เด็กผู้หญิงกำลังแปรงฟัน
Badge field

ยาแก้ปวดฟัน มีกี่ประเภท? ควรเลือกใช้อย่างไร เพื่อรักษาอาการปวดฟันแบบถูกวิธี

Published date field
Published date field อัพเดทล่าสุด
Published date field

ตรวจสอบทางการแพทย์โดย Colgate Global Scientific Communication

อาการปวดฟัน นอกจากจะทำให้ความสุขในการรับประทานอาหารลดลง แล้วยังรบกวนจิตใจจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ด้วย ถึงอย่างนั้น หลายคนกลับเลือกที่จะซื้อยาแก้ปวดรับประทานเองเพื่อรักษาอาการปวดฟัน เพราะคิดว่าปล่อยทิ้งไว้คงไม่เป็นไร หรือยังไม่มีเวลาไปพบทันตแพทย์ ทั้งที่จริง ๆ แล้วสาเหตุของการปวดฟันอาจรุนแรงมากกว่าที่คุณคิด Colgate รวบรวมสาเหตุของการปวดฟัน ประเภทของยาแก้ปวดฟัน ปวดฟันแบบไหนต้องใช้ยาปฏิชีวนะ วิธีป้องกันการปวดฟันด้วยตัวเอง รวมถึงสมุนไพรแก้ปวดฟัน มาฝาก

สาเหตุของอาการปวดฟัน

คุณอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ควรจะรอให้หายปวดฟันเสียก่อน ถึงจะไปพบทันตแพทย์” ในความเป็นจริงทันตแพทย์แนะนำว่า หากคุณมีอาการปวดฟัน เหงือกบวม เหงือกดำ มีหนองในช่องปาก อ้าปากได้น้อย และรู้สึกปวดทรมานรบกวนชีวิตประจำวัน ไม่ต้องรอให้หายปวดฟันคุณก็สามารถไปพบทันตแพทย์ได้เลย เพื่อให้คุณหมอตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการปวดฟันที่ถูกต้อง ได้แก่

  • ฟันผุจากแบคทีเรีย

หากคุณมีอาการปวดเสียดแทงหรือปวดตื้อ ๆ อาจเกิดจากฟันผุ หากไม่ได้แปรงฟันวันละสองครั้งด้วยเทคนิคที่เหมาะสม แบคทีเรียในปากอาจเติบโตและเปลี่ยนอาหารที่คุณรับประทานเข้าไปเป็นกรดสะสมอยู่บนฟันของคุณได้ จนทำให้เกิดฟันเป็นโพรงและเกิดฟันผุ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ปริมาณน้ำตาลที่รับประทานสามารถเป็นตัวกระตุ้นแบคทีเรียที่ทำลายโครงสร้างฟันได้ จากการศึกษาใน วิทยาสารทันตสาธารณสุข ยังระบุด้วยว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ฟันผุเกิดจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า “สเตร็ปโตค็อกคัสมิวแทนส์” (Streptococcus mutans) นั่นเอง

  • ฟันเป็นหนองปลายราก

หากคุณปล่อยฟันผุทิ้งไว้นานเกินไปโดยไม่ได้เข้ารับการรักษาโดยทันตแพทย์ จะส่งผลให้แบคทีเรียสามารถเข้าไปที่ปลายรากฟันทำให้มีหนองในช่องปาก หนองที่มีมากก็เกิดแรงดัน ทำให้ปวดปลายรากอย่างรุนแรง หรือมีอะไรมากระทบฟันก็ปวด

  • เหงือกอักเสบ หรือปริทันต์อักเสบ

เหงืออักเสบ หรือปริทันต์อักเสบ มักมีสาเหตุมาจากคราบหินน้ำลาย หรือคราบหินปูน ทำให้หงือกอักเสบและปวดฟันได้ โดยมักจะมีอาการปวดหนึบ ๆ ปวดตุ๊บ ๆ และมีเลือดออกขณะแปรงฟัน หากปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลให้ฟันโยก เนื่องจากมีการละลายตัวของกระดูกรอบ ๆ รากฟันและกลายเป็นที่กักขังแบคทีเรีย ส่งผลให้มีหนองบริเวณราก ฟันโยก เสียวฟัน และปวดฟันนั่นเอง

  • ปวดฟันจากฟันแตก

ฟันแตกและฟันร้าว ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปวดฟันได้ หากคุณมีฟันแตกเป็นรูและปวดฟันมาก ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วและไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะโพรงประสาทฟันที่ไวต่อความรู้สึกต่าง ๆ จะโผล่ออกมา ทำให้คุณรู้สึกปวดฟันระหว่างดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น รับประทานอาหารที่มีรสจัด 

