สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการปลูกรากฟันเทียม - คอลเกต

การทำรากฟันเทียม: สิ่งที่ควรรู้

คุณได้สูญเสียฟันหรือซี่ที่จำเป็นต้องถอน หากรากฟันของคุณไม่แข็งแรง และไม่สามารถที่จะเข้ารับการทำสะพานฟันหรือฟันปลอมได้ คุณอาจจำเป็นต้องทำรากฟันเทียมแทน หรือบางทีผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณอาจได้แจ้งไปแล้ว ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่คุณอยู่ตรงนี้ คุณอาจเกิดบางคำถาม อย่างเช่น การทำรากฟันเทียมจะใช้เวลานานเท่าใด ที่นี้ เราจะมาพูดถึงขั้นตอนและสิ่งที่จะเกิดขึ้นกัน

ส่วนประกอบของรากฟันเทียม

การทำรากฟันเทียมจะต้องใช้ชิ้นส่วน 3 ชิ้น (หรืออาจเป็น 4 ชิ้น) โดยรากฟันเทียมที่แท้จริงคือรากที่ทำการผ่าตัดไว้ที่กระดูกขากรรไกรของคุณ ชิ้นที่สองคือแกนฟัน ซึ่งแนบมากับรากฟันเทียม และสุดท้ายคือครอบฟัน หรือฟันที่ถอดออกได้ ซึ่งใช้ครอบบนแกนฟัน

วัสดุที่ใช้ติดรากฟันเทียม

อุปกรณ์ยึดรากฟันเทียมหรือ "ราก" ถูกทำขึ้นจากโลหะผสมไทเทเนียม ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับที่ทำสะโพกเทียม ข้อไหล่เทียม และข้อเข่าเทียม ตามการอ้างอิงของโรงพยาบาลพญาไท ไทเทเนียมสามารถเข้ากันได้ดีทางชีวภาพ ซึ่งหมายความว่าไม่เป็นอันตรายต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะแพ้ไทเทเนียม และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไทเทเนียมถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในการผ่าตัด

การผ่าตัดใส่รากฟันเทียม

รากฟันเทียมจะทำหน้าที่เป็นรากสำหรับฟันที่หายไป โดยการนำมาผ่าตัดใส่ลงในกระดูกขากรรไกรของคุณ และยังเป็นวิธีที่ดีในการแก้ปัญหา การที่รากฟันธรรมชาติไม่สามารถใช้การได้อีกด้วย การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมนี้จะทำให้การรองรับฟันใหม่ของคุณเป็นไปได้ด้วยดี รวมถึงเป็นตัวเลือกที่ยั่งยืนมากกว่าฟันปลอมหรือสะพานฟัน

โรงพยาบาลเปาโลระบุว่ามีข้อบ่งชี้หลายประการ ว่าคุณอาจเป็นผู้ที่เหมาะสมสำหรับการทำรากฟันเทียม ได้แก่:

  • คุณมีฟันที่หายไปอย่างน้อยหนึ่งซี่
  • กระดูกขากรรไกรของคุณโตเต็มที่แล้ว
  • คุณมีกระดูกที่ใช้สำหรับทำรากฟันเทียม หรืออาจใช้เป็นกระดูกทดแทนได้
  • เนื้อเยื่อในช่องปากของคุณแข็งแรง
  • คุณไม่มีปัญหาสุขภาพเรื่องการสมานกระดูก
  • คุณไม่ได้สูบบุหรี่

การแทนที่รากฟันเทียมอาจใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะทำเสร็จ โดยเวลาส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการรักษาหลังเสร็จขั้นตอนหนึ่งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไป มาดูกันว่ากระบวนการนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง:

ขั้นตอนแรกคือการผ่าตัดวางรากฟันเทียมส่วนของ "ราก" ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 นาที และอาจต้องทำการเย็บแผลเล็กน้อย จากนั้นครอบฟันชั่วคราวจะถูกวางทับบริเวณนี้เมื่อทำการผ่าตัดเสร็จ จำไว้ว่าปากของคุณจะต้องหายสนิทจากการใส่รากก่อนจึงจะสามารถติดแกนฟันได้ การใส่แกนฟันนั้นเป็นการผ่าตัดเล็ก ซึ่งใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ในการรักษาหลังการผ่าตัด

ขั้นตอนสุดท้ายคือการติดฟันเทียม คุณและผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมสามารถตัดสินใจได้ว่าแบบไหนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ ซึ่งมีทั้งตัวเลือกฟันที่ถอดได้ หรือคุณอาจจะเลือกเป็นครอบฟันถาวรก็ได้ เมื่อบริเวณที่ใช้ใส่แกนฟันของคุณหายดีแล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมจะทำการพิมพ์ปากของคุณสำหรับฟันใหม่ ยกเว้นกระดูกขากรรไกรของคุณจะต้องใช้กระดูกทดแทน ซึ่งกระบวนการนั้นจะเป็นขั้นตอนแรก และอาจเพิ่มระยะเวลาไปถึงสามเดือน

ความเสี่ยงของการผ่าตัด

หากคุณต้องการเปลี่ยนฟัน การผ่าตัดรากฟันเทียมนั้นถือเป็นกระบวนการที่ปลอดภัย แต่อาจมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ หากคุณมีปัญหาด้านสุขภาพหรือสูบบุหรี่ พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณเกี่ยวกับประวัติสุขภาพและหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ตามการอ้างอิงของคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาการแทรกซ้อนบ้างอย่างอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งได้แก่:

  • การติดเชื้อของรากฟันเทียม
  • การบาดเจ็บที่ฟันหรือเส้นเลือดอื่นๆ
  • เส้นประสาทเสียหายโดยรู้สึกปวด เสียวหรือชาที่เหงือก คาง หรือริมฝีปาก
  • เมื่อรากฟันเทียมติดอยู่ที่กรามบน อาจทำให้เกิดปัญหาไซนัสได้

หลังการผ่าตัดใส่รากฟันเทียม

หลังการผ่าตัด คุณอาจพบว่าใบหน้าและเหงือกบวมขึ้นเล็กน้อย ตลอดจนมีรอยฟกช้ำและเลือดออกเล็กน้อย รวมถึงปวดที่บริเวณรากฟันเทียม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมของคุณจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้

หากคุณสูญเสียฟันหรือมีฟันที่จะต้องถอน การทำรากฟันเทียมอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับคุณในการทำให้รอยยิ้มกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง! แม้ว่าจะเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน แต่ข่าวดีก็คือ เมื่อทำเสร็จแล้ว คุณจะไม่ต้องกังวลเรื่องฟันใหม่ของคุณจะผุอีกเลย เพราะว่าฟันปลอมไม่มีวันฟันผุ! แต่ทว่าการดูแลเป็นประจำ และการนัดตรวจฟันก็ยังถือเป็นสิ่งสำคัญ สิ่งนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าบริเวณรอบๆ รากฟันเทียมของคุณจะสะอาด และบริเวณอื่นในช่องปากยังคงสดใสแข็งแรง

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ความรู้ในเรื่องสุขภาพช่องปากทั่วไป ไม่ได้ใช้เพื่อแทนคำแนะนำ การวินิจฉัย หรือการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรม หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับอาการหรือการรักษาทางการแพทย์ โปรดขอคำแนะนำจากทันตแพทย์หรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณสมบัติเหมาะสม