ปัญหาเหงือกอักเสบคืออะไร?
ปัญหาเหงือกอักเสบเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและไม่รุนแรง แต่จะมีอาการระคายเคือง เช่น เหงือกบวม แดง และอักเสบ และเหตุเพราะปัญหานี้อาจไม่รุนแรงนัก คุณจึงไม่ค่อยใส่ใจนักมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วอาการเหงือกอักเสบนั้น คุณควรแก้ไขหรือรับการรักษาทันที ไม่เช่นนั้นปัญหานี้อาจนำไปสู่ปัญหาปริทันต์ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงกว่าได้ และผลสุดท้ายคืออาจทำให้คุณต้องสูญเสียฟัน
สาเหตุทั่วไปที่พบได้มากที่สุดของปัญหาเหงือกอักเสบ คือการดูแลช่องปากไม่ดีพอ ดังนั้น ปัญหานี้สามารถป้องกันได้ด้วยการแปรงฟันและขัดฟันทุกวัน รวมถึงการไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำด้วย
อาการ
เหงือกที่สุขภาพดีจะมีลักษณะแน่นและมีสีชมพูอ่อน หากเหงือกของคุณอ่อนนุ่ม มีสีแดงช้ำ และมีเลือดออกได้ง่าย นั่นอาจเป็นสัญญาณของปัญหาเหงือกอักเสบ เนื่องจากปัญหานี้บางครั้งไม่มีอาการเจ็บปวดใด ๆ ดังนั้นคุณอาจเป็นปัญหาเหงือกอักเสบโดยที่ไม่รู้ตัวเลยก็เป็นได้ ให้คุณลองสังเกตุตัวคุณเองว่ามีสัญญาณต่อไปนี้ที่เป็นสัญญาณของปัญหาเหงือกอักเสบบ้างหรือไม่
- เหงือกบวม
- เหงือกนิ่มผิดปรกติ
- เหงือกร่น
- เลือดออกง่ายเมื่อแปรงฟันหรือขัดฟัน บางครั้งมีอาการแดงหรือสีชมพูที่แปรงหรือไหมขัดฟัน
- เหงือกเปลี่ยนสีจากสีชมพูสุขภาพดีเป็นสีแดงช้ำเลือด
- มีกลิ่นปาก
เมื่อไปพบทันตแพทย์
ทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้คุณเข้าไปตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำเพื่อตรวจหาเหงือกที่อักเสบ ฟันผุ และอาการทางช่องปากอื่น ๆ ก่อนที่ปัญหาจะร้ายแรงและยากต่อการรักษา หากคุณพบสัญญาณหรืออาการของปัญหาเหงือกอักเสบ ให้คุณนัดพบทันตแพทย์โดยเร็ว เพราะยิ่งพบทันตแพทย์เร็วเท่าไหร่ โอกาสที่เหงือกของคุณจะฟื้นคืนกลับมาสุขภาพดีดังเดิมยิ่งมากขึ้นเท่านั้น รวมถึงช่วยป้องกันไม่ให้อาการที่ร้ายแรงกว่าลุกลามเพิ่มเติมด้วย
สาเหตุ
สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเหงือกอักเสบคือการดูแลสุขภาพอนามัยช่องปากที่ไม่ดีพอ ทำให้เกิดคราบพลักจากแบคทีเรียสะสมที่ฟันของคุณ คราบพลักเป็นฟิล์มบาง ๆ ที่สามารถมองเห็นได้ มีลักษณะเหนียวและส่วนใหญ่ประกอบด้วยแบคทีเรีย เมื่อแบคทีเรียย่อยแป้งและน้ำตาลในอาหารที่คุณรับประทานเข้าไป การแปรงฟันและขัดฟันแต่ละวันจะช่วยกำจัดคราบพลักออกไปได้ คุณต้องกำจัดคราบพลักทุกวันเนื่องจากแบคทีเรียเหล่านี้สามารถก่อตัวกลับมาใหม่อย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 24 ชั่วโมง
คราบพลักที่เกาะอยู่บนฟันของคุณนานเกิน 2 หรือ 3 วันอาจกลายเป็นฟิล์มแข็งใต้ที่ขอบเหงือก และจะเปลี่ยนสภาพเป็นคราบหินปูน ซึ่งยากต่อการกำจัด ยิ่งไปกว่านั้น คราบหินปูนดังกล่าวยังเหมือนเกาะกำบังให้กับแบคทีเรียที่สะสมอยู่ก่อนหน้าเป็นอย่างดีด้วย คราบหินปูนนี้ไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการแปรงฟันหรือขัดฟันตามปรกติ คุณต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดและขูดหินปูนออก
ยิ่งคุณทิ้งคราบพลักและคราบหินปูนไว้นานก็ยิ่งส่งผลต่อสุขภาพเหงือกให้แย่ลงเรื่อย ๆ จนมีสภาพบวมแดงและมีเลือดออกง่าย
ปัจจัยเสี่ยง
เหงือกอักเสบเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไปและสามารถเกิดได้กับทุกคน ผู้คนจำนวนมากมีประสบการณ์ปัญหาเหงือกอักเสบครั้งแรกเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว จากนั้นก็เกิดขึ้นมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่บุคคล
ปัจจัยที่ทำให้ความเสี่ยงปัญหาเหงือกอักเสบเพิ่มขึ้นคือ
- การรักษาสุขภาพช่องปากไม่ดีพอ
- สูบบุหรี่
- เป็นปัญหาเบาหวาน
- สูงอายุ
- ภาวะภูมิต้านทานลดลงเนื่องจากปัญหาลูคีเมีย ติดเชื้อ HIV/ปัญหาเอดส์ หรือภาวะอื่น ๆ
- การรับประทานยาบางชนิด
- การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อรา
- ปากแห้ง
- ฮอร์โมนเปลี่ยน เช่นในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ มีรอบเดือน หรือใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน
- ขาดสารอาหาร
- ใช้สารเสพติด
- อุปกรณ์บูรณะฟันที่ไม่พอดี
ปัญหาแทรกซ้อน
ปัญหาเหงือกอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาเหงือกที่กระจายไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ฐานฟันและกระดูก (เยื่อหุ้มฟันอักเสบ) ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงมากกว่าและอาจทำให้คุณสูญเสียฟันได้ นอกจากนี้ ภาวะเยื่อหุ้มฟันอักเสบและการทำความสะอาดช่องปากไม่ดีอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของคุณด้วย ซึ่งนักวิจัยยังไม่ทราบความเกี่ยวเนื่องที่แน่ชัด แต่มีงานวิจัยหลายชื้นที่เชื่อมโยงภาวะเยื่อหุ้มฟันอักเสบเข้ากับความเสี่ยงปัญหาหัวใจล้มเหลว ภาวะเส้นเลือดในสมองอุดตัน หรือปัญหาปอดที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้หญิงที่มีอาการภาวะเยื่อหุ้มฟันอักเสบมีแนวโน้มว่าอาจคลอดบุตรก่อนกำหนด หรือเด็กที่คลอดออกมามีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานเมื่อเทียบกับหญิงที่มีเหงือกสุขภาพแข็งแรง แม้ว่าอาจยังต้องมีงานวิจัยเพื่อยืนยันเพิ่มเติม การศึกษาวิจัยเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพเหงือกและฟันของคุณ
เตรียมตัวก่อนไปพบทันตแพทย์
ให้ไปพบทันตแพทย์ตามที่แนะนำเพื่อตรวจสภาพช่องปากเป็นประจำ หากคุณสังเกตเห็นอาการของปัญหาเหงือกอักเสบ ให้ไปพบทันตแพทย์อีกครั้ง ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยคุณเตรียมตัวก่อนไปพบทันตแพทย์ได้ รวมถึงสิ่งที่ทันตแพทย์อาจดำเนินการกับฟันและช่องปากของคุณ
คุณทำอะไรได้บ้าง?
คุณควรเตรียมรายการคำถามเพื่อไปถามทันตแพทย์ ดังนี้
- อาการที่เป็นอยู่เป็นลักษณะของเหงือกอักเสบหรือไม่?
- ต้องใช้วิธีทดสอบใดบ้างหากจำเป็นต้องมี?
- ประกันสุขภาพจะครอบคลุมการรักษาที่ทันตแพทย์แนะนำหรือไม่?
- มีแนวทางอื่นที่ทันตแพทย์แนะนำเพื่อรักษาอาการหรือไม่?