  • ปวดฟันจากไซนัสอักเสบ

อาการปวดฟันจากไซนัสอักเสบ เกิดจากการมีน้ำมูกสะสมบริเวณไซนัสและเกิดแรงกดไปที่ฟัน โดยขึ้นอยู่กับว่า ตำแหน่งไซนัสของคุณอยู่บริเวณไหนบนโครงสร้างใบหน้า โดยเฉพาะรากฟันกรามซี่บนจะอยู่ใกล้กับโพรงไซนัสมากที่สุด จึงทำให้เกิดอาการปวดฟันได้

  • เศษอาหารติดฟัน

เศษอาหารติดตามซอกฟันก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดฟันได้เช่นกัน หากคุณมีฟันห่าง ฟันผุเป็นรู เหงือกอักเสบ หรือฟันโยก เศษอาหารอาจติดตามซอกฟัน ส่งผลให้เหงือกช้ำและเป็นที่สะสมของแบคทีเรีย ทำให้รู้สึกปวดฟันและปวดเหงือกได้ 

แนวทางในการรักษาอาการปวดฟัน

หากคุณมีอาการปวดฟันจากฟันผุ เนื่องจากแบคทีเรียทำลายผิวฟันจนเป็นรู ส่งผลให้โพรงฟันอ่อนแอลงและรู้สึกปวดฟัน เพราะโพรงฟันด้านในประกอบด้วยเส้นประสาทที่ส่งผ่านความรู้สึก หากแบคทีเรียเข้ามาถึงบริเวณนี้ก็อาจทำให้รู้สึกปวดฟัน และนำไปสู่ปัญหาทางทันตกรรมที่รุนแรงขึ้นจนอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

อ้างอิงจาก โรงพยาบาลศิครินทร์ ระบุว่า อาการปวดฟัน ฟันผุ เนื้อเยื่อในปากอักเสบ และฝีในฟันนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ฟันผุก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเสมอไป สอดคล้องกับ โรงพยาบาลเปาโลระบุไว้ว่า ฟันผุมักจะได้รับการรักษาด้วยการอุดฟัน หรือการครอบฟัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อที่ฟัน หรืออาจจะต้องใช้การรักษารากฟันและครอบฟันเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย หากฟันผุจนไม่สามารถรักษาได้ ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการถอนฟัน

ยาแก้ปวดฟันมีกี่ประเภท?

ก่อนตัดสินใจซื้อยาแก้ปวดฟันรับประทานเอง ควรรู้สาเหตุของการปวดฟันที่ถูกต้องเพื่อเลือกหรือใช้ยาแก้ปวดฟันได้อย่างเหมาะสม ควรคำนึงถึงระดับอาการว่าปวดแบบไหนและรุนแรงแค่ไหน? นอกจากการใช้ยาแล้วยังมีวิธีอื่น ๆ ที่สามารถใช้บรรเทาอาการปวดฟันได้ เช่น การประคบเย็นแก้ปวดฟัน หรือใช้สมุนไพรแก้ปวดฟัน เราชวนคุณมาทำความรู้จัก “ยาแก้ปวดฟัน” ที่จำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ได้แก่

  • ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)

พาราเซตามอลมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อะเซตามีโนเฟน” (Acetaminophen) เป็นยาสามัญประจำบ้านเพื่อใช้บรรเทาอาการปวดต่าง ๆ รวมถึงอาการปวดฟัน โดยพาราเซตามอลจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางให้ลดการหลั่งสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) พร้อมบรรเทาอาการไข้อีกด้วย หากมีอาการปวดฟันแนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด ห่างกันครั้งละ 4-6 ชั่วโมง และไม่เกินวันละ 8 เม็ด ควรรับประทานขณะที่มีอาการปวดฟัน และห้ามรับประทานยาพาราเซตามอลติดต่อกันเกิน 5 วัน ยาพาราเซตามอลสามารถใช้บรรเทาอาการปวดและลดไข้ได้ แต่จะไม่รักษาอาการอักเสบ เนื่องจากเป็นยาพื้นฐานเพื่อใช้ลดอาการปวดแบบเสียวฟันจากฟันผุและอาการปวดตุ๊บ ๆ ต่อเนื่องได้ดี

  • ยาเบนโซเคน (Benzocaine)

ยานี้จัดอยู่ในประเภทยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่หรือเรียกง่าย ๆ ว่า “ยาชาเฉพาะที่” นั่นเอง ซึ่งเป็นยาที่บรรเทาอาการปวดฟันชั่วคราวในบริเวณที่ปวด เพียงทายาบริเวณฟันและเหงือกที่ปวด ยาจะเข้าไประงับความรู้สึกและลดอาการปวดฟัน อาการเจ็บแปล็บ ๆ ปวดฟันตุ๊บ ๆ รวมถึงอาการปวดฟันจากไซนัสอักเสบได้ แต่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจำเป็นต้องใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง

  • ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) 

กลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ปลอดภัยและสามารถใช้บรรเทาอาการปวดฟันเนื่องจากฟันผุ เหงือกอักเสบ เหงือกบวม หรือปวดฟันจากไซนัสอักเสบได้ชั่วคราว ยาประเภทนี้บางตัวสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่คุณต้องทราบก่อนว่า ยาในกลุ่มนี้จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบ แต่จะไม่บรรเทาอาการปวดฟันจากฟันผุ อย่างไรก็ตาม คุณไม่ควรซื้อยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์มาใช้เองต่อเนื่องเกิน 10 วัน หากต้องใช้นานเกิน 10 วันคุณก็ควรไปพบแพทย์ก่อน โดยยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์จะออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ช่วยบรรเทาอาการปวดและลดไข้ได้อีกด้วย

เมื่อใดที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการปวดฟัน

ทันตแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการปวดฟัน กรณีที่มีการติดเชื้อที่ฟันรุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อเหงือกรอบฟัน เช่น ฝาคลุมเหงือกอักเสบ (pericoronitis) ซึ่งเป็นการติดเชื้อในเนื้อเยื่อเหงือกที่สามารถเกิดขึ้นได้บริเวณรอบฟันคุด คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ผู้ป่วยที่มีอาการนี้อาจได้รับยาปฏิชีวนะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา

นอกจากนี้ หากทันตแพทย์สังเกตเห็นสัญญาณของฝีในฟัน การติดเชื้อที่ฟัน ซึ่งอาจเกิดจากฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษาและปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป คุณหมอมักจะแนะนำให้รับประทานยายาปฏิชีวนะร่วมด้วย สิ่งสำคัญคือคุณต้องรับประทานยาให้ครบถ้วนตามที่แพทย์สั่ง แม้อาการปวดจะหายไป แต่คุณก็ยังคงต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพฟันและช่องปากให้กลับมาสมบูรณ์

วิธีบรรเทาอาการปวดฟันด้วยตัวเอง

คุณสามารถบรรเทาอาการปวดฟันได้ด้วยตัวเองที่บ้าน ร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป จากข้อมูลของสมาคมหมอชาวบ้าน เมื่อเกิดอาการปวดฟันจากไซนัสอักเสบ แนะนำให้คุณอาบน้ำอุ่น หรืออาบน้ำแบบที่มีไอน้ำเพื่อช่วยให้เยื่อเมือกที่สะสมในแก้มเคลื่อนตัวออกมาได้สะดวกขึ้น ช่วยลดแรงกดไปที่ฟัน รวมถึงการประคบเย็นบริเวณด้านบนของฟันที่ปวดจะช่วยบรรเทาเมือกที่เกิดจากไซนัสอักเสบได้

นอกจากการใช้ยาพาราเซตามอลและยาเบนโซเคนแล้ว คุณยังอาจลองใช้น้ำมันกานพลู ซึ่งเป็นสมุนไพรแก้ปวดฟันได้ด้วย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุสรรพคุณของกานพลูไว้ว่า สามารถช่วยรักษาอาการเลือดออกตามไรฟัน ดับกลิ่นปาก รวมถึงใช้เป็นยาแก้ปวดฟันได้ เนื่องจากกานพลูมีสารออกฤทธิ์ที่สามารถทำให้รู้สึกชาบริเวณที่ปวด วิธีใช้ก็ง่ายมากเพียงทาน้ำมันกานพลูบริเวณฟันที่ปวด หรือเหงือกอักเสบจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้อย่างดี

วิธีการแก้อาการปวดฟันระยะยาว

การใช้ยาแก้ปวดฟันจะมีผลเฉพาะรับประทานยาเท่านั้น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป เพราะอาจจะทำให้สุขภาพฟันและช่องปากแย่ลง เมื่อมีอาการปวดฟันแนะนำให้เข้าพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างเหมาะสม หลังเข้ารับการรักษาควรใส่ใจดูแลฟันและช่องปากอย่างถูกวิธี ด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เพื่อทำความสะอาดปากของคุณได้อย่างหมดจด ลดการสะสมของแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของฟันผุ ควรใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย และควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก ๆ 6 เดือน นอกจากนี้ คุณยังป้องกันอาการปวดฟันในระยะยาวได้ด้วยตัวเอง เพียงทำตามขั้นตอนเหล่านี้ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุหรือมีอาการปวดฟันได้ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากเกินไป

  • แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์วันละสองครั้ง เพื่อลดการสะสมของน้ำตาลและแบคทีเรียบนฟัน

  • ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ และเศษอาหารติดตามซอกฟัน

  • ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อตรวจหาความเสี่ยงของการเกิดฟันผุ

คุณสามารถทำตามขั้นตอนเหล่านี้ได้ เพื่อช่วยป้องกันฟันผุและรับมือกับอาการปวดฟันได้อย่างดี หากคุณมีฟันผุหรือมีอาการปวดฟันควรเข้ารับการรักษาโดยทันตแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุของการปวดฟันและเข้ารับการรักษาได้อย่างถูกต้องนั่นเอง