แม้ว่า ‘ฟันผุ’ จะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ฟันผุไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่ควรละเลย ข้อมูลจาก ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ระบุว่า 90% ของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีปัญหาฟันผุ เช่นเดียวกับคนไทยที่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 ระบุว่า เด็ก ๆ ส่วนใหญ่มีปัญหาฟันแท้ผุถึงร้อยละ 52 ส่วนวัยทำงานอายุระหว่าง 35-44 ปี มีฟันผุที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาถึงร้อยละ 43.3 ฟันผุยังส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟัน ปวดฟัน มีกลิ่นปาก และอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ คอลเกต รวมคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดฟันผุ และวิธีดูแลสุขภาพช่องปากให้ห่างไกลฟันผุมาให้คุณ
อาการแบบไหนเรียกว่าฟันผุ?
ฟันผุ เกิดจากแบคทีเรียใน คราบจุลินทรีย์ รวมตัวกับน้ำตาลที่อยู่ในอาหารที่คุณรับประทาน โดยจุลินทรีย์จะสร้างกรดออกมาเพื่อย่อยอาหาร แต่หากคุณไม่ได้ทำความสะอาดช่องปากหลังมื้ออาหาร หรือไม่ได้แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง กรดจึงมีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้เคลือบฟัน (Enamel) สึกกร่อน แต่เนื่องจากบริเวณเคลือบฟันไม่มีเส้นประสาท คุณจึงไม่รู้สึกถึงอาการฟันผุในระยะแรก ๆ กระทั่งฟันผุลุกลามไปถึงชั้นเนื้อฟัน (Dentine) ซึ่งอยู่ใต้ชั้นเคลือบฟันและเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อกับเส้นประสาทด้านใน คุณจะเริ่มสังเกตเห็นสัญญาณของปัญหาฟันผุ ได้แก่
ปวดฟันหรือเสียวฟัน เนื่องจากเนื้อฟันมีรูขนาดเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกับเส้นประสาทมากมายที่อยู่ด้านในสุดของฟัน เมื่อชั้นเคลือบฟันสึกกร่อนจนเผยให้เห็นเนื้อฟัน คุณจึงรู้สึกเสียวฟันจี๊ด ๆ หรือ “ภาวะเนื้อฟันไวเกิน” เมื่อเนื้อฟันสัมผัสกับอาหารและเครื่องดื่มร้อน เย็น เปรี้ยว หรือมีน้ำตาลข้นเหนียว และอาจมีอาการปวดฟันหรือเจ็บแปล๊บ ๆ เวลากัดฟัน
ฟันเป็นรู หรือฟันเป็นหลุม เมื่อสารเคลือบฟันสึกกร่อน คุณจะรู้สึกได้ถึงรอยหยาบ ๆ บริเวณฟันเวลาลิ้นสัมผัสกับฟัน รูและหลุมเหล่านี้อาจมีขนดใหญ่จนเป็นแหล่งกักเก็บเศษอาหารตกค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ฟันผุได้
ฟันเป็นคราบสีดำ สีน้ำตาล และสีขาว บ่อยครั้งที่สีของอาหารทำให้เกิดคราบที่ผิวฟันได้ แต่อีกกรณีหนึ่งคือ หากพบจุดสีขาว สีน้ำตาล หรือสีดำบนฟัน นั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาฟันผุ สมาคมทันตกรรมแห่งสหรัฐอเมริกา (ADA) ระบุว่า เมื่อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ผลิตกรดออกมาจนทำให้ชั้นเคลือบฟันสูญเสียแร่ธาตุ บริเวณดังกล่าวจะปรากฏเป็นจุดสีขาวที่สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จุดขาวจะกลายเป็นจุดสีน้ำตาลหรือสีดำที่เป็นอาการของฟันผุนั่นเอง
ฟันผุเกิดจากสาเหตุใด?
“คราบจุลินทรีย์” คือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฟันผุ โดยแบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์จะค่อย ๆ สะสมตัวบนเคลือบฟันและเจริญเติบโตด้วยน้ำตาลในอาหารหรือเครื่องดื่มที่คุณรับประทาน แบคทีเรียเหล่านี้จะผลิตกรดเข้มข้นเพื่อทำหน้าที่ย่อยอาหาร เมื่อกรดสัมผัสกับฟันนานเกินไปจะทำลายชั้นเคลือบฟันให้สูญเสียแคลเซียมและฟอสเฟต กระบวนการนี้เรียกว่า “การสูญเสียแร่ธาตุ” จนสามารถสังเกตเห็นจุดสีขาวบริเวณผิวฟัน จุดสีขาวเล็ก ๆ บนเคลือบฟันนี้นำไปสู่อาการฟันผุในระยะเริ่มต้น
หากปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป กรดและแบคทีเรียจะเริ่มทำลายชั้นเคลือบฟันจนสึกกร่อน ก่อนจะเข้าสู่ชั้นเนื้อฟันที่มีรูเล็ก ๆ เชื่อมต่อกับเส้นประสาทภายในเนื้อฟัน เมื่อชั้นเนื้อฟันเข้าสู่ภาวะไวเกินจะทำให้ความร้อน ความเย็น ความเป็นกรด ความหวาน และอาหารที่มีลักษณะข้นเหนียว ผ่านเข้าไปกระตุ้นเส้นประสาทด้านในของฟัน ทำให้รู้สึกเสียวฟันและปวดฟันในที่สุด
นอกจากนี้ คราบจุลินทรีย์จะทำลายเนื้อฟันจนถึงเนื่อเยื่อชั้นในสุดของฟัน ซึ่งประกอบด้วย เส้นประสาท เส้นเลือด และเนื้อเยื่อต่าง ๆ จนชั้นเนื้อเยื่ออักเสบเป็นหนองที่บริเวณปลายรากฟัน จะทำให้มีอาการปวดฟันรุนแรง เสียวฟันแบปล๊บ ๆ เมื่อสัมผัสกับความร้อน ความเย็น รู้สึกปวดขณะกัดฟัน มีไข้ ถึงขนาดที่ใบหน้าหรือแก้มอาจมีอาการบวมร่วมด้วย โดยฟันผุจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ นั่นคือ
ฟันผุระยะที่ 1: คุณจะเริ่มสังเกตเห็นจุดสีขาว ๆ บริเวณผิวฟัน หรือเคลือบฟัน ซึ่งเป็นสัญญาญเริ่มต้นของฟันผุ
ฟันผุระยะที่ 2: คุณสามารถสังเกตเห็นรูฟันผุสีน้ำตาล หรือสีดำลึกลงไปถึงบริเวณเนื้อฟัน ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน
ฟันผุระยะที่ 3: อาการฟันผุลุกลามถึงชั้นโพรงประสาทด้านในเนื้อฟัน คุณจะเริ่มมีอาการปวดฟันรุนแรงมากขึ้น
ฟันผุระยะที่ 4: ปัญหาฟันผุเข้าสู่ภาวะรุนแรงและลุกลามจนเกิดการอักเสบ ทำให้แก้มบวม ฟันโยก เกิดฝีหนองที่ปลายรากฟัน หากปล่อยทิ้งไว้จะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองจนเป็นอันตรายได้
รักษาฟันผุได้อย่างไร?
หากคุณสังเกตเห็นสัญญาณเริ่มต้นของอาการฟันผุ รู้สึกปวดฟันจากฟันผุ หรือมีอาการเสียวฟันควรไปพบทันตแพทย์ทันที เพราะคุณไม่สามารถรักษาฟันผุได้ด้วยตัวเอง โดยวิธีรักษาฟันผุจะขึ้นอยู่กับระดับความลึกของฟันผุระยะต่าง ๆ ภายใต้การวินิจฉัยของทันตแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น
การใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่ หรือยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ แม้ว่าน้ำลายของคนเราจะมีส่วนประกอบของแร่ธาตุหลายชนิด รวมถึงแคลเซียมและฟอสเฟตที่ช่วยให้ชั้นเคลือบฟันซ่อมแซมตัวเองได้ตามธรรมชาติ อย่างไรก็ดี คุณสามารถเร่งกระบวนการคืนแร่ธาตุได้ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อให้เคลือบฟันมีความแข็งแรงมากขึ้น
การอุดฟัน หากคุณมีอาการฟันผุกินบริเวณกว้างและลึก ทันตแพทย์อาจรักษาด้วยการอุดฟันเพื่อกำจัดส่วนเนื้อฟันที่ผุและปิดรอยผุด้วยวัสดุอุดฟันที่มีประสิทธิภาพ หากบริเวณฟันผุกว้างมากและปริมาณเนื้อฟันเหลือไม่มาก ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ครอบฟันเพื่อปิดบริเวณที่สูญเสียเนื้อฟัน
รักษารากฟัน กรณีที่ฟันผุลึกถึงเนื้อเยื่อชั้นในของฟัน จนส่งผลให้เกิดการอักเสบรุนแรงจำเป็นต้องรักษารากฟัน เพื่อรักษาฟันเอาไว้แทนที่จะถอนฟัน โดยทันตแพทย์จะนำเนื้อเยื่อด้านในส่วนที่อักเสบออก จากนั้นทำความสะอาดโพรงเนื้อเยื่อชั้นใน แล้วปิดด้วยวัสดุอุดฟันที่มีประสิทธิภาพ
การถอนฟัน หากคุณมีปัญหาฟันผุรุนแรงจนไม่สามารถรักษารากฟันได้ ทันตแพทย์จำเป็นต้องถอนฟันเพื่อแก้ปัญหาและรักษาสุขภาพช่องปาก โดยทันตแพทย์อาจแนะนำให้ทำสะพานฟัน หรือรากฟันเทียมเพื่อทดแทนฟันที่ถอนไป
วิธีรักษาอาการปวดฟันจากฟันผุ
หากคุณมีอาการปวดฟันจากฟันผุและยังไม่ได้เข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์ เรามีวิธีบรรเทาอาการปวดฟันเบื้องต้นด้วยตัวเองที่บ้าน ก่อนจะถึงวันนัดพับกับทันตแพทย์ส่วนตัวคุณสามารถดูแลตัวเองง่าย ๆ ด้วยเคล็ดลับเหล่านี้
บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ ผสมเกลือหนึ่งช้อนชากับน้ำอุ่น 240 มล. แล้วบ้วนปาก เพื่อกำจัดเศษอาหารจากโพรงฟันผุพร้อมช่วยบรรเทาอาการอักเสบ หลีกเลี่ยงการบ้วนปากด้วยน้ำร้อนหรือน้ำเย็น เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงหรือต่ำเกินไปอาจทำให้อาการปวดฟันจากฟันผุแย่ลงได้
ใช้น้ำมันกานพลูบริเวณที่ปวด น้ำมันกานพลูมีสารออกฤทธิ์ที่เรียกว่า ‘Eugenol’ ทำหน้าที่เป็นยาชาตามธรรมชาติและต้านเชื้อแบคทีเรียเพื่อลดการอักเสบในช่องปาก แนะนำให้ใช้ทิชชู่สะอาดชิ้นเล็ก ๆ หรือจุ่มก้านสำลีลงในน้ำมันกานพลู แล้วเช็ดเบา ๆ บริเวณที่ปวดฟัน
แปรงฟันด้วยยาสีฟัน สูตรลดอาการเสียวฟัน ควรเลือกใช้แปรงสีฟันขนนุ่มและยาสีฟันสูตรช่วยลดอาการเสียวฟัน ที่มีสารช่วยปิดกั้นท่อเนื้อฟันไม่ให้สัมผัสกับสิ่งเร้าภายนอก เราแนะนำยาสีฟัน คอลเกต เซนซิทีฟ โปรริลีฟ ไวท์เทินนิ่ง ที่ช่วยลดอาการเสียวฟันได้รวดเร็วและยาวนาน พร้อมขจัดคราบบนผิวฟันได้อย่างอ่อนโยนและมีประสิทธิภาพ
รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น Ibuprofen และ Acetaminophen ช่วยบรรเทาอาการปวดฟันจากฟันผุได้ชั่วคราว อย่างไรก็ดี หากคุณมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรว่า คุณสามารถใช้ยาเหล่านี้ได้หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
เคล็ดลับป้องกันฟันผุและการดูแลสุขภาพช่องปาก
แม้อาการฟันผุจะเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกวัย แต่คุณสามารถหลีกเลี่ยงอาการปวดฟันและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ด้วยการป้องกันไม่ให้ฟันผุ เรามีเคล็ดลับในการดูแลฟันและสุขภาพช่องปากอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ
ดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ การป้องกันฟันผุเริ่มต้นจากการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ด้วยแปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม ไม่แข็งจนเกินไป และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์แนะนำ คอลเกตโททอล แอดวานส์ เฟรซ ช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียในช่องปาก ฟัน ลิ้น กระพุ้งแก้ม และเหงือกนานถึง 12 ชั่วโมง ควรใช้ไหมขัดฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร เพื่อขจัดเศษอาหารติดตามซอกฟัน และควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ทุกครั้งหลังแปรงฟัน แนะนำ คอลเกต พลักซ์ เกลือสมุนไพร ช่วยป้องกันฟันผุและลดการสะสมของแบคทีเรียได้ดียิ่งขึ้น
พบทันตแพทย์เป็นประจำ ฟันผุระยะแรกอาจยังไม่มีอาการใด ๆ คุณจึงควรนัดพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้แข็งแรง แล้วยังช่วยป้องกันฟันผุก่อนจะลุกลามเป็นปัญหาใหญ่ หากคุณมีฟันผุทันตแพทย์จะรักษาด้วยการอุดฟัน หรือรักษารากฟัน เพื่อป้องกันแบคทีเรียสะสมในตำแหน่งที่ทำความสะอาดได้ยาก
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานผัก ผลไม้สด และโปรตีนเป็นประจำ พยายามลดเครื่องดื่มที่มีรสหวานและของหวานที่ทำให้ฟันผุ หลีกเลี่ยงการรับประทานของว่างบ่อย ๆ น้ำอัดลม ชานม หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพื่อช่วยป้องกันปัญหาฟันผุ นอกจากนี้ ยังช่วยให้คุณควบคุมน้ำหนักตัวได้ดีขึ้นด้วย
ไม่ว่าคุณจะมีฟันผุหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้นัดพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน โดยทันแพทย์จะรักษาอาการฟันผุได้อย่างรวดเร็ว และลดปัญหาฟันผุที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งให้คำแนะนำถึงวิธีการแปรงฟันและดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้อง อย่าลืมเลือกใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อช่วยลดการเกิดแบคทีเรียและแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีและส่งผลต่อความมั่นใจในรอยยิ้มของคุณ