- สามารถใช้วิธีใดบ้างในการรักษาสุขภาพฟันและเหงือกให้แข็งแรงได้เองที่บ้าน?
- ทันตแพทย์แนะนำยาสีฟันประเภทใด?
- ควรแปรงฟันบ่อยแค่ไหน?
- ทันตแพทย์แนะนำแปรงสีฟันประเภทใด?
- ทันตแพทย์แนะนำไหมขัดฟันประเภทใด?
- ควรขัดฟันบ่อยแค่ไหน?
- ทันตแพทย์แนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากหรือไม่?
- มีข้อจำกัดใดที่ต้องปฏิบัติตามหรือไม่?
- มีเอกสารหรือแผ่นพับที่สามารถนำกลับไปศึกษาที่บ้านหรือไม่?
- ทันตแพทย์แนะนำให้หาความรู้ได้จากเว็บไซต์ใด?
อย่าลังเลที่จะถามคำถามกับทันตแพทย์เมื่อคุณมีข้อข้องใจหรือข้อสงสัยใด
สิ่งที่ทันตแพทย์อาจดำเนินการ
ทันตแพทย์อาจสอบถามอาการที่คุณเป็น เช่น
- คุณเริ่มมีอาการเมื่อไหร่?
- อาการเกิดต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ?
- คุณแปรงฟันบ่อยแค่ไหน?
- คุณขัดฟันด้วยไหมขัดฟันหรือไม่? บ่อยแค่ไหน?
- อาการของคุณเป็นอย่างไร?
- คุณกำลังรับประทานยาใดอยู่หรือไม่?
การทดสอบและการวินิจฉัย
โดยปกติแล้วทันตแพทย์จะวินิจฉัยปัญหาเหงือกอักเสบตามอาการที่คุณอธิบาย และจะทำการตรวจสอบฟัน เหงือก ปาก และลิ้นของคุณไปพร้อมกัน นอกจากนี้จะมองหาคราบพลักและคราบหินปูนที่สะสมที่ฟัน ตรวจอาการบวมแดงที่เหงือก ตรวจความอ่อนย้อยของเหงือก และดูว่าเลือดออกง่ายหรือไม่
หากสาเหตุการเกิดปัญหาเหงือกอักเสบนั้นไม่ชัดเจน ทันตแพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการประเมินทางการแพทย์เพื่อตรวจหาอาการอื่นๆที่ซ่อนอยู่
การรักษาและยาที่ใช้
วิธีการรักษาที่สามารถทำได้ทันทีคือ การทำให้เหงือกที่อักเสบกลับมาสุขภาพดี และป้องกันไม่ให้อาการอักเสบนั้นลุกลามจนกลายเป็นปัญหาปริทันต์จนกระทั่งทำให้คุณสูญเสียฟัน การรักษาที่มีประสิทธิภาพต้องดำเนินการโดยทันตแพทย์ที่คลินิกทันตกรรมและคุณก็ต้องดุแลสุขภาพช่องปากต่อที่บ้าน
การดูแลรักษาปัญหาเหงือกอักเสบ
- ประเมินปัญหาขั้นต้นและทำความสะอาดช่องปากอย่างทั่วถึงเพื่อกำจัดร่องรอยทั้งหมดของคราบพลักและคราบหินปูน
- แนะนำวิธีการแปรงฟันและขัดฟันที่บ้านอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
- ตรวจสุขภาพช่องปากและทำความสะอาดทั้งช่องปากเป็นประจำที่คลินิกทันตกรรม
- หากจำเป็น ทันตแพทย์จะซ่อมแซมอุปกรณ์บูรณะฟันที่บดบังการทำความสะอาดฟันอย่างทั่วถึง
การดูแลฟันเองที่บ้านหลังรักษาปัญหาเหงือกอักเสบ
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
- ขัดฟันทุกวัน
- ใช้น้ำยาบ้วนปากชนิดฆ่าเชื้อแบคทีเรียหากทันตแพทย์แนะนำ
การทำความสะอาดทั้งช่องปากจะรวมถึงการใช้อุปกรณ์ด้านทันตกรรมเพื่อกำจัดร่องรอยของคราบพลักและคราบหินปูนออกให้หมด วิธีการนี้คือ "การขูดหินปูน" นั่นเอง การขูดหินปูนมักให้ความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ โดยเฉพาะเมื่อเหงือกของคุณมีอาการเหงือกอักเสบอยู่หรือเมื่อมีคราบพลักและคราบหินปูนสะสมในปริมาณมาก
ฟันที่เฉ ครอบฟันหรือสะพานฟันที่ใส่ไม่พอดี หรืออุปกรณ์บูรณะฟันอื่น ๆ อาจทำให้เหงือกของคุณระคายเคืองและทำให้การกำจัดคราบพลักในแต่ละวันยากขึ้น และเป็นต้นเหตุของอาการเหงือกอักเสบของคุณแย่ลง ทันตแพทย์จะแนะนำให้แก้ไขที่ปัญหาเหล่านี้ก่อน
