่อาการเหงือกบวมที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้ง่าย ให้ทำความเข้าใจถึงอาการที่บ่งบอกว่าเหงือกเริ่มมีปัญหา จากนั้นหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม รวมถึงการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ
สัญญาณบ่งบอก
เหงือกที่มีปัญหาจะมีสีแดงและระบม บางครั้งมีเลือดออกขณะแปรงฟัน ระหว่างการใช้ไหมขัดฟันหรือทานอาหารที่แข็ง กรุงกรอบเป็นต้น อาการอื่นๆ ได้แก่ แผลในปาก มีกลิ่นปากและเนื้อเยื่อเหงือกที่ร่นหรือไม่ยึดติดกับฟัน หากมีอาการแย่ลง หรือ เรื้อรัง คุณควรต้องไปพบทันตแพทย์โดยด่วน เพื่อยับยั้งปัญหาไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านั้น
สาเหตุ
สมาคมปริทันตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (AAP) กล่าวว่า สาเหตุหลักของเหงือกอักเสบ คือคราบจุลินทรีย์ แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ เช่น ความเครียด โภชนาการที่ไม่ดี ภาวะอ้วน การใช้ยาสูบ หรือ ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นเหงือกอักเสบได้ สาเหตุที่พบได้่บ่อยของอาการเหงือกติดเชื้อ
- เหงือกอักเสบ: สาเหตุหลักของอาการเหงือกบวมคือ เหงือกอักเสบ เกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาดหรือไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
- การรับประทานยาบางชนิด: อาการเหงือกบวมอาจเป็นผลข้างเคียงของยาตัวใหม่ที่คุณทาน ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อได้รับยาตัวใหม่ทุกครั้ง แพทย์จะได้พิจารณาจ่ายยาตัวอื่นที่ไม่มีผลข้างเคียงให้
- เปลี่ยนยี่ห้อ: ส่วนผสมในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากยี่ห้อใหม่อาจกระตุ้นปฏิกิริยาในช่องปากได้ คอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเปลี่ยนยี่ห้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
- โภชนาการที่ไม่ดี: การบริโภคผักและผลไม้ที่ไม่เพียงพอ สามารถส่งผลต่อสุขภาพเหงือกของคุณได้เช่นกัน ร่างกายควรได้รับวิตามินที่เพียงพอในแต่ละวัน เช่น การขาดวิตามินซีอาจทำให้เหงือกอักเสบได้
- การตั้งครรภ์: จากข้อมูลของสมาคมการตั้งครรภ์แห่งสหรัฐอเมริกา เหงือกบวม อักเสบและระคายเคืองเกิดขึ้นได้มากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระยะนี้จะส่งผลต่อการเกิดคราบจุลินทรีย์ได้ง่ายกว่าปรกติ
- อุปกรณ์ทางทันตกรรม: อุปกรณ์ทันตกรรม เช่นเหล็กจัดฟัน รีเทนเนอร์และฟันปลอม ก็เป็นสาเหตุของอาการระคายเหงือกบวมหรือเจ็บได้ โดยปกติเหงือกสามารถปรับตัวให้เข้ากับอุปกรณ์จัดฟันเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แต่ถ้ายังเกิดความระคายเคืองนานเกินปรกติ ให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข
ตัวช่วยเพื่อบรรเทาอาการ
สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการรักษาเหงือกบวม
มีหลายสิ่งที่ควรทำและควรหลีกเลี่ยงเมื่อมีอาการเหงือกบวม
สิ่งที่ควรทำ:
- แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ วิธีการรักษาและป้องกันเหงือกบวม หรือ อักเสบที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขอนามัยในช่องปากให้ดี
- ปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ รวมถึงหลีกเลี่ยงโซดาและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสักพัก
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ เกลือช่วยลดอาการเหงือกบวมและบรรเทาความเจ็บปวดได้
- ทานยาลดการอักเสบ การทานยาลดการอักเสบที่ไม่ต้องออกใบสั่งโดยแพทย์ เช่น ไอบูโพรเฟน สามารถลดอาการบวมที่เหงือกและบรรเทาอาการปวดและระบมได้
- ทานอาหารที่เย็น อาหารเย็นๆ นุ่ม ช่วยลดอาการเหงือกบวมและยับยั้งการปวดได้บ้าง
- ลองเบนโซเคน หากเหงือกที่บวมทำให้ การทานอาหาร การดื่มหรือพูดคุยเป็นเรื่องยาก ลองใช้ผลิตภัณฑ์เบนโซเคน ทาหรือผสมกับน้ำยาบ้วนปาก เบนโซเคนจะช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยยับยั้งอาการอักเสบได้ชั่วคราว
- พบทันตแพทย์ของคุณ หากอาการระคายเคืองเหงือกยังคงอยู่ ให้นัดหมายกับทันตแพทย์ของคุณ เพี่อหาสาเหตุของอาการบวมและแนะนำทางเลือกในการรักษาได้
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง:
- หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้ระคายเคือง ให้เลิกใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่ทำให้ปากของคุณระคายเคือง หยุดใช้ยาสีฟันที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุของอาการระคายเคืองต่อเหงือกทันที และกลับไปใช้ยาสีฟันที่เคยใช้ ควรหลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เพราะสามารถก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเหงือกได้เช่นกัน
- เว้นการดื่มแอลกอฮอล์และการใช้ยาสูบ เพราะสารทั้งสองนี้ทำให้เหงือกระคายเคืองและบวมมากยิ่งขึ้น
- อย่าเพิกเฉยต่อปัญหา หากยังมีอาการบวมอยู่ ให้นัดพบทันตแพทย์เพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าอาการระคายเคืองดังกล่าวไม่ได้เป็นอาการของปัญหาที่ร้ายแรงกว่านั้น
การป้องกัน
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เหงือกบวมและหยุดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ ตั้งแต่เนิ่นๆ คือการแปรงฟันให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง รวมถึงใช้ไหมขัดฟันวันละครั้ง แม้จะมีการดูแลช่องปากอย่างดีเยี่ยม คราบจุลินทรีย์ก็อาจเกิดขึ้นได้จนก่อตัวเป็นคราบหินปูนที่ต้องให้ผู้เชียวชาญทางทันตกรรมหรือทันตแพทย์กำจัดออกให้ หมั่นเข้าพบทันตแพทย์ ทุกๆ 6 เดือนเพื่อทำความสะอาดและตรวจสุขภาพช่องปากเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
เหงือกที่บวมสร้างความเจ็บปวดและน่ารำคาญ แต่เป็นอาการที่สามารถรักษาได้ง่าย เมื่อคุณพบสาเหตุพื้นฐานแล้วเริ่มแก้ไขได้เองที่บ้าน รวมถึงการปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม เพื่อรอยยิ้มสดใส สุขภาพดีในทุก ๆ วัน