เหงือกบวมทําไงดี
Badge field

รวมสาเหตุ อาการ 'เหงือกบวม' พร้อมวิธีป้องกันและรักษาก่อนไปพบแพทย์

Published date field
Published date field อัพเดทล่าสุด
Published date field

ตรวจสอบทางการแพทย์โดย Colgate Global Scientific Communication

“เหงือกบวม” ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ที่คุณจะปล่อยทิ้งไว้ให้หายเองได้ เพราะเหงือกบวมเกิดได้จากหลายสาเหตุและอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ในช่องปาก แม้ส่วนใหญ่เหงือกบวมมักจะเกิดจากเศษอาหารที่ติดตามร่องเหงือกและซอกฟัน จากการไม่ใช้ไหมขัดฟันหรือแปรงฟันไม่ทั่วถึงทุกซี่ ทำให้เหงือกบวม เหงือกอักเสบ เจ็บเหงือก และเหงือกระคายเคืองได้ แต่เหงือกบวมอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นกัน คอลเกต รวมสาเหตุของเหงือกบวมเกิดจากอะไร? วิธีป้องกันไม่ให้เหงือกบวม สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเหงือกบวม และการดูแลสุขภาพช่องปากให้ห่างไกลจากเหงือกบวมมาฝาก

เหงือกบวมเกิดจากอะไร? พร้อมวิธีป้องกันและรักษา ก่อนไปพบแพทย์

“เหงือกบวม” คือเหงือกที่มีสีแดง บวม และอาการระบม ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเหงือกที่เกิดจากจุลินทรีย์สะสม ทำให้สิ่งสกปรกและจุลินทรีย์สามารถแทรกซึมเข้าไปในเหงือก ทำให้รู้สึกเจ็บเหงือกเนื่องจากเหงือกระคายเคือง ทำให้เหงือกบวมและเหงือกอักเสบในที่สุด บางครั้งอาจมีเลือดออกขณะแปรงฟันร่วมด้วย เช่นเดียวกับเลือกออกระหว่างใช้ไหมขัดฟัน หรือรับประทานอาหารที่มีความแข็ง กรุบกรอบ เป็นต้น 

นอกจากนี้ อาการข้างเคียงที่มักจะเกิดร่วมกับเหงือกบวม ได้แก่ แผลในปาก มีกลิ่นปากและเนื้อเยื่อเหงือกที่ร่นหรือไม่ยึดติดกับฟัน หากมีอาการแย่ลง หรือ เรื้อรัง คุณควรต้องไปพบทันตแพทย์โดยด่วน เพื่อยับยั้งปัญหาไม่ให้ลุกลามมากไปกว่านั้น

เหงือกบวมคืออะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง?

สมาคมปริทันตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (AAP) ระบุว่า สาเหตุหลักของอาการเหงือกบวม เกิดจากการสะสมตัวของคราบจุลินทรีย์ แต่ก็มีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ความเครียด การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ภาวะอ้วน การสูบบุหรี่ หรือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นเหงือกอักเสบได้ ส่วนสาเหตุที่พบบ่อยของอาการเหงือกบวมจากการติดเชื้อ ได้แก่

  • การดูแลสุขภาพช่องปากที่ไม่สะอาดเพียงพอ: อาการเหงือกบวมรอบฟัน อาจเกิดจากการแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟันที่ไม่ถูกต้อง ทำให้มีเศษอาหารตกค้างทำให้ฟันผุได้ เมื่อเวลาผ่านไปนาน ๆ การดูแลสุขอนามัยในช่องปากที่ไม่ดีพอ จะทำให้เกิดปัญหาเหงือกบวมได้เช่นกัน รวมถึงเหงือกซีด แดง บวม มีเลือดออกขณะแปรงฟัน มีหนอง ฟันโยก หรือมีกลิ่นปาก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของเหงือกมีปัญหา

  • เหงือกอักเสบ หรือปริทันต์ (Gum Disease) อีกหนึ่งสาเหตุหลักของอาการเหงือกบวม ซึ่งเกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด หรือไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันเป็นประจำ ทำให้เหงือกอักเสบ หรือเป็นโรคปริทันต์ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า เกือบครึ่งของประชากรอายุ 30 ปีขึ้นไปในสหรัฐอเมริกามีปัญหาเหงือก อาการเหงือกอักเสบระยะเริ่มแรกจะมีลักษณะเหงือกแดง บวม มีเลือดออกได้ หากปล่อยไปโดยไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลถึงขั้นฟันโยกและสูญเสียฟันในที่สุด