ปัญหาเหงือกอักเสบมักจะหายไปหลังทำความสะอาดทั่วทั้งปากที่คลินิกทันตกรรมแล้ว แต่คุณเองก็ต้องรักษาสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอด้วย ทันตแพทย์จะออกใบนัดพบทันตแพทย์อีกครั้งเพื่อติดตามผลการรักษา นอกจากนี้ ทันตแพทย์อาจตรวจสอบวิธีการที่คุณแปรงฟันและขัดฟัน เพื่อให้แน่ใจว่าคุณทำความสะอาดช่องปากที่บ้านอย่างถูกต้อง รวมถึงอาจแนะนำให้คุณใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีสารฆ่าเชื้อเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียจากการอักเสบด้วย
หากคุณรักษาช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ เหงือกของคุณจะกลับมาสีชมพูเหมือนเดิมและมีเนื้อเยื่อเหงือกที่สุขภาพดีภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ การแปรงฟันให้สะอาดอยู่เสมอเป็นสิ่งที่คุณต้องทำไปตลอดชีวิตเพื่อไม่ให้ปัญหาเหงือกของคุณกลับมาอีก
การดูแลที่ทำได้เองที่บ้าน
การดูแลสุขภาพปากและฟันที่บ้านเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันเหงือกอักเสบและทำให้เหงือกที่อักเสบแล้วกลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง ลองดูขั้นตอนต่อไปนี้เพื่อนำไปใช้เองที่บ้าน
- เข้าพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดทั้งช่องปากเป็นประจำตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มและเปลี่ยนแปรงสีฟันอย่างน้อยทุก ๆ 2 – 3 เดือน
- ลองเปลี่ยนไปใช้แปรงสีฟันไฟฟ้า เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการขจัดคราบพลักและคราบหินปูนได้ดีกว่า
- แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง หรือให้ดีไปกว่านั้น แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารหรือของว่าง
- ขัดฟันด้วยไหมขัดฟันทุกวัน เพื่อทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน
- อย่าหวังพึ่งให้ยาสีฟันที่ควบคุมคราบหินปูนทำหน้าที่แทนการแปรงฟันและขัดฟัน คุณควรขัดฟันและแปรงฟันอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอด้วย
การป้องกัน
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันเหงือกอักเสบคือการดูแลสุขภาพอนามัยช่องปากให้ดีเสมอ เริ่มเลยตั้งแต่วันนี้และฝึกให้เป็นนิสัยไปตลอดชีวิต นั่นคือ การแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและก่อนนอน หรือให้ดีไปกว่านั้น แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารหรือของว่าง หรือตามที่ทันตแพทย์แนะนำ การแปรงฟันและการขัดฟันแต่ละครั้งควรใช้เวลา 3 – 5 นาที ขัดฟันด้วยไหมขัดฟันวันละครั้ง ให้ขัดฟันก่อนแล้วค่อยแปรงฟันเพื่อให้การแปรงฟันปัดเอาเศษอาหารและแบคทีเรียที่ออกมาจากซอกฟันออกไป
นอกจากนี้ให้ไปพบทันตแพทย์หรือนักทันตานามัยเป็นประจำเพื่อการทำความสะอาดทั้งช่องปาก ซึ่งปกติแล้วควรทำทุก ๆ 6 – 12 เดือน หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการเป็นปัญหาเหงือกอักเสบเพิ่มขึ้น คุณอาจต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาดทั้งช่องปากถี่มากขึ้น