  • การรับประทานยาบางชนิด: อาการเหงือกบวมอาจเป็นผลข้างเคียงของยาที่คุณรับประทาน เช่น ยาคุมกำเนิด ยากันชัก เป็นต้น หากมมีอาการเหงือกบวมหลังรับประทานยา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงเมื่อได้รับยาตัวใหม่ แพทย์จะได้พิจารณาจ่ายยาตัวอื่นให้แทนเพื่อป้องกันการเกิดเหงือกบวมต่อไป

  • เปลี่ยนยี่ห้อยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก: ส่วนผสมในยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากยี่ห้อใหม่อาจกระตุ้นปฏิกิริยาในช่องปากทำให้เหงือกบวมและเหงือกระคายเคือง ทางที่ดีคุณควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในช่องปาก หลังจากที่คุณเปลี่ยนยี่ห้อยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก

  • ภาวะทุพโภชนาการ หรือขาดสารอาหาร: การบริโภคผักและผลไม้ที่ไม่เพียงพอ สามารถส่งผลต่อสุขภาพเหงือกของคุณได้เช่นกัน เพราะร่างกายควรได้รับวิตามินและสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน อย่างการขาดวิตามินซีอาจทำให้เหงือกอักเสบได้

  • การตั้งครรภ์: จากข้อมูลของ สมาคมการตั้งครรภ์แห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า ระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลให้คุณแม่มีปัญหาเหงือกบวม เหงือกอักเสบ และเหงือกระคายเคืองได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระยะนี้จะส่งผลต่อการเกิดคราบจุลินทรีย์ได้ง่ายกว่าปกติ

  • การใส่เหล็กจัดฟัน และฟันปลอม: อุปกรณ์ทันตกรรมต่าง ๆ เช่น เหล็กจัดฟัน รีเทนเนอร์ และฟันปลอม ก็เป็นสาเหตุของอาการเหงือกบวม แสบเหงือก หรือเจ็บเหงือกได้เช่นกัน ปกติเหงือกสามารถปรับตัวเข้ากับอุปกรณ์จัดฟันได้เพียงแต่ต้องรอเวลาสักระยะ แต่หากเหงือกบวมและระคายเคืองนานเกินไป แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาและป้องกันการเกิดเหงือกบวม

  • ฟันเป็นฝี: สาเหตุที่พบได้บ่อยจากอาการเหงือกบวม เนื่องจากมีการติดเชื้อที่ฟัน ส่วนใหญ่เกิดจากฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษา ทำให้แบคทีเรียแพร่กระจายไปทั่วบริเวณฟันจนฟันผุ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการปวดตุบ ๆ บริเวณเหงือกมีสีแดงหรือบวม ปวดฟัน ปวดฟันกราม ใบหน้าบวม มีไข้หรือมีรสเค็มในปาก ดังนั้น ฟันเป็นฝีต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทันตแพทย์​อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ ทำการตัดส่วนที่ติดเชื้อออก หรือถอนฟัน ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงเช่นกัน

อาการเหงือกบวมป้องกันได้อย่างไรบ้าง?

วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เหงือกบวม และหยุดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ภายในช่องปาก คือการแปรงฟันให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง ใช้น้ำยาบ้วนปากหลังการแปรงฟัน ควบคู่กับการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ แม้คุณจะดูแลช่องปากอย่างดีเยี่ยม แต่คราบจุลินทรีย์ก็อาจเกิดขึ้นได้จนก่อตัวเป็นคราบหินปูนได้ แนะนำให้พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างเหมาะสม

การดูแลเเละทำความสะอาดฟันอย่างสม่ำเสมอ

การแปรงฟันวันละ 2 ครั้งอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ทันตแพทย์จึงแนะนำให้ใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างถูกวิธี เช่น ถ้ามีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างฟันสองซี่ การแปรงซอกฟันจะช่วยทำความสะอาดได้ดียิ่งขึ้น แนะนำให้พบทันตแพทย์ปีละ 2 ครั้ง รวมถึงตรวจเช็กว่า เหงือกร่นหรือเหงือกบวมหรือไม่ สุขภาพช่องปากที่ดีและรอยยิ้มที่สวยงามขึ้นอยู่กับการใส่ใจมีมากแค่ไหน เริ่มต้นด้วยการดูแลช่องปากที่บ้านและติดตามผลด้วยการไปพบทันตแพทย์ทุกครึ่งปี เพื่อให้แน่ใจว่าสุขภาพช่องปากจะได้รับการดูแลอย่างดีอยู่เสมอ

สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในการรักษาเหงือกบวม

มีหลายสิ่งที่ควรทำและควรหลีกเลี่ยงเมื่อมีอาการเหงือกบวม ผู้เชี่ยวชาญฯ มีคำแนะนำดี ๆ ในการดูแลตัวเองเบื้องต้น หากคุณมีอาการเหงือกบวมและเหงือกอักเสบ นั่นคือ

สิ่งที่ควรทำ:

  • แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาและป้องกันภาวะเหงือกบวมและเหงือกอักเสบได้อย่างดีที่สุด

  • เปลี่ยนอาหารที่รับประทานให้มีประโยชน์ต่อสุชภาพ ควรเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้สด รวมถึงหลีกเลี่ยงโซดา แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในช่วงที่มีภาวะเหงือกบวม

  • ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำยาบ้วนปากสูตรอ่อนโยน เพราะเกลือช่วยลดอาการเหงือกบวมและบรรเทาความเจ็บปวดได้

  • รับประทานยาลดการอักเสบและเบนโซเคน ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ไอบูโพรเฟน ช่วยลดอาการบวมที่เหงือกและบรรเทาอาการปวดและเจ็บเหงือกได้ ส่วนเบนโซเคน (Benzocaine) หรือยาชาเฉพาะที่ จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว ก่อนเข้าพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

  • รับประทานอาหารเย็น เพราะอาหารเย็นและอ่อนนุ่มจะช่วยลดอาการเหงือกบวมและยับยั้งการปวดได้

  • ควรพบทันตแพทย์ เพี่อหาสาเหตุของอาการเหงือกบวมและแนวทางในการรักษาเหงือกบวมที่เหมาะสมกับปัญหาของคุณ

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง:

  • หลีกเลี่ยงยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากที่ทำให้ระคายเคือง หากคุณเพิ่งเปลี่ยนยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปากแล้วมีอาการเหงือกบวม หรือเจ็บเหงือก ควรหยุดใช้ยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปากที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุของอาการระคายเคืองทันที และกลับไปใช้ยาสีฟันที่เคยใช้เป็นประจำ รวมถึงหลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ เพราะสามารถทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเหงือกได้

  • งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะทำให้เหงือกระคายเคืองและเหงือกบวมมากยิ่งขึ้น

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสจัด รวมถึงอาหารที่มีกรดจากมะนาวหรือผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้มตำ ต้มยำ เป็นต้น อาจทำให้อาการระคายเคืองเพิ่มมากขึ้น

คำถามที่พบบ่อย

1. ทำยังไงให้หายเหงือกบวม

ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของเหงือกบวม หรือสังเกตว่า คุณเปลี่ยนยาสีฟัน หรือแปรงสีฟันหรือไม่? เบื้องต้นทันตแพทย์แนะนำให้ดูแลรักษาความสะอาดของสุขภาพช่องปากอย่างถูกวิธี เช่น การแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ และบ้วนปากทุกครั้งหลังแปรงฟัน หากมีอาการเจ็บเหงือก เหงือกบวม หรือเหงือกระบมแนะนำให้ใช้น้ำแข็ง หรือผ้าชุบน้ำเย็นมาประคบ ร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวด หรือยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด 

2. เหงือกบวมหายเองได้ไหม

อาการเหงือกบวม โรคปริทันต์ หรือเหงือกอักเสบ สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา ในกรณีที่ไม่รุนแรงและร่างกายสามารถสร้างภูมิต้านทานเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียได้ แต่หากคุณปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้สะอาด รวมถึงไม่ใช้ไหมขัดฟันและน้ำยาบ้วนปากที่มีประสิทธิภาพก็อาจส่งผลให้อาการเหงือกบวมและเหงือกอักเสบรุนแรงมากขึ้นได้ 

3. อาการของโรคเหงือกอักเสบคืออะไร

โรคเหงือกอักเสบ หรือปริทันต์ (Gum Disease) เกิดจากการแปรงฟันไม่สะอาด หรือไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันเป็นประจำ นอกจากนี้ เหงือกอักเสบอาจเกิดจากการบาดเจ็บของเหงือกจากแผลร้อนในบริเวณเหงือก รวมถึงภาวะขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น วิตามินบีและวิตามินซี นอกจากนี้ โรคเหงือกอักเสบก็อาจเกิดจากผลข้างเคียงของการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยากันชัก เป็นต